ปลวกที่สร้างสวนรา
จาก ChulaPedia
หัวข้อ การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลและโครงสร้างอติจุลภาคของชุมชนราที่เกี่ยวข้องกับปลวกที่สร้างสวนรา นางสาวญาติมา โพธิวัฒน์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปลวกที่จัดอยู่ในวงศ์ Termitidae วงศ์ย่อย Macrotermitinae อาศัยอยู่โดยมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (mutualism) กับราTermitomyces ที่สร้างเห็ดโคน ปลวกจะสร้างสวนรา (fungus garden) ที่ประกอบด้วยเส้นใยของรา งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาชุมชนรา ในสวนรา ลำไส้ปลวก ดินรังปลวก และดินที่ระยะห่างจากจอมปลวก 10 เมตร โดยวิธี Denaturing Gradient Gel Electrophoresis (DGGE) และ สำรวจชุมชนราในสวนราโดยวิธี Dilution Plating Method พร้อมทั้งตรวจสอบโครงสร้างสวนราและลำไส้ปลวกระดับอติจุลภาคภายใต้กล้องจุลทรรศน์ อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope; SEM) โดยเก็บตัวอย่างจากจังหวัดนครปฐม และราชบุรี ซึ่งเป็นปลวกสกุล Macrotermes sp.1 ผลการสำรวจประชากรราในสวนราโดยวิธี DGGE นอกจากพบรา Termitomyces แล้วยังพบรา 3 ชนิดในตัวอย่าง จังหวัดนครปฐม คาดว่าเป็นรา Tylophilus leucomycelinus, Glomus intraradices และ Scutellospora pellucida รา 5 ชนิดในตัวอย่าง จังหวัดราชบุรี คาดว่าเป็นรา Agaricaceae sp., Tylopilus leucomycelinus, Scutellospora pellucida, uncultured ectomycorrhiza (Basidiomycota) และ uncultured soil fungus clone 317_0222 ผล DGGE ยังแสดงถึงการพบดีเอ็นเอของเห็ดโคนในลำไส้ปลวกจากตัวอย่าง ทั้งสอง และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการพบรา Tylophilus leucomycelinus ซึ่งจัดเป็น Basidiomycetes และ Scutellospora pellucida ซึ่งจัดเป็น Arbuscular mycorrhizal fungi ในชุมชนราของตัวอย่างทั้งสองพื้นที่ ผลการสำรวจประชากรราในสวนราโดยวิธี Dilution Plating Method พบรา Penicillium sp. ในตัวอย่างนครปฐม และพบรา Aspergillus sp. ในตัวอย่างราชบุรีเป็นราส่วนใหญ่ ภาพถ่ายสวนราด้วยกล้อง SEM ไม่พบโครงสร้างของราชนิดอื่นในสวนรา จากการตรวจสอบด้วยวิธี DGGE และ Dilution Plating Method พบราหลายชนิด แสดงว่าปลวกมีวิธีการ ยับยั้งการงอกของสปอร์ราชนิดอื่น ซึ่งวิธีการยับยั้งมิให้ราแปลกปลอมมาเจริญได้นั้นอาจมาจากการกำจัดด้วยการกัดถอนเส้นใยแปลกปลอมออก โดยปลวก หรือสารหลั่งในน้ำลายและมูลของปลวกที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ภาพถ่าย SEM ภายในลำไส้ปลวกพบก้อนกลมจำนวนมากซึ่งมีโครงสร้าง และขนาดคล้าย primordia ที่อยู่บนสวนรา จากผล DGGE ซึ่งมีการพบดีเอ็นเอของเห็ดโคนในลำไส้ปลวกและผลภาพถ่าย SEM ซึ่งพบก้อนกลม ลักษณะคล้าย primordia ภายในลำไส้ปลวก จึงเป็นการสนับสนุนว่าปลวกกิน primordia