ว่าด้วยเรื่องเครื่องเคียงของชีวิต
จาก ChulaPedia
ชูชาติทรรศน์ : ว่าด้วยเรื่องเครื่องเคียงของชีวิต
รองศาสตราจารย์ ชูชาติ ธรรมเจริญ Chuchaat.t@chula.ac.th
อาจเป็นที่ถกเถียงกันในวงสนทนาใด ๆ ว่า “มนุษย์” และ “คน” เหมือนกันหรือไม่? อยากจะตอบแบบกวน ๆ ว่าแตกต่างกัน เพราะอย่างน้อยเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขียนต่างกัน ความหมายหรือมุมมองด้านอื่น ๆ แตกต่างกันหรือไม่? ตอบโดยไม่ต้องลังเลเลยว่าแตกต่างกัน “คน” อย่างไรเสียย่อมวุ่นวายและสร้างความสับสนในโลกที่อลวนเฉกเช่นปัจจุบันนี้ ส่วนมนุษย์มาจากคำว่า “มานะ” (แปลว่าจิตใจ) และอุษย์ (แปลว่าดีงาม) เมื่อรวมกันแล้ว “มนุษย์” จึงหมายความว่าผู้มีจิตใจดีงามและเพียรพยายามที่จะกระทำแต่ความดี ต้องถามตนเองว่า “เราเป็นผู้มีจิตใจดีงามและเพียรพยายามที่จะกระทำตามดีอยู่หรือไม่? เรายังเรียกตนเองว่าเป็นมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ที่แสนประเสริฐอยู่หรือไม่? ถ้าพฤติกรรมของตนเองห่างจากความเป็นมนุษย์มากเท่าใดแสดงว่าเราย่อมห่างจากความเป็นมนุษย์มากเท่านั้น คำว่ามนุษย์ยังเหมาะสมที่จะนำมาเรียกขานเราอยู่อีกต่อไปหรือไม่?
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่าเราทุกคนต้องตระหนักในความเป็นมนุษย์และจรรโลงความเป็นมนุษย์ให้สง่างามสมกับที่เรียกขานตัวเองว่า “มนุษย์” อย่างแท้จริง สมควรที่จะประพฤติและปฏิบัติตนให้ดีงามและเป็นความงามจากภายในทะลุออกมาสู่มิติภายนอกที่เรียกว่า (insight out) ซึ่งเป็นความงามพร้อมในทุก ๆ ด้าน โดยความงามดังกล่าวได้กลั่นออกมาจากองคาพยพของมนุษยชาติผู้เปี่ยมด้วยคุณความดี มิได้เสแสร้างหรือประดิษฐ์ด้วยคำอันหวานหูและจริตกิริยาที่ปรุงแต่งเพื่อให้ความงามเสมือนปรากฏแก่บุคคลทั่วไป
ในการดำรงชีวิตเพื่อให้มีชีวานั้นมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน ความพอเพียงในความสุขของแต่ละบุคคลซึ่งถือว่าเป็นปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างกัน คงไม่มีเกณฑ์หรือมาตรฐานกลางที่จะเป็นกรอบให้ผู้คนได้ปฏิบัติได้ ทั้งนี้เนื่องจากพื้นฐานตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกันมากชนิดที่ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้เลย
ในทางสังคมศาสตร์มิติที่จะต้องพิจารณาในทุก ๆ ประเด็นปัญหาจะครอบคลุมถึง
1. สภาพภูมิศาสตร์และระบบนิเวศน์
2. ประชากรและครอบครัว
3. การเมืองการปกครอง
4. การศึกษา
5. เศรษฐกิจ
6. ศิลปะและวัฒนธรรม
7. ภาษาและการสื่อสาร
8. อนามัยสาธารณสุข
9. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากมิติทางสังคมที่กล่าวแล้วนั้นจะทราบได้ด้วยวิจารณญาณว่าปัญหาในทางสังคมจะซับซ้อน ซ่อนเงื่อนและสับสนอย่างมากเนื่องจากมีหลายตัวแปรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งถ้าคนผู้ซึ่งมีจิตใจที่ใฝ่ในทางชั่วร้ายแล้วยิ่งจะก่อปัญหาให้แก่สังคมอย่างมหาศาลคงจำได้ว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง” ถ้าคิดดีคิดในเชิงบวก (positive thinking) ปัญหาก็จะน้อยลงกว่าการคิดในเชิงลบ (negative thinking) ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจิตที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว
ในส่วนของข้าราชการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นต้องประพฤติปฏิบัติตนตามหลักการของ “เทวะขุนนาง” อันได้แก่
1. ความรู้ดี
2. มีสัจจะ
3. เสียสละเพื่อสังคม
4. นิยมประชาธิปไตย
5. ใช้เหตุผล
6. อดทนต่อหน้าที่
7. หลีกหนีอบายมุข
8. หาความสุขจากธรรมะ
9. เลิกละทิฐิ
10. มิสติครองตน
ถ้าข้าราชการทุกคนสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบแห่งตน พร้อมทั้งปฏิบัติตนตามหลักการของเทวะขุนนางย่อมทำให้สังคมดีขึ้น ประเทศเจริญขึ้น ความสุขย่อมบังเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับสังคมในปัจจุบัน มิทราบว่ามีอะไรบังใจจึงทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่เกียร์ว่าง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน คอยแต่รับใช้ผู้มีอำนาจวาสนา อันส่งผลให้สภาวะของบ้านเมืองผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องมาจากความทะยานอยากและความโลภมาก อยากมี อยากเป็น อยากร่ำรวย อยากได้สิ่งที่มิพึงควรได้ จิตใจเต็มไปด้วยกิเลสกองใหญ่เหมือนไฟที่สุมอกให้มอดไหม้และเร้าร้อนด้วยความอาฆาตมาดร้ายและอิจฉาริษยาอันหาที่ติมิได้
หวนกลับมาพิจารณาปัจจัย 4 แห่งการดำรงชีพอันได้แก่ 1. อาหาร 2. เครื่องนุ่งห่ม 3. ที่อยู่อาศัย และ 4. ยารักษาโรค
ความต้องการและมาตรฐานของพื้นฐานแห่งปัจจัย 4 ของการดำรงชีพไม่เท่ากัน ขึ้นกับพื้นฐาน ฐานะทางสังคม รสนิยม การศึกษา ประสบการณ์ ตลอดจนความอยากแสดงออกต่อสาธารณชนตามกาลโอกาสที่แตกต่างกันออกไป และจริตที่ปรุงแต่งดีแล้วจะสำแดงความอยากออกมาในแง่มุมหรือรักษาการอันหนึ่งอันใด
อีกปัจจัยหนึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัย 4 ที่กล่าวมาแล้วคือ “เครื่องเคียงของชีวิต” เปรียบดังเครื่องปรุงแต่งชีวิตให้ดีดีตามควรแก่ฐานานุรูปของแต่ละปัจเจกบุคคล อาทิ ความมีสุนทรียะในเรื่องการบริโภคอาหารโดยอ่านอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
รสนิยมอันเลิศวิไลของการแปลงเครื่องนุ่งห่มให้กลายเป็นแฟชั่น การแปลงที่อยู่อาศัยจากปัจจัยพื้นฐานเป็นคฤหาสน์อันโอฬารตลอดจนยารักษาโรคที่แปลงสภาพเป็นยาอายุวัฒนะ ตลอดจนยาบำรุงให้ร่างกายแข็งแรงถึงขนาดมีอายุยืนยาวนานถึง 120 ปีตามหลักชีวเคมี
เครื่องเคียงของชีวิตอาจเป็น “วรรณกรรม” หรือวรรณคดีดี ๆ หรือบทกลอนที่แสนไพเราะ ฟังแล้วราบรื่นหู ชวนให้เกิดจินตนาการ หรือสังคีตนิยมว่าด้วยเครื่องดนตรีของวงดุริยางค์ เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง เพลงคลาสสิก นาฏดนตรี หมอลำ ลิเกไทย ลิเกลาว มหรสพอีกหลากรูปแบบ
