แนวทางการออกแบบแสงสว่างส่องพระเจดีย์ไทยในกรุงเทพ
จาก ChulaPedia
แนวทางการออกแบบแสงสว่างส่องพระเจดีย์ไทยในกรุงเทพฯ. (LIGHTING DESIGN APPROACHES FOR THAI STUPAS IN BANGKOK)
นิสิต ธนเดช ถมประเสริฐ / อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก : รศ.พรรณชลัท สุริโยธิน
บทคัดย่อ
การออกแบบแสงสว่างนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมทัศนียภาพในเวลากลางคืน จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวหลายแห่งได้นำการออกแบบแสงสว่างมาเป็นส่วนสำคัญหนึ่งสำหรับแผนพัฒนาภาพลักษณ์ของชุมชนเมือง (city beautification) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการออกแบบการส่องสว่างไปยังสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีรูปทรงโดดเด่น หรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สำหรับในประเทศไทยแล้ว พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นทางด้านรูปทรง เป็นหลักฐานที่สำคัญที่แสดงออกถึงศิลปะวัฒนธรรม และเป็นจุดหมายตา (landmark) สำคัญของชุมชนเมือง
การศึกษานี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาลักษณะทางที่ตั้งของพระเจดีย์ และลักษณะองค์ประกอบของพระเจดีย์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางในการออกแบบแสงสว่าง โดยมีขอบเขตการศึกษาเป็นพระเจดีย์ในกรุงเทพมหานครจำนวน 30 พระเจดีย์ การศึกษาองค์ประกอบใช้วิธีการแยกองค์ประกอบของพระเจดีย์ออกเพื่อพิจารณาคุณสมบัติทางการมองเห็น (visual perception) ของแต่ละองค์ประกอบย่อยตามหลักมูลฐานการออกแบบ (design fundamentals) และเสนอทางเลือกการให้แสงด้วยวิธีการส่องเน้นแต่ละองค์ประกอบย่อยจากการประยุกต์องค์ความรู้ในการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า พระเจดีย์ในกรุงเทพฯ มีความสูงตั้งแต่ 8 เมตร ถึง 94 เมตร ลักษณะรูปทรงของพระเจดีย์ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นชั้นๆตามนอน โดยลักษณะย่อยขององค์ประกอบสามารถจำแนกได้ 7 ลักษณะ พระเจดีย์ที่ความสูงมากกว่าบริบทโดยรอบมักจะสามารถมองเห็นได้จากทางสัญจรหลัก ได้แก่ ถนน และแม่น้ำ และระยะโดยรอบที่สามารถติดตั้งดวงโคมได้มี 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะที่ติดตั้งดวงโคมจะส่งผลต่อลักษณะทางแสงเงาที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน
ผู้วิจัยได้เสนอแนะแนวการออกแบบแสงสว่างในช่วงเวลาปกติที่ไม่มีเทศกาลด้วยวิธีการสาดส่อง (floodlighting) หรือการส่องเน้นองค์ประกอบย่อย(detail lighting) โดยมีการคำนึงถึงการเน้นลักษณะสามมิติของรูปทรง เพื่อส่งเสริมการมองเห็นรูปทรงของพระเจดีย์ซึ่งมีลักษณะที่โดดเด่นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยพระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่อาจพิจารณาส่องเน้นแยกในแต่ละองค์ประกอบ เพื่อให้แสงกระจายได้ทั่วถึง จากรูปทรงส่วนใหญ่ที่มีการแบ่งชั้นตามทางนอน การให้แสงส่องเน้นแบบส่องขึ้น (uplighting) นั้นสามารถสร้างเงาที่เน้นการแบ่งชั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการติดตั้งดวงโคมในระยะใกล้ทำให้เกิดเงาตกทอดมากกว่า การไล่น้ำหนักแสง (gradient) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยขับเน้นลักษณะสามมิติของพระเจดีย์มากยิ่งขึ้น และการให้แสงโดยรวมไม่ควรมีความจ้ามากเกินไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงบและสบายตา
