การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกกรณีศึกษาสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต
จาก ChulaPedia
บทนำ
จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีจังหวัดหนึ่งของประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับโลกโดยในปีหนึ่งๆ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนประมาณ 5-7 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจทั่วไปของจังหวัดจึงขึ้นอยู่กับธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นหลัก จังหวัดเองมีศักยภาพความพร้อมด้านการค้าและการลงทุน เกิดการลงทุนธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการเติบโตตามภาวะการขยายตัวของการท่องเที่ยว การลงทุนมากมายจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมเป็นจำนวนมาก มีการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามมาเพื่อรองรับงานงานก่อสร้างที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มโดยรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ต ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป ส่งผลต่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมในจังหวัดภูเก็ต และการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจการก่อสร้างนั้นมีการเติบโตเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการก่อสร้าง จึงทำให้เกิดคำถามในงานวิจัยว่าลักษณะของการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกที่จังหวัดภูเก็ตนั้นเป็นอย่างไร
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์ เพื่อรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต และเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต ระเบียบวิธีวิจัยใช้การสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานสถาปนิก โดยศึกษาสำนักงานสถาปนิกที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมและตั้งสำนักงานที่จังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานสถาปนิกนั้นต้องมีผู้บริหารที่เป็นสถาปนิกและถือสัญชาติไทยอย่างน้อย 1 คน และศึกษาเฉพาะสำนักงานที่ให้บริการการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นหลัก สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานสถาปนิกกลุ่มตัวอย่างได้ 21 แห่ง เครื่องมือในการวิจัยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างในการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแบ่งประเด็นหลักของแบบสัมภาษณ์เป็นดังนี้ ส่วนที่ 1 ข้อมูลผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ ส่วนที่ 2 ข้อมูลทั่วไปของสำนักงาน ส่วนที่ 3 การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิก ส่วนที่ 4 ปัญหาและอุปสรรค ส่วนที่ 5 ข้อเสนอแนะอื่นๆ โดยนำข้อมูลในประเด็นดังกล่าวที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์และสรุปผลการวิจัยต่อไป
สรุปข้อมูลการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต
ผู้วิจัยสามารถสรุปและวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
1. ข้อมูลผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ ผู้บริหารสำนักงานสถาปนิกส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน 18 ท่าน และมีเพศหญิง 3 ท่าน และผู้บริหารส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 30-40 ปี รองลงมาอยู่ในช่วง 41-50 ปี ภูมิลำเนาของผู้บริหารนั้น ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯและภาคกลาง จำนวน 7 ท่าน รองลงมา คือ จากภาคใต้ จำนวน 5 ท่าน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ จำนวน 4 ท่าน และมีภูมิลำเนาที่ภูเก็ตจำนวน 3 ท่าน และจากภาคเหนือ 1 ท่าน แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่มาจัดตั้งและเป็นผู้บริหารสำนักงานนั้นเป็นคนต่างจังหวัด พื้นฐานด้านการศึกษา ผู้บริหารส่วนใหญ่จบปริญญาตรีในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก แต่มี 1 ท่าน ที่จบปริญญาตรีในสาขาภูมิสถาปัตยกรรม และมีผู้บริหารจบการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 6 ท่าน ในเรื่องตำแหน่งการบริหารงานในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ผู้บริหาร 19 ท่าน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยมี 16 ท่านที่เป็นผู้ก่อสร้างสำนักงานมาตั้งแต่เริ่มต้น และมี 2 ท่านที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ จึงทำให้ตอบคำถามและให้ข้อมูลได้ในเชิงลึกมีความน่าเชื่อถือ