ณ ที่นี้อยากนำเสนอความสุนทรียะในแง่ของวรรณกรรม อันจะนำมาซึ่งความผาสุก อาทิ
เศษแก้วซิบาดคม
เศษอารมณ์ซิบาดใจ
เศษรักที่เหลือไว้
ก็บาดใจชั่วนิรันดร์
เป็นอักษรที่แสนจะเรียบง่าย แต่เมื่ออ่านแล้วได้อารมณ์ ในสายตาของวัยรุ่นที่มีอารมณ์ขัน อาจเขียนว่า
อินติเกรทสงสารเป็นทานรัก
อย่าดิฟหักใจหดหมดความหมาย
แม้จะติดค่า “ซี” คงที่ตาย
จงกลับหายกลายเป็นหวงห่วงสำรอง
ถ้ายังไม่สะใจกับอารมณ์ขันที่กล่าวมาแล้ว ลองพิจารณาข้อความต่อไปนี้
แม้ห่างไกลใจยังคิดจิตห่วงหา
แม้ห่างตาคอยเฝ้าเจ้าอยู่ไหน
แม้ห่างตัวแต่มิได้ห่างหัวใจ
แม้ห่างไกลใจยังจำคำสัญญา
สำหรับคนที่ปลงต่อชีวิตอาจชื่นชอบบทกลอนต่อไปนี้ก็เป็นได้
วันพรุ่งนี้อยู่ไกลยังไม่เกิด
ช่างมันเถิดอย่าร้อนใจไปก่อนไข้
วันวานนี้ตายแล้วให้แล้วไป
อย่าเอาใจไปข้องทั้งสองวัน
ถ้าวันนี้สดชื่นระรื่นจิต
อย่าไปคิดหน้าหลังมาคลั่งฝัน
สิ่งที่แล้วแล้วไปให้แล้วกัน
สิ่งที่ฝันไม่มาอย่าอาวรณ์
สำหรับคนที่คิดริษยา น่าจะได้หยุดคิดและใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งเมื่อได้อ่านข้อคิดดังนี้
Never compare, it will make you in vain and bitter.
For there always are greater and lessen than you.
Stick on you plan and satisfy with yourself.
สำหรับบุคคลผู้บูชาความรักและยึดความรักเป็นสรณะควรที่จะให้ทำความเข้าใจ เลือดอำมหิตจากคัมภีร์สุไลมานความว่า
โบราณดั้งเดิมโคลงนี้ว่าไว้
ความรักสูงส่งครอบงำจิตใจ
บุญเหนือวาสนาชะตาพาไป
อย่าเอาอย่างไซร์คนไร้ใจมาน
พิเคราะห์ถ้อยคำในบทกลอนเลือดอำมหิตจากคัมภีร์สุไลมานเท่าใดก็มิอาจเข้าใจความหมายได้เลย เนื่องจากผู้เขียนอาจมีสติปัญญาน้อยจึงไม่สามารถเข้าถึงแก่นแห่งคัมภีร์ดังกล่าวได้ ผู้บังเอิญได้อ่านข้อเขียนนี้อาจมีบุญญาธิการสูงส่งที่จะสามารถสาธยายแก่นแท้แห่งคัมภีร์นี้ได้ และถ้าท่านมีใจเมตตาขอได้โปรดนำเสนอเพื่อเป็นวิทยาทานแด่ผู้ด้อยปัญญาด้วยจักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
สำหรับผู้เขียนแล้วนิยมชมชอบกับบทกลอนต่อไปนี้อย่างมากทีเดียว กล่าวคือ
ทุกข์สุขอยู่ที่ใจมิใช่หรือ
ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุกใส
ถ้าไม่ถือก็เป็นสุขไม่ทุกข์ใจ
ท่านอยากได้ความสุขหรือทุกข์เอย
Don’t walk infront of me, I may not follow.
Don’t walk behind, I may not lead.
Just walk beside me and be my friend.
และท้ายที่สุดนี้ขอฝากบทกลอนอันหวานชื่นให้ท่านผู้บังเอิญได้อ่านข้อความนี้ได้นำไปรจนาให้เป็นเครื่องเคียงของชีวิตตลอดไป
Though in the absence,
But still near,
To love and to meet,
And very dear.
ด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจ
Kalos kagathos Von Enos Cornelius Dozent La Sapienza