สุขภาพของนักบริหาร

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 07:13, 27 เมษายน 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น


เนื้อหา

สุขภาพ

คือ ของขวัญอันล้ำค่าที่สุดของคนเรา” (Health is the most precious of gift!) ซึ่งทุกคนควรรู้จักหวงแหนและดูแลสุขภาพอยู่เสมอ ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงพระราชทานให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2522 ความว่า ....การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย เป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่มั่นคง เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจแข็งแรงด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้วย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระของสังคมด้วย คือ เป็นแต่ผู้สร้าง มิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ....


ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพกายและสุขภาพจิต

สุขภาพกาย (Physical Health) เป็นสภาวะร่างกายของบุคคลที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมกับวัย มีความแข็งแรงและสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและพิการ รวมทั้งมีความต้านทานโรคได้ดี สำหรับสุขภาพทางจิต (Mental Health) นั้นเป็นความสามารถของบุคคลในการปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และสถานการณ์ที่จะมาถึง รวมทั้งความสามารถที่จะคิดและตัดสินใจได้อย่างสร้างสรรค์และถูกต้อง (Butler, 2001, p.7) ดังนั้น การที่บุคคลจะมีสุขภาพดีนั้น จึงควรที่จะรู้จักและเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ดี และมีความสามารถในการเผชิญความจริงในชีวิตได้ดีอีกด้วย


โดยธรรมชาติแล้วคนเรามีความต้องการทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม เมื่อใดก็ตามที่เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ ชีวิตของเราก็จะเริ่มมีปัญหา หากเกิดการเจ็บป่วยเราก็จะเริ่มรู้สึกวิตกกังวล ทีความทุกข์ หรือถ้าเราไม่สามารถปรับตัวได้ในสังคม เราก็จะรู้สึกไม่มีความสุข การที่คนเราจะมีความสุขสมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นบุคคลจำเป็นต้องมีสุขภาพกายและจิตที่ดีประกอบเช้าด้วยกันอย่างเหมาะสม จะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เนื่องจากกายและจิตมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าร่างกายจะเป็นรูปธรรมที่ทุกคนมองเห็นและสัมผัสได้ แต่จิตเป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้ก็ตาม ถ้าหากร่างกายมีความผิดปกติ จิตก็ย่อมจะเศร้าหมอง เกิดความตึงเครียดหรือเป็นทุกข์ไปด้วย พฤติกรรมทางกายจึงมีผลกระทบต่อจิตได้เสมอ หรือหากว่าบุคคลทำงานประสบความสำเร็จในชิ้นใดชิ้นงานหนึ่งเท่านั้นก็ตาม ความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นสุขใจก็บังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉงกระปรี้กระเปร่าเคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไวขึ้นกว่าปกติ


สุขภาพกายและสุขภาพจิต จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนยากที่จะแยกออกจากกันได้ สมดังคำกล่าวของสุภาษิตโรมันที่ว่า “Mens sana in corpore sano” หรือ “A health mind in a health body” หรือ “จิตใจที่มีสุขภาพดี ย่อมอยู่ในร่างกายที่มีสุขภาพดี” (สุชาติ โสมประยูร, 2528, น.6)


ปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกายของผู้บริหาร

ปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญที่สุดของผู้บริหาร ได้แก่ “ความเครียด” ซึ่งมีผลกระทบมาจากสิ่งเร้าหรือสภาพแวดล้อมในการบริหารทั้งงานและคน ความเครียดที่เกิดขึ้น หากไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ในทางจิตวิทยานับว่าเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นได้ในบุคคลทั่วไป เป็นความเครียดที่มีลักษณะเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งของคนเรา ทำให้รู้จักกระตือรือร้น ขวนขวายและรีบจัดการภาระต่างๆให้ลุล่วงไปได้โดยไม่ล่าช้าจนเกินไป แต่ถ้าหากว่าอาการของความเครียดเกิดขึ้นในระดับรุนแรงมากขึ้น เกิดขึ้นบ่อยและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน ย่อมส่งผลต่อสุขภาพทางจิตและสุขภาพทางกาย