บทนำ
1. ที่มาและความสำคัญของปัญหา
พระเจดีย์ในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายในแต่ละท้องที่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่พบแตกต่างกันตามไปตามบริบททางสิ่งแวดล้อมและทางวัฒธรรม จากจำนวนพระอารามหลวง 272 แห่งทั่วประเทศไทย พบว่า ในจำนวนนั้นประกอบด้วยพระอารามหลวงที่อยู่ในกรุงเทพฯ 90 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของพระอารามหลวงทั่วประเทศ จึงนับว่ากรุงเทพ ฯ นั้นมีวัดที่มีคุณค่าได้รับการยกย่องอยู่หลายแห่ง ในจำนวนนี้ก็มีอยู่หลายแห่งที่ได้รับการนำแสงสว่างเข้าไปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะให้ความสว่างสำหรับการมองเห็นแล้ว ยังช่วยให้เกิดความปลอดภัยในเวลากลางคืน และทำให้เกิดการรับรู้ความงามที่แตกต่างออกไปในเวลากลางวันอีกด้วย
ปัจจุบันมีงานศึกษาหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบแสงสว่างสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และได้เสนอแนะแนวทางการออกแบบแสงสว่างมาในประเด็นต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพที่ปรากฎ โดยแนวทางต่างๆที่ได้เผยแพร่ออกมานั้นได้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุง และพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ในกลุ่มการศึกษาเหล่านี้ มักจะเป็นการศึกษาที่กล่าวถึงการให้แสงสว่างกับโบราณสถานในภาพกว้าง โดยยังไม่มีการศึกษาใดที่มุ่งเน้นการให้แสงสว่างสำหรับสถาปัตยกรรมประเภทพระเจดีย์โดยเฉพาะ การศึกษานี้จึงเกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องในการออกแบบ ทั้งด้านพัฒนาการและรูปทรงของพระเจดีย์ และด้านทฤษฎีการออกแบบแสงสว่าง เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางในการออกแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและแนวคิดที่มีการพัฒนาขึ้น เทคนิคการให้แสงสว่างนั้นสามารถทำได้หลากหลายตามความต้องการของผู้ออกแบบ สำหรับพระเจดีย์นั้น เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีระเบียบแบบแผนและความประณีตบรรจงในการก่อสร้าง แนวความคิดหลักในการให้แสงสว่างจึงควรเป็นไปเพื่อเน้นลักษณะทางรูปทรงองค์ประกอบต่างๆ ให้มีความเด่นชัดยิ่งขึ้น และอาจพิจารณาการให้แสงเพื่อดึงดูดความสนใจและความบันเทิงเป็นแนวความคิดรอง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในบางโอกาส เช่น ช่วงที่มีการจัดเทศกาลต่างๆภายในวัด
