ทฤษฎีหลักสูตร
จาก ChulaPedia
การปรับปรุง เมื่อ 07:21, 1 มิถุนายน 2555 โดย Cchaler1 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
หลักสูตรแกน: สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น
เมื่อครั้งที่เริ่มประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในราวปี พ.ศ. 2551-2553 นั้น ความเข้าใจบุคคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวกับคำว่า “หลักสูตรแกนกลาง” ซึ่งแปลจากคำว่า “core curriculum” นั้น ค่อนข้างจะเห็นสอดคล้องไปในทำนองว่า หลักสูตรแกน หมายถึง ชุดของความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียนทุกคน ที่จะต้องทราบหรือปฏิบัติได้ (should know and be able to do) เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร จากความเข้าใจดังกล่าว หลักสูตรแกนจึงมีฐานะเป็นกลุ่มหรือชุดของวิชาความรู้ต่างๆ ที่ผู้เรียนทุกคนจำเป็นจะ “ต้อง” เรียนเหมือนกัน (required for all students) เพื่อให้สำเร็จการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน
ที่จริงแล้ว ความเข้าใจดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง เนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรแกนที่แท้จริงนั้น ค่อนข้างเชื่อมโยงกับแนวทางการจัดการศึกษาทั่วไปและการจัดการศึกษาเสรี (liberal education) ซึ่งมิได้มีมุมมองต่อหลักสูตรแกนว่าเป็นแต่เฉพาะชุดของวิชาหรือความรู้พื้นฐานเท่านั้น
สำหรับแนวคิดเรื่องการจัดการศึกษาทั่วไปสำหรับผู้เรียนทุกคน (general education) เป็น การจัดการศึกษาที่มีเป้าหมายในเชิงปรัชญาว่า ผู้เรียนต้องสามารถแสวงหาอิสรภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเองได้ (free human being) ดังนั้น ผู้เรียนจึงควรที่จะได้ศึกษาหาความรู้ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ฝึกปฏิบัติเพื่อถ่ายโอนทักษะ เช่น การสื่อสาร การวิเคราะห์และการแก้ปัญหาไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตจริง และสร้างความรู้สึก ค่านิยม คุณธรรมและสำนึกพลเมืองและการรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) ผ่านกระบวนการการเผชิญประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา ด้วยวิธีการศึกษาที่หลากหลายมากกว่าการใช้ความรู้จากเพียงวิชาเดียว (The Association of American Colleges and Universities, 2012: online) หลักสูตรแกนจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของการศึกษาทั่วไปและการศึกษาเสรี ด้วยเหตุนี้ การมองว่าหลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่รวมชุดความรู้และทักษะพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีนัยถึงการแยกออกจากกันเป็นเอกเทศ จึงยังไม่ครอบคลุมความหมายของหลักสูตรแกนที่แท้จริง และทำให้เกิดสมมติฐานเกี่ยวกับหลักสูตรแกนว่าประกอบด้วยรายวิชาต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน
นักหลักสูตรในยุคหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มพิพัฒนาการนิยม (1896-) ได้ใช้กระบวนทัศน์ใหม่ในการพิจารณาหลักสูตรแกน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักการศึกษาเสรี ที่เห็นว่า หลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่ใช้ปัญหาหรือบทบาทหน้าที่เชิงสังคมของการมีชีวิตอยู่ของผู้เรียน (social functions of living) หรือก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ ของผู้เรียนมาเป็นหลักในการสร้างหลักสูตร ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมไม่มีแยกเป็นรายวิชา ดังนั้น ความรู้และทักษะที่ผู้เรียนจะได้เรียน ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน (blending of knowledge) แกนในที่นี้ จึงมิใช่แกนจากศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นแกนอันได้แก่ ความรู้ ทักษะ ค่านิยมหลักๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นจากการศึกษาปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน ซึ่งรูปแบบหรือประเภทของหลักสูตรในปัจจุบัน ที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนก็คือ หลักสูตรบูรณาการ (integrated curriculum) นั่นเอง
จากมโนทัศน์ของหลักสูตรแกนข้างต้น เมื่อนำมาวินิจฉัยคำกล่าวที่ว่า หลักสูตรแกน ประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ หรือองค์ความรู้แยกเป็น 8 สาระการเรียนรู้นั้น ก็จะเห็นได้ว่า มีความ คลาดเคลื่อนไปมาก เพราะกระบวนทัศน์ของนักหลักสูตรในปัจจุบัน กล่าวถึงหลักสูตรแกนในลักษณะหลักสูตรแบบบูรณาการที่ได้หลอมรวมองค์ความรู้จากการวิชาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และองค์ความรู้เหล่านั้น จะใช้ไปเพื่อศึกษาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้เรียน หากกล่าวให้ชัดเจนขึ้น หลักสูตรแกนจึงมีลักษณะสำคัญ คือ เป็นหลักสูตรแบบบูรณาการ เน้นไปที่การบูรณาการในลักษณะสหสาขาวิชา (interdisciplinary) ที่มีการผสมผสานหรือสอดแทรกความรู้ต่างๆ ข้ามวิชา โดยมุ่งศึกษาประเด็นต่างๆ (theme/issue) ที่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชามาใช้แก้ปัญหาหรือสร้างความเข้าใจ ลดการกำหนดช่วงเวลาเรียนที่ตายตัวและแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดมาเป็นการศึกษาร่วมกันด้วยการใช้ช่วงเวลาที่มากขึ้น และอาจใช้บุคลากรผู้สอนซึ่งได้แก่ ครูวิชาต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรมการศึกษาหรือแก้ปัญหากับผู้เรียน ดังที่กล่าวมานี้ กระบวนทัศน์ใหม่ที่มีต่อหลักสูตรแกน คือ การพิจารณาว่า หลักสูตรแกนมิใช่หลักสูตรที่ประกอบด้วยความรู้และทักษะในรายวิชาต่างๆ ที่แยกกัน (แยกสอน แยกประเมิน) แต่หลักสูตรแกนที่ “ควรจะเป็น” คือ การบูรณาการความรู้และทักษะที่เป็นแกนหลักในทุกๆ สาขาวิชามาใช้ในการแก้ปัญหาหนึ่งๆ ในชีวิตจริงของผู้เรียน (ร่วมสอน ร่วมประเมิน)
เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาหลักสูตรแกนที่ใช้ในปัจจุบันจะพบว่า มีลักษณะเป็นแกนแบบแยกวิชา ภายใต้อุดมการณ์และเป้าหมายของแต่ละวิชาที่ไม่เชื่อมโยงกัน มากว่าจะเป็นแกนที่เกิดจากการ หลอมรวมวิชาภายใต้บริบทปัญหาจริงในชีวิต ผลที่ตามมาก็คือ ผู้เรียนไม่สามารถที่จะประยุกต์ความรู้ในลักษณะ “ข้ามศาสตร์ ”ได้ และความรู้ที่เรียนไปไม่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาในชีวิต เพราะเป็นการเรียนจากตัวองค์ความรู้และพยายามที่จะ “ลากเข้าความ” ซึ่งมีข้อจำกัดอยู่มาก เห็นได้ว่า ผู้เรียนจะตั้งคำถามทันทีว่า “เรียนเรื่องนี้ไปทำไม” หรือ “เรียนแล้วนำไปใช้อะไรได้” ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการศึกษาที่ใช้ตัวศาสตร์หรือตัวองค์ความรู้เป็นตัวตั้ง โดยธรรมชาติจะมิได้มุ่งเน้นการนำไปใช้ ซึ่งต่างจากการนำปัญหาหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมที่อยู่รอบตัวผู้เรียนมาเป็นตัวตั้งหรือเป็นแกน แล้วนำศาสตร์สาขาต่างๆ มาใช้ศึกษาหรือแก้ปัญหา เช่นนี้ ผู้เรียนย่อมจะเกิดความเข้าใจเพราะสิ่งที่ศึกษานั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต คือ เชื่อมโยงกับปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัญหาชีวิตในช่วงวัยต่างๆ ปัญหาการปรับตัวหรือความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์เชิงพหุวัฒนธรรม สุขภาพ หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาในระดับชาติ เป็นต้น