ด้านภูมิหลังการประกอบวิชาชีพนั้น ผู้บริหารสำนักงานสถาปนิกส่วนใหญ่ปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่จังหวัดภูเก็ตมาแล้ว 5-10 ปี และส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพสายงานสถาปัตยกรรม ก่อนออกมาก่อตั้งสำนักงานเป็นของตนเอง ส่วนประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมาแล้วน้อยกว่า 5 ปี แรงจูงใจในการมาปฏิบัติวิชาชีพที่จังหวัดภูเก็ตของผู้บริหาร โดยส่วนใหญ่เห็นว่าศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตเป็นแรงจูงใจในการมาทำงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและงานก่อสร้างที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีงานออกแบบตลอดเช่นกัน แรงจูงใจต่อมา คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูง เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีค่าครองชีพสูงและผลประโยชน์ค่าจ้างก็สูงด้วยจึงส่งผลกับการมาทำงานที่จังหวัดภูเก็ต
2. ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงาน ระยะเวลาดำเนินงานของสำนักงาน (จนถึง พ.ศ.2556) สำนักงานส่วนใหญ่มีระยะเวลาดำเนินงานน้อยกว่า 5 ปี ลำดับต่อมาซึ่งใกล้เคียงกันอยู่ในช่วง 5-9 ปี ระยะเวลาดำเนินงานสำนักงานที่น้อยที่สุด คือ 1 ปี และมากที่สุด คือ 16 ปี มีสำนักงาน 19 แห่งที่จดทะเบียนสำนักงาน และมี 2 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนสำนักงาน เรื่องแรงจูงใจในการก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าปัจจัยที่ทำให้จัดตั้งสำนักงานสถาปนิกขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการมีงานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์มีแนวทางของตนเอง และเพื่อรองรับงานที่เกิดขึ้น โดยมีงานเกิดขึ้นมากจึงต้องทำเป็นรูปแบบสำนักงาน จำนวนผู้บริหารที่ทำหน้าที่บริหารและดำเนินงานในสำนักงาน ส่วนใหญ่มีจำนวนมากกว่า 1 คน โดยมีสำนักงาน 6 แห่งที่มีผู้บริหารคนเดียว ทุกสำนักงานมีผู้บริหารที่เป็นสถาปนิก ส่วนใหญ่จำนวน 1-2 คน ขนาดของสำนักงานส่วนใหญ่เป็นสำนักงานขนาดเล็ก คือ มีบุคลากรรวม 5-10 คน ส่วนลักษณะกิจการของสำนักงานสถาปนิกกลุ่มตัวอย่างนั้น ส่วนใหญ่เป็นระบบผู้ถือหุ้นหลักกลุ่มเดียว และรองลงมาจะเป็นระบบเจ้าของคนเดียว
พบว่าชนิดงานที่ให้บริการในสำนักงานกลุ่มตัวอย่างนั้น ให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักทุกสำนักงาน และให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในด้วยถึง 20 แห่ง และมีสำนักงานที่ให้บริการในงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจำนวน 8 แห่ง และยังมี 2 แห่งที่ให้บริการออกแบบผังเมือง มีสำนักงาน 5 แห่ง ที่มีงานอื่นๆ ให้บริการร่วมด้วย เช่น การจัดนิทรรศการ การออกแบบและทำเฟอร์นิเจอร์ การเขียนแบบก่อสร้าง การออกแบบกราฟิก โดยสำนักงานส่วนใหญ่ จะให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักควบคู่ไปกับการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน และทุกสำนักงานให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักควบคู่ไปกับงานอื่น ไม่มีสำนักงานใดให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักเพียงอย่างเดียว ในเรื่องขอบเขตงานที่รับผิดชอบในการให้บริการของสำนักงานนั้น ทุกสำนักงานให้บริการการออกแบบโครงการเป็นหลัก และส่วนใหญ่มีการศึกษาโครงการควบคู่ไปด้วย
ประเภทงานออกแบบของสำนักงานกลุ่มตัวอย่าง 3 อันดับแรก ที่สำนักงานส่วนใหญ่เคยให้บริการและออกแบบในปัจจุบันเป็น 1.งานออกแบบบ้านพักอาศัย 2.งานออกแบบรีสอร์ทหรือโรงแรม 3.งานออกแบบคอนโดมิเนียมหรือ อพาร์ทเมนท์ ขนาดของโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก เป็นงานบ้านพักอาศัย รีสอร์ทขนาดเล็ก รองลงมาเป็นโครงการขนาดกลาง เป็นงานรีสอร์ทและโรงแรม และโครงการขนาดใหญ่ เป็นงานคอนโดมิเนียม ส่วนโครงการขนาดใหญ่พิเศษจะมีไม่มากนัก พื้นที่ตั้งโครงการของงานในปัจจุบันนั้น ทุกสำนักงานมีงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต และในต่างจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงรองลงมา
3. การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิก
1) สภาพกายภาพและการเข้าถึงที่ตั้งของสำนักงาน จากการวิจัยพบว่าเรื่องสภาพกายภาพของสำนักงาน รูปแบบภายนอกสำนักงาน ห้องรับแขก ห้องประชุมนั้น มีผลต่อการให้บริการลูกค้า โดยแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของสำนักงาน เป็นภาพลักษณ์ของสำนักงาน ทำให้เห็นแนวทางการออกแบบของสำนักงานไปพร้อมกัน และเป็นการสร้างความประทับใจแรก ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกของลูกค้าและความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจของลูกค้าเวลาพบกันครั้งแรก การเข้าถึงที่ตั้งของสำนักงานมีผลต่อการให้บริการลูกค้า โดยการเข้าถึงที่ตั้งที่สะดวกกับลูกค้า มีความสะดวกสบายในการนัดประชุม ถ้าสำนักงานตั้งอยู่ใจกลางเมืองหรือที่ตั้งที่เด่นชัดสามารถเห็นได้ง่ายนั้น และสำนักงานมีความโดดเด่นออกแบบมีเอกลักษณ์จะสามารถทำให้มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นได้ สามารถแบ่งเรื่องที่ตั้งการเข้าถึงสำนักงานและลักษณะกายภาพของสำนักงาน ได้ดังนี้
ตารางที่ 1 ตารางสรุปการเข้าถึงสำนักงานและลักษณะกายภาพของสำนักงาน ไฟล์:E:\M.Arch\สมัครทุน\chulapedia\ตาราง 1.jpg