แสง เงา และการไล่น้ำหนักแสง เป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่งที่ช่วยเน้นลักษณะทางรูปทรง โดยสิ่งที่ส่งผลต่อลักษณะต่างๆ ดังกล่าว ได้แก่ทิศทางในการให้แสง ระยะห่างระหว่างดวงโคมกับวัตถุที่จะให้แสง และลักษณะทางรูปทรง โดยรูปทรงแต่ละรูปทรงต่างก็มีประเด็นในการพิจารณาให้แสงต่างกันออกไป ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ตามสัณฐานที่พบ เพื่อเสนอแนะแนวทางการออกแบบแสงสว่าง โดยมีปัจจัยทางด้านที่ตั้งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อระยะในการติดตั้งดวงโคม การศึกษานี้จึงได้มุ่งไปที่การสำรวจและจำแนกลักษณะที่ตั้ง และจำแนกลักษณะองค์ประกอบที่พบเห็น เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางการให้แสงสว่างสำหรับแต่ละองค์ประกอบของพระเจดีย์ ภายใต้กรอบของการเน้นลักษณะทางรูปทรงด้วยแสง เงา และการไล่น้ำหนักแสง
1.1 วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1.1.1 เพื่อศึกษาลักษณะทางที่ตั้งของพระเจดีย์ที่เป็นข้อจำกัดในการกำหนดรูปแบบวิธีการให้แสงสว่าง
1.1.2 เพื่อจำแนกลักษณะรูปทรงขององค์ประกอบต่างๆ ของพระเจดีย์ที่พบ สำหรับนำไปสู่การเลือกเทคนิคในการออกแบบแสงสว่าง
1.1.3 เพื่อสรุปรูปแบบการให้แสงสว่างที่เป็นไปได้ และนำไปเป็นทางเลือกในการออกแบบการให้แสงสว่างกับพระเจดีย์หรือสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงใกล้เคียงกันต่อไป
1.2 ขอบเขตของการศึกษา
1.2.1 ศึกษาเฉพาะจากกลุ่มตัวอย่างพระเจดีย์ในวัดที่เป็นพระอารามหลวงในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระเจดีย์ที่เกิดมีการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์
1.2.2 ศึกษาในด้านลักษณะที่ตั้งของพระเจดีย์ รูปทรงของพระเจดีย์ ตำแหน่งการติดตั้งดวงโคม ซึ่งจะส่งผลไปถึงลักษณะของเทคนิคในการให้แสง และรูปแบบของแสงสว่างที่เกิดขึ้น
1.2.3 ศึกษาเฉพาะลักษณะผลของรูปแบบแสงสว่างที่เกิดจากดวงโคมนั้น โดยไม่มีอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง เช่น แสงจันทร์ แสงสะท้อนจากวัตถุอื่นๆที่อยู่โดยรอบ
1.2.4 ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการให้แสงสว่างของพระเจดีย์เฉพาะส่วนองค์พระเจดีย์ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่รวมส่วนของฐาน และราวกันตกรอบฐาน
1.3 ระเบียบวิธีการศึกษา
แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ การทบทวนวรรณกรรม การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเสนอแนะแนวทางและการสรุปผล
1.3.1 การทบทวนวรรณกรรม
ศึกษาเกี่ยวกับพระเจดีย์ในประเทศไทย ควบคู่กับ ทฤษฎีของแสง แนวคิดในการออกแบบแสงสว่าง คุณสมบัติต่างๆของแหล่งกำเนิดแสง และทฤษฎีด้านอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้อง
1.3.2 การเก็บข้อมูล
กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษา โดยคัดเลือกพระเจดีย์จากพระอารามหลวง 30 แห่ง และทำการสำรวจพระเจดีย์จากภาพถ่ายทางอากาศด้วยโปรแกรม Google Earth ประกอบกาสำรวจสถานที่จริง เพื่อถ่ายภาพและรังวัดในบางส่วนมาสร้างภาพลายเส้นในการศึกษารูปทรงขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
1.3.3 การวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลที่เก็บจะนำมาวิเคราะห์เพื่อจำแนกกลุ่มของลักษณะที่พบ และหาข้อจำกัดที่จะเป็นตัวกำหนดลักษณะการออกแบบแสงสว่างที่จะเกิดขึ้น โดยข้อมูลที่จะวิเคราะห์ได้แก่ ข้อมูลด้านลักษณะทางที่ตั้ง ระยะต่างๆที่สามารถติดตั้งดวงโคมได้ และ ข้อมูลด้านรูปทรงขององค์ประกอบต่างๆที่พบ
1.3.4 การเสนอแนะแนวทางการออกแบบและสรุปผล
โดยการนำส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาทำการเสนอแนะแนวทางการออกแบบแสงสว่าง ตามหลักทฤษฎีต่างๆที่ได้ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมา เพื่อสร้างรูปแบบทางเลือกสำหรับนำไปใช้ออกแบบจริง
2.ผลการศึกษา
2.1 รูปทรงของพระเจดีย์ที่พบ
สามารถจำแนกรูปทรงที่พบเป็น 4 ลักษณะหลักๆ ได้แก่
2.1.1 พระเจดีย์ทรงกลม
มีจุดเด่นที่ผิวของพระเจดีย์มีความโค้งต่อเนื่องกันไปโดยรอบองค์ และมีการแบ่งผิวสัมผัสเป็นชั้นๆตามนอนในส่วนมาลัยเถาและปล้องไฉน โดยมีบัลลังก์เป็นองค์ประกอบคั่นระหว่างองค์ระฆังด้านล่างและปล้องไฉนด้านบน
2.1.2 พระเจดีย์ทรงปรางค์
พระเจดีย์ทรงปรางค์ มีจุดเด่นคือการย่อมุมและแบ่งฐานเป็นชั้นๆ คั่นด้วยเรือนธาตุ ขึ้นไปจนถึงชั้นกลีบขนุน และนพศูล ซึ่งมีแนวความคิดมาจากการออกแบบตามคติทางไตรภูมิ
2.1.3 พระเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุม
พระเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุมมีการลดรูปย่อมุม ( Subtraction ) ทำให้มุมใหญ่ทั้ง 4 มุมแตกเป็นมุมย่อยๆลง โดยการย่อมุมมีความละเอียดหลายระดับ ตั้งแต่ย่อมุมไม้สิบสอง ย่อมุมไม้สิบหก จนถึงตั้งแต่ย่อมุมไม้ยี่สิบขึ้นไป
2.1.4 พระเจดีย์ทรงปราสาทหรือมณฑป พระเจดีย์ทรงปราสาท มณฑป หรือพระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมฐานสูง มีการยกเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมขึ้นมาสูงให้สามารถเข้าไปใช้สอยภายในได้ ซึ่งอาจจะก่อสร้างเป็นรูปทรงของพระเจดีย์ทรงต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น
2.2 แนวทางการออกแบบแสงสว่างสำหรับพระเจดีย์
แสงสว่างเป็นองค์ประกอบที่มองเห็นได้อย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะการปรากฎและแสดงตัวให้มองเห็นแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการสะท้อนเข้าสู่ดวงตา สีของแสง และการเคลื่อนไหว จากคุณลักษณะดังกล่าวนั้นสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกวิธีในการให้แสงสว่างได้เป็น 2 วิธีหลักๆได้แก่ การส่องเน้น และการประดับตกแต่ง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้
2.2.1 การส่องเน้น
เป็นการใช้แสงส่องเน้นคุณลักษณะขององค์ประกอบต่างๆที่พบเห็นบนวัตถุให้ปรากฎชัดเจนขึ้นในตอนกลางคืน โดยอาศัยลักษณะของการไล่น้ำหนักของแสง และการเกิดเงาเป็นส่วนช่วยในการขับเน้นลักษณะขององค์ประกอบ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรูปแบบการส่องเน้นที่จะเกิดขึ้น คือตำแหน่งในการติดตั้งดวงโคม ทั้งตามแนวแกนตั้งและแกนนอน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเงาในลักษณะต่างๆกัน
2.2.1.1 ระยะในการติดตั้งดวงโคม
จากการสำรวจลักษณะทางที่ตั้งวัดในกลุ่มตัวอย่างและพิจารณาบริเวณที่ติดตั้งดวงโคมที่ไม่กีดขวางทางเดินได้แล้ว พบว่าสามารถจำแนกระยะในการติดตั้งดวงโคมได้ 4 ระยะหลักๆ ได้แก่ ซึ่งมีผลต่อรูปแบบเงาที่เกิดขึ้น ได้แก่
2.2.1.1.1 ระยะที่ 1 : ระยะประชิดกับองค์พระเจดีย์ (ช่วงระยะไม่เกิน 0.5 เมตรรอบองค์พระเจดีย์) การติดตั้งดวงโคมในระยะนี้ทำให้เกิดเงาพาดด้านบนค่อนข้างมาก และลำแสงจากดวงโคมกระจายได้ไม่ค่อยทั่วถึง จึงอาจต้องเพิ่มจำนวนดวงโคมเสริมโดยรอบ เพื่อให้แสงกระจายได้ทั่วถึง
