โปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์
จาก ChulaPedia
หัวข้อ การพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ตามทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา นาย ธานี เอิบอาบ ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาความต้องการการเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ 2)เพื่อพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ตามทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา 3)เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้โปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ที่พัฒนาขึ้น และ 4) เพื่อศึกษาปัจจัยและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการนำโปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ไปใช้ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุระหว่าง 9-11 ปี ในสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 15 คน และกลุ่มควบคุม 15 คน และกลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมของผู้วิจัย เครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการวิจัยนี้ประกอบด้วยโปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ แบบสัมภาษณ์ความต้องการการเรียนรู้ของเด็กในสถานสงเคราะห์ แบบวัดการคิดวิจารณญาณ แบบประเมินพฤติกรรมการคิดวิจารณญาณ และแบบสอบถามความพึงพอใจของเด็กในสถานสงเคราะห์ในกลุ่มทดลอง ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1.เด็กในสถานสงเคราะห์มีความต้องการการเรียนรู้ในหัวข้อปัญหาวัตถุนิยมและปัญหาภัยอินเตอร์เน็ต 2.โปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ ผู้เรียน ลักษณะของโปรแกรม กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และการประเมินผลโปรแกรม 3.หลังการเข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ คะแนนการคิดวิจารณญาณหลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าคะแนนการคิดวิจารณญาณก่อนการทดลองของกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 และคะแนนการคิดวิจารณญาณหลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าคะแนนการคิดวิจารณญาณหลังการทดลองของกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 4.ปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนำโปรแกรมเสริมสร้างการคิดวิจารณญาณสำหรับเด็กในสถานสงเคราะห์ไปใช้คือการสนับสนุนจากสถานสงเคราะห์ คุณสมบัติและลักษณะของผู้เรียนที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ บทบาทผู้สอนที่ช่วยผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อมที่ดี การมีความพร้อมและเพียงพอของวัสดุอุปกรณ์ เนื้อหาที่เป็นสถานการณ์ทั่วไปในชีวิตจริง และสื่อการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย กิตติกรรมประกาศ: งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยทุนอุดหนุนวิทยานิพนธ์สำหรับนิสิตจากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย