โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วน

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Kthanomw (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรี…')
แตกต่างถัดไป →

การปรับปรุง เมื่อ 07:22, 12 เมษายน 2554

โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วน

                 นราภรณ์ ขันธบุตร 1 ดร.ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ 2 ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ 3
                 นิสิตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1
                 คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2
                 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3


บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลการใช้โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชายที่มีภาวะอ้วนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 1 ถึง ปีที่ 3 อายุระหว่าง 13 -15 ปี โดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง และด้วยความสมัครใจ จำนวนทั้งหมด 72 คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 36 คน เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมที่มีความตรงเชิงเนื้อหาโดยมีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.75-1.00 และมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.93 ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริโภคอาหารที่เหมาะสม กิจกรรมเกมสัมพันธ์และโปรแกรมการออกกำลังกายแบบหมุนเวียน ใช้เวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ๆ ละ 3 วันๆ ละ 50 นาที ใช้แบบวัดสุขภาพองค์รวมและทดสอบสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 5 สัปดาห์ที่10 และระยะติดตามผลสัปดาห์ที่ 14 แล้วนำผลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ตามวิธีทางสถิติ โดยหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบผลของการทดลองระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยการทดสอบค่าที และเปรียบเทียบภายในกลุ่มโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวชนิดวัดซ้ำ เมื่อพบความแตกต่างจึงทำการเปรียบเทียบเป็นรายคู่ตามวิธีของบอนเฟอร์โรนี ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ผลการวิจัยพบว่า

ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของสุขภาพองค์รวมทั้ง 4 ด้าน คือ สุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สุขภาพทางสังคมและสุขภาพทางปัญญา ระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองพบว่า หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 5 สุขภาพทางปัญญา และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 10 สุขภาพทางจิต มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพของนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วนระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง พบว่าหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 10 เกือบทุกตัวแปรมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นดัชนีมวลกาย และเปอร์เซ็นต์ไขมัน ระยะติดตามผลสัปดาห์ที่ 14 ของนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วนที่เป็นกลุ่มทดลองมีสมรรถภาพทางกายลดลงมากกว่าสัปดาห์ที่ 10 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ได้แก่ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความอดทนของระบบไหลเวียนเลือด

สรุปได้ว่าโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วนมีความตรง ความเที่ยง และมีประสิทธิผลต่อสุขภาพองค์รวมคือสุขภาพกาย ปัญญา และสุขภาพจิต และสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ดังนั้น สามารถนำไปใช้กับเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนได้และไม่ควรหยุดการออกกำลังกายติดต่อกันนานถึง 4 สัปดาห์จะทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดลดลงมาก

คำสำคัญ : รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม, ภาวะอ้วน, นักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

เครื่องมือส่วนตัว