2.2.2.1.2 ระยะที่ 2 : ระยะห่างจากพระเจดีย์ถึงขอบหรือราวกันตกบนฐานชั้นที่ รองรับองค์พระเจดีย์ โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2 เมตร (ต่ำสุด 0.5 สูงสุด 5.5 จากการสำรวจวัด 26 แห่ง) การติดตั้งดวงโคมในระยะนี้ทำให้เกิดเงาค่อนข้างมากเช่นกัน แต่แสงสามารถกระจายโดยรอบได้ดีกว่าระยะที่ 1 พระเจดีย์ส่วนใหญ่มักจะอยู่บนฐานไพที จึงสามารถใช้ระยะนี้ในการติดตั้งดวงโคมได้
2.2.2.1.3 ระยะที่ 3 : ระยะห่างจากฐานพระเจดีย์ถึงขอบนอกของทางเดินโดยรอบพระเจดีย์ วัดจากพระเจดีย์ที่มีทางเดินโดยรอบที่มีความกว้างสม่ำเสมอ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 4.8 เมตร (ต่ำสุด 1 สูงสุด 9 จากการสำรวจวัด 15 แห่ง) เงาที่เกิดขึ้นจะน้อยลงมา และแสงจะกระจายไปได้ทั้วถึงมากยิ่งขึ้น
2.2.2.1.4 ระยะที่ 4 : ระยะห่างจากองค์พระเจดีย์เท่ากับความสูงของพระเจดีย์ ซึ่งพระเจดีย์ที่มีระยะห่างค่อนข้างมากในลักษณะนี้มักจะเป็นพระเจดีย์ที่เข้าเกณฑ์อยู่ในลานกว้าง (พบ 10 วัด จากการสำรวจวัด 30 แห่ง) การให้แสงในระยะนี้จะทำให้เกิดเงาน้อย และต้องอาศัยพลังงานที่มากขึ้นเพื่อที่จะให้ความสว่างเท่ากับการติดตั้งในระยะใกล้
จากการศึกษาองค์ประกอบจะเห็นว่าพระเจดีย์นั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่องค์ประกอบส่วนใหญ่จะมีการแบ่งชั้นตามทางนอน และมีการลดหลั่นความกว้างฐานขึ้นไปเป็นชั้นๆ การให้แสงด้วยวิธี uplighting จะทำให้เกิดเงามากกว่ากว่าธี Side Lighting หรือ Down Lighting ลักษณะของเงาที่ตกทอดขึ้นไปทำให้เห็นการแบ่งชั้นของผิวสัมผัสตามทางนอนที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นการขับเน้นลักษณะรูปทรงสามมิติยิ่งขึ้น ส่วนปัจจัยด้านระยะในการติดตั้งดวงโคม จากการจำลองการให้แสงสว่างแบบ Uplighting ด้วยดวงโคมจำนวนเท่ากัน ชนิดเดียวกัน แต่อยู่ห่างจากพระเจดีย์ในระยะต่างกันทั้ง 4 ระยะ จะพบว่ายิ่งดวงโคมอยู่ใกล้พระเจดีย์มากเท่าไร จะเกิดเงาตกทอดมากยิ่งขึ้น ทำให้ลักษณะของรูปทรงและพื้นผิวโดดเด่นขึ้น แต่อาจต้องกระจายดวงโคมเป็นหลายดวงเพื่อให้แสงตกถึงพื้นผิวของพระเจดีย์ได้อย่างทั่วถึง หากไม่ต้องการให้เกิดเงาดำ ในทางตรงกันข้าม การส่องจากระยะไกลจะทำให้เงาลดลง และมีการกระจายของแสงอย่างสม่ำเสมอ (uniform) มากกว่า แต่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้ามากกว่าหากต้องการให้ค่าความส่องสว่างบนพื้นผิวพระเจดีย์เท่ากับการส่องในระยะใกล้ และวิธีนี้จะใช้ได้เฉพาะพระเจดีย์ที่อยู่ติดกับลานกว้าง หรืออยู่ในบริเวณลานกว้าง
2.2.1.2 การให้แสงส่องเน้นแต่ละองค์ประกอบย่อย การให้แสงองค์ประกอบย่อยเพื่อขับเน้นลักษณะทางรูปทรงนั้น สามารถจำแนกลักษณะองค์ประกอบย่อยออกได้เป็น 7 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
2.2.1.2.1 กลุ่มองค์ประกอบยอด องค์ประกอบยอดเป็นองค์ประกอบที่อยู่บนยอดพระเจดีย์ ในระยะไกลมักจะมองเห็นเป็นขนาดเล็กเหมือนจุด ได้แก่ลูกแก้ว หยดน้ำค้าง ฉัตร และนพศูล การให้แสงสว่างสามารถทำได้ 2 ลักษณะคือการอาศัยแสงที่ส่องมายังส่วนปลียอด หรือการติดแหล่งกำเนิดแสงแบบจุดลงไปด้านบน ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะเป็นจุดโดดเด่นขึ้นมา สำหรับลูกแก้วและหยดน้ำค้างนั้นอาจใช้วิธีการให้แสงสว่างจากภายใน โดยเปลี่ยนวัสดุผิวให้มีความโปร่งแสง
