การตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม
จาก ChulaPedia
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษทุกวัน ทั้งขยะ สารพิษ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพลาสติกทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง การสร้างสำนึกที่มีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงถือกำเนิดขึ้น และทางด้านการตลาด นักการตลาดทั้งหลายต่างแสวงหาแนวทางโอกาสที่จะเป็นผู้นำทางการตลาดให้แตกต่างจากคู่แข่ง ด้วยการหาเครื่องมือทางการตลาดที่คืนกำไรให้ทางสังคมกับสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า การตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green marketing) เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวถึง 63% มีความรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และอีก 46% ให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพ เมื่อการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเรียกได้อีกอย่างว่า การตลาดสีเขียว (Cheng & Shiu, 2012) ทั้งนี้การตลาดสีเขียวไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตลาดที่ส่งผลดีกับสังคมในด้านอื่นๆด้วย (Grant, 1999) ที่สำคัญการตลาดแนวใหม่นี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าต้องปรับตัวให้ตามกระแสนี้ให้ทัน
นอกจากนี้งานวิจัยของทาง Tetra Pak ซึ่งเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์อันดับต้นๆ ของโลก ได้ทำการแบ่งผู้บริโภคตามความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังต่อไปนี้ (ทสพร ฐานะตระกูล, 2562)
1. กลุ่มนำเทรนด์ (Active Ambassadors) คือ ผู้นำทางสังคมที่อยากจะทำสิ่งดีๆให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดแคมเปญเก็บขยะ การสนับสนุนการรีไซเคิล หรือการร่วมกลุ่มเป็นคอมมูนิตี้เพื่อสื่อสารให้ทุกคนรู้ถึงคุณประโยชน์ โดยบุคคลในกลุ่มนี้มีอยู่จำนวนน้อยเพียง 8%
2. กลุ่มรักษ์โลก (Planet Friends) คือ กลุ่มที่ต้องการส่วนร่วมในด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน แต่ไม่ได้มากเท่ากับกลุ่มแรก โดยกลุ่มนี้มีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 14%
3. กลุ่มใส่ใจสุขภาพ (Health Conscious) คือ กลุ่มที่มีความกังวลในด้านสิ่งแวดล้อม แต่กังวลในเรื่องสุขภาพของตนเองมากกว่า โดยกลุ่มนี้มีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 11%
4. กลุ่มตามเทรนด์ (Followers) คือ กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 31% เป็นกลุ่มที่รับรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการรับรู้ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือการจากการสื่อสารกับบุคคลอื่น ทั้งนี้กลุ่มนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก แต่พร้อมจะช่วยเหลือหรือปฏิบัติถ้าหากมีการร้องขอความช่วยเหลือ
5. เฉพาะกลุ่ม (Sceptics) คือ กลุ่มที่มีทัศนคติด้านลบ และคิดว่าข่าวที่พูดนำเสนอออกมาไม่เป็นความจริง มองเป็นแค่กระแสเท่านั้น อีกทั้งยังมีพฤติกรรมไม่แน่นอน และคงการบริโภคในรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว โดยกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 18%
6. กลุ่มที่เปลี่ยนอย่างช้าๆ (Laggards) คือ กลุ่มที่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่ไม่ได้มีทัศนคติในเชิงลบต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 18% ดังนั้นการขายสินค้าไม่สามารถคำนึงถึงแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมองไปถึงว่าธุรกิจสามารถทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง เพราะแนวโน้มในอนาคตผู้บริโภคจะมองว่าตนเองมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม เพราะได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความน่าสนใจว่าหากสินค้าสีเขียวได้เข้าไปอยู่กับเกมนั้น จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกอยากซื้อสินค้า และช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่
เรียบเรียงโดยรศ.ดร.วรวรรณ องค์ครุฑรักษา--Oworawan 09:32, 26 ตุลาคม 2564 (BST)