แบบจำลองการวิเคราะห์การค้าโลก (GTAP Model)

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

แบบจำลอง GTAP Model

แบบจำลอง GTAP (Global Trade Analysis Project) เป็นแบบจำลอง CGE Model (Computable General Equilibrium) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยการใช้สมการทางคณิตศาสตร์และเศรษฐมิติ (Econometric) เพื่อแสดงให้เห็นและเชื่อมโยงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของหน่วยทางเศรษฐกิจ 4 หน่วย ได้แก่

1. ผู้ผลิต (Firms or Producers)

2. ภาคครัวเรือนและภาครัฐ (Regional Households)

3. นักลงทุน (Regional Investors

4. ภาคการขนส่ง (Transportation Sectors)

โดยความสัมพันธ์ของผู้เล่นหลักทั้ง 4 หน่วยนี้สามารถแสดงให้เห็นได้ในแผนภาพด้านล่าง ภายใต้เงื่อนไขและข้อสมมติ คือ ประเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามข้อสมมตินี้จะยกเลิกในภายหลัง แต่เพื่อแสดงความสัมพันธ์ในเบื้องต้นจึงยังคงข้อสมมตินี้ไว้เพื่อลดความซับซ้อนในการอธิบายแบบจำลอง) (Hertel and Tsigas, 1997)

ไฟล์:gtap01.jpg


แบบจำลองทางด้านอุปสงค์ (Demand Side)

จากแผนภาพ แบบจำลอง GTAP สมมติให้ภาคครัวเรือนและภาครัฐ (Regional Households) ซึ่งเป็นผู้บริโภครายหลักในแบบจำลองมีจุดมุ่งหมายในการบริโภคเพื่อในตนเองได้รับความพึงพอใจสูงที่สุดจากการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งที่ผลิตได้เองภายในประเทศและที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยกำหนดในมีการใช้จ่ายซึ่งถูกควบคุมโดยสมการอรรถประโยชน์แบบ Cobb-Douglas Utility Function ซึ่งเป็นการกำหนดครัวเรือนและภาครัฐกำหนดพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของตนเพื่อให้ตนเองได้รับความพึงพอใจสูงที่สุด โดยครัวเรือนจะมีรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ ในสัดส่วนที่คงที่ โดยรายจ่ายของภาคครัวเรือนแยกออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายจ่ายของภาคเอกชน (Private Household Expenditure: PRIVEXP) รายจ่ายของภาครัฐ (Government Household Expenditure: GOVEXP) และรายจ่ายเพื่อการออม (Saving Expenditure: SAVE) โดยพฤติกรรมของภาคเอกชนและภาครัฐจะถูกควบคุมโดยค่าความยืดหยุ่นของการทดแทนกัน (Elasticities of Substitution) และยังถูกควบคุมโดยค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ (Consumer Demand Elasticity) และสมการแบบ Constant Difference Elasticity Function (CDE) โดยสมการในช่วงนี้ได้รับการปรับปรุงให้สามารถอธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระดับราคา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการลดมาตรการกีดกันทางการค้าลง โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี หรือเป็นการเพิ่มความสามารถของแบบจำลองให้สามารถอธิบายตัวแปรที่ได้รับการกระทบจากภาคการเงิน เป็นการเชื่อมโยงภาคการเงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง (Hertel and Tsigas, 1997; McDougall, 2002)

ภาคครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศ และ/หรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยกระแสเงินที่ไหลออกนอกประเทศ ได้แก่ VIPA: Value of Import Payment from ROW by Private households at Agents’ Prices, VIGA: Value of Import Payment from ROW by Government households at Agents’ Prices


แบบจำลองทางด้านอุปทาน (Supply Side)

รายได้ของภาคครัวเรือนและรัฐบาลที่จะใช้ในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดเกิดขึ้นจากการขายปัจจัยการผลิตให้กับผู้ผลิต (Firms or Producers) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไรสูงที่สุด (Profit Maximisation) จากแผนภาพ กระแสรายได้แสดงโดย VOA (endw) หรือ Value of Output at Agents’ price of endowment commodities ผู้ผลิตจะนำปัจจัยการผลิตเหล่านี้มาประกอบเข้ากับวัตถุดิบขั้นกลางทั้งที่ผลิตจากต่างประเทศ (VIFA) และที่ผลิตได้ในประเทศ (VDFA) มาผลิตเป็นสินค้าและบริการตอบสนองให้แก่อุปสงค์จากภาคครัวเรือนเอกชน (VDPA) ภาครัฐ (VDGA) และส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ (VXMD) นอกจากนี้ยังผลิตสินค้าทุนเพื่อตอบสนองอุปสงค์ต่อการออมและการลงทุน (REGINV) การตัดสินใจผลิตของผู้ผลิตจะถูกกำหนดโดยค่าความยืดหยุ่น Elasticity of Substitution และ Transformation Elasticities

ภาคสมมติที่เรียกว่า Global Bank ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ลงทุนที่ต้องการเงินทุนกับอุปสงค์ที่มีต่อการออมที่เกิดขึ้นจากภาคครัวเรือน ภาคสมมตินี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างปริมาณการออมและอัตราผลตอบแทนจากการออมที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ และการตัดสินใจลงทุนนี้ก็ถูกกำหนดโดยรูปแบบสมการ Constant Elasticity of Substitution (CES) Function เช่นเดียวกัน ในภาพที่ 10 หน่วยธุรกิจที่ไม่ได้แสดงในแผนภาพนี้คือ ภาคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Transportation Sectors) ซึ่งเป็นหน่วยสมมติเช่นเดียวกับ Global Bank ทำหน้าที่สร้างสมดุลระหว่างปริมาณการส่งออก และนำเข้าจากแต่ละประเทศ โดยภาคสมมตินี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ทำแบบจำลองใช้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วมูลค่าของภาคสมมตินี้สามารถคำนวณได้จากความแตกต่างระหว่างมูลค่าการส่งออกแบบ FOB (Free On Board) กับมูลค่าการนำเข้าของสินค้าเดียวกันในแบบ CIF (Cost, Insurance and Freight)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบจำลอง GTAP สามารถหาได้จาก Hertel and Tsigas (1997), Narayanan and Walmsley (2008) หรือ Website http://www.gtap.agecon.purdue.edu

เครื่องมือส่วนตัว