2.2.1.2.2 องค์ประกอบลักษณะเรียวยาว องค์ประกอบเรียวนั้นมีลักษณะคล้ายเส้น หรือมีลักษณะคล้ายรูปกรวย ได้แก่ปลียอด บัวกลุ่ม และปล้องไฉน การให้แสงแบบไม่สม่ำเสมอจะช่วยขับเน้นความรู้สึกเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจะทำให้เกิดการไล่สายตาบนพื้นผิวของวัตถุ และสำหรับองค์ประกอบที่มีผิวสัมผัส ได้แก่บัวกลุ่ม และปล้องไฉนนั้น การให้แสงในลักษณะ Uplighting จะช่วยเน้นผิวสัมผัสให้มีความเป็นชั้นๆ ชัดเจน
2.2.1.2.3 องค์ประกอบที่มีการเรียงจังหวะและที่ว่าง จากที่พบในการสำรวจได้แก่ส่วนเสาหาน ซึ่งมีการเรียงจังหวะเป็นลักษณะจังหวะซ้ำ (repetitive rhythm) และมีพื้นหลังเป็นส่วนแกนรับปล้องไฉน สามารถใช้เทคนิคการส่องเน้นได้ 2 ลักษณะ คือการส่องเน้นที่เสา หรือการส่องเน้นที่ส่วนด้านหลังเสา ซึ่งจะทำให้เน้นเสาหานเป็นเงาดำขึ้นมา (silhouette)
2.2.1.2.4 องค์ประกอบทรงโค้งกลม ได้แก่องค์ประกอบของพระเจดีย์ทรงกลม คือมาลัยเถาและส่วนองค์ระฆัง ที่มีผิวสัมผัสเรียบต่อเนื่องกันไปตลอด ลักษณะของแสงที่มีการไล่น้ำหนักในแนวด้านข้างจะช่วยขับเน้นลักษณะของความโค้งกลมมากยิ่งขึ้น ส่วนมาลัยเถานั้นมีการแบ่งผิวสัมผัสตามทางนอนด้วย การให้แสงสว่างในลักษณะ Uplighting จึงช่วยให้เกิดลักษณะของเงาที่แบ่งชั้นได้ชัดเจนกว่าลักษณะการให้แสงแบบ sidelighting หรือ downlighting
2.2.1.2.5 องค์ประกอบทรงเหลี่ยมและเหลี่ยมย่อมุม ได้แก่บัลลังก์และองค์ประกอบส่วนใหญ่ในพระเจดีย์ทรงปรางค์และทรงเหลี่ยมย่อมุม ทำให้พื้นผิวมีลักษณะพับ ไม่เรียบต่อเนื่องกัน การให้แสงจึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือการส่องเน้นตรงในทิศทางตั้งฉากกับด้านเรียบ โดยกำหนดให้ค่าความส่องสว่างแต่ละด้านไม่เท่ากัน จะช่วยเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของระนาบผิว และการส่องเน้นโดยส่องแสงไปในส่วนมุม จะช่วยให้ความชัดเจนของเหลี่ยมมุมลดลงไป ดูมีความนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น
ส่วนหลังคาของพระมณฑปนั้นก็เป็นองค์ประกอบที่มีลักษณะพื้นฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมคล้ายลักษณะฐานสิงห์และฐานย่อมุมเช่นกัน แต่แตกต่างกันที่ระยะในการมองเห็น ซึ่งมักจะเป็นมุมเงย ในขณะที่ฐานสิงห์และฐานย่อมุมเป็นองค์ประกอบที่อยู่ด้านล่างจึงมักจะเห็นในระดับสายตา การให้แสงสำหรับหลังคาพระมณฑปจึงอาจใช้เทคนิคการให้แสงด้วยองค์ประกอบแสงที่เป็นเส้นส่องขึ้นติดตั้งบนชั้นหลังคาเพื่อเน้นชั้นของหลังคาในแต่ละชั้นได้ หากมีพื้นที่ว่างเพียงพอที่จะสามารถติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงได้
2.2.1.2.6 องค์ประกอบที่เป็นช่อง ได้แก่ช่องซุ้มพระของเรือนธาตุพระปรางค์ และส่วนชั้นกลีบขนุน ซึ่งมักจะเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในส่วนบน ทำให้ต้องเงยหน้าขึ้นมอง การติดตั้งแสงแบบ Uplighting ภายในช่องจะช่วยให้มองไม่เห็นแสงบาดตาจากแหล่งกำเนิดแสงเนื่องจากเป็นมุมเงย หรือหากต้องการจะให้แสงแบบ downligting ก็ควรหันทิศของดวงโคมให้เล็งค่อนไปทางด้านในช่องซุ้มเพื่อลดแสงบาดตา
2.2.1.2.7 องค์ประกอบที่มีส่วนประกอบย่อยหลายส่วน สามารถให้แสงแยกเป็นส่วนๆตามลักษณะขององค์ประกอบย่อย ดังที่ได้กล่าวมาในวิธีต่างๆข้างต้น เพียงแต่มีข้อจำกัดที่แตกต่างออกไป คือบางแห่งมีทางเข้าที่คนสามารถเดินเข้าไปได้ จึงไม่สามารถให้แสงในทิศส่องเข้าไปหาทางเข้าได้ ควรให้แสงจากมุมทั้ง 4 แทน
2.2.2. การให้แสงประดับตกแต่ง
นอกจากนี้ยังมีวิธีการให้แสงในลักษณะอื่นๆอีก ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้เน้นการส่องให้เห็นองค์ประกอบของพระเจดีย์เป็นหลัก แต่เป็นการเพิ่มองค์ประกอบทางแสงสว่างเข้าไปเพื่อให้ตัวองค์ประกอบของแสงนั้นโดดเด่นเป็นที่สนใจขึ้นมา การติดตั้งนั้นควรทำให้สอดคล้องกับลักษณะทางองค์ประกอบสถาปัตยกรรมเพื่อให้เกิดจังหวะและเส้นสายที่มีความกลมกลืนกัน และดูเรียบร้อยสวยงาม ได้แก่
2.2.2.1 การใช้เทียน สามารถเรียงกันเป็นแนวตามแท่น หรือใส่ไว้ตามช่องซุ้มต่างๆได้
2.2.2.2 การใช้โคมเส้นไฟจอมแห ทำให้เกิดลักษณะโครงของที่ว่างเพิ่มขึ้น
2.2.2.3 การใช้ไฟราว
สามารถใช้เน้นเส้นกรอบ หรือเส้นชั้นของพระเจดีย์ได้ โดยจะมีลักษณะเป็นจุดที่เรียงกันเป็นเส้นยาวต่อเนื่อง
2.2.2.4 การฉายภาพ
2.2.2.4.1 การฉายภาพแสง โดยการใช้เครื่องฉายภาพเคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่งลงไปบนองค์พระเจดีย์ 2.2.2.4.2 การฉายภาพเงา โดยการใช้อุปกรณ์บังเงาต่างๆในการกรองแสงให้เกิดลักษณะของเงาบน องค์พระเจดีย์
ขอบเขตในการศึกษาและเสนอแนะแนวทางการออกแบบแสงสว่างส่องพระเจดีย์ไทยในกรุงเทพฯนั้นสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ จากการศึกษาทำให้ทราบถึงลักษณะทางที่ตั้ง และระยะต่างๆที่ส่งผลต่อเทคนิคในการให้แสงสว่างที่เกิดขึ้น ทราบถึงสัณฐานขององค์ประกอบย่อยต่างๆ ซึ่งนำมาสู่การเสนอแนะแนวทางการให้แสงสว่างที่เป็นไปได้ และได้ทำการจำลองผลของการส่องเน้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ระยะเฉลี่ยต่างๆที่พบในการสำรวจ เพื่อนำมาพิจารณาเลือกใช้กับพระเจดีย์ หรือวัตถุอื่นๆที่มีรูปทรงใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการออกแบบแนวความคิดในการให้แสงสว่าง อย่างไรก็ตาม การออกแบบแสงสว่างนั้นก็ยังประกอบไปด้วยปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากขอบเขตของงานวิจัยนี้ที่จะต้องพิจารณาประกอบในการออกแบบด้วย ได้แก่ ค่าอุณหภูมิสีของแสง ค่าความส่องสว่าง การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพุทธศาสนาในประเทศไทย ชนิดของแหล่งกำเนิดแสงที่ใช้ จำนวนของดวงโคมที่ใช้และการป้องกันแสงบาดตา เพื่อให้การออกแบบมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
กองบรรณาธิการข่าวสด.มงคลทั่วไทย ไหว้ 99 พระธาตุ เจดีย์, กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. จุนนิชิโร ทานิซากิ. สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ(แปล). เยิรเงาสลัว. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์. 2537. ชอุ่ม โพธิ์พฤกษ์พันธ์. การศึกษาแนวทางการออกแบบและการปรับปรุงแผนแม่บทด้านแสง สว่างสำหรับเมืองประวัติศาสตร์ของประเทศไทย : กรณีศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2549. ทิพย์สุดา ปทุมานนท์. ภาษาภาพ 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น. ณ ปากน้ำ. ความเป็นมาของสถูปเจดีย์ในสยามประเทศ .กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2529. นภัส ขวัญเมือง. การศึกษาพระเจดีย์ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยภายในสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อการ ออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ป่าสักชลสิทธิ์จังหวัดลพบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวืยาลัย, 2547. ผุสดี ทิพทัส. หลักเบื้องต้นในการจัดองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545. พรรณชลัท สุริโยธิน. วัสดุและการก่อสร้าง : หลอดไฟฟ้า. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. พรรณชลัท สุริโยธิน. LED ศักยภาพความสดใสของแสงและสีที่ต้องพิสูจน์. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 60 (ธันวาคม 2554):11-24 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจติยสถาน. พระนคร : ศิวพร, 2503. พุทธชาติ รัตนวงศ์. แนวทางการออกแบบแสงสว่างสำหรับโบราณสถานทางสถาปัตยกรรมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2552. มรดกโลก. บริษัท. รายงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดการให้แสงสว่าง โบราณสถานใน กรุงเทพมหานคร เสนอการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.รายงาน . 2530.
สมคิด จิระทัศนกุล. รู้เรื่องวัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิวเซี่ยมเพรส, 2554. วิศวกร ทางทอง. องค์ประกอบทางการออกแบบแสงประดิษฐ์บนยอดอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาเทคโนโลยีอาคาร ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์. 2550. Experience and Effect of Lighting Design. อาษา 2 (มีนาคม 2550): 101-102
ภาษาอังกฤษ
Bertramy. Kinzey,Jr. Environmental Technologies in ARCHITECTURE. Prentice-hall, Inc, 1964. Christopher Cuttle. Light for Atr’s Sake. Lighting for Artworks and Museum Display, 2007. Geraldine O’Farrell. External lighting for historicbuildings. London : Vitesse Marietta S. Millet and Catherine Jean Barrett . Light Revealing Architecture . J. Wiley Edition, 1996. Rollo Gillespie Williams. Lighting for Color and Form. New York : Pitman, 1954 The Chartered Institution of Building Services Engineers (CIBSE). Code for interior lighting. London : Delta House, 1994. The IESNA Outdoor Environment Lighting Comitee : Lighting for Exterior Environments an IESNA Lighting Practice. Recommended Practice , 2007. The Sunset Editorial. Staff. Outdoor Lighting. California : Lane Books, 1971. Vannapa Pimviriyakul. Light in Thai Places : A Cultural Interpretation of Thai Buddhist Architecture .Doctoral dissertation, College Station,Texas A&M University, 2001