การพัฒนาสุขภาพจิตและสุขภาพกายของนักบริหาร

1. การจัดสภาพแวดล้อมหรือสภาพการทำงาน

ควรจัดสภาพแวดล้อม บรรยากาศในองค์กร หรือสภาพการทำงานของผู้บริหารที่เอื้อต่อการบริหารงาน ซึ่งจะทำให้การบริหารงานหรือปฏิบัติงานมีความสะดวก คล่องตัว ทำงานได้อย่างรวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์ต่อหน่วยงาน สภาพแวดล้อมหรือสภาพการทำงานที่เหมาะสมและเอื้อต่อการทำงาน ได้แก่ การจัดห้องพัก การจัดโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับใช้นั่งให้เหมาะสมกับสรีระทางร่างกาย การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องอุปกรณ์ เครื่องใช้ในการทำงาน สื่ออิเล็คทรอนิคส์เพื่อการติดต่อประสานงาน เช่น โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรจัดให้มีผู้ช่วยหรือเลขานุการ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานอีกด้วย


2. การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้บริหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมหรือพัฒนาสุขภาพของนักบริหารแล้ว ยังช่วยให้เกิดการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานของหน่วยงานอีกด้วย กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่จัดขึ้นควรมีดังนี้

1.กิจกรรมสายสัมพันธ์ เป็นการจัดกิจกรรมสายสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารในหน่วยงานและนอกหน่วยงาน ได้แก่ การพบปะ พูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการและอาจมีการรับประทานอาหารร่วมกันหรือไปท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารมีโอกาสเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิด และปรึกษาหารือกันได้ทั้งในเรื่องทั่วๆไปและเรื่องปฏิบัติงาน

2.กิจกรรมการออกกำลัง ควรมีการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาร่วมกัน ซึ่งสามารถจัดให้กับกลุ่มผู้บริหารและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานร่วมกันได้ โดยอาจจะจัดทุกวันหรือสัปดาห์ละ 2 –3 ครั้ง ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสพูดคุยกัน ได้เรียนรู้หรือเข้าใจซึ่งกันและกัน อันจะมีประโยชน์ต่อการทำงาน

3.กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ การจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ จะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้กับผู้บริหารได้และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมได้ทั้งในกลุ่มผู้บริหารในหน่วยงานและนอกหน่วยงานก็ได้ ตัวอย่างกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ผู้บริหารต้านภัยยาเสพติด จัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น

4.กิจกรรมการป้องกันโรค ควรจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพหรือตรวจร่างกายประจำปีสำหรับผู้บริหาร โดยจัดบุคลากรทางการแพทย์มาให้บริการกับผู้บริหารในหน่วยงาน เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา


3. การเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์

การเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางด้านการบริหารงานและการดูแลสุขภาพ จะมีส่วนช่วยพัฒนาสุขภาพของผู้บริหารได้ เนื่องจากจะช่วยสร้างความมั่นใจหรือความเชื่อมั่นให้กับผู้บริหาร และวิสัยทัศน์ที่ดีในการเป็นผู้บริหารงาน รวมทั้งให้ผู้บริหารรู้จักวิธีการดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องอีกด้วย ซึ่งการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์นี้ อาจจะทำได้โดยการเข้ารับการอบรม เข้าร่วมการประชุม/สัมมนา หรือการศึกษาดูงาน ทั้งในและต่างประเทศ


หลักการปฏิบัติเพื่อสุขภาพดี

เพื่อการมีสุขภาพที่ดีทั้งทางใจและทางกายนั้น ผู้บริหารควรมีหลักปฏิบัติโดยใช้ “5อ” ดังต่อไปนี้

อ1อาหาร

โดยทั่วไป ผู้บริหารมักมี “ความเครียด” ซึ่งหากเกิดความเครียดขึ้น ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมอาหารได้ตามปกติ กล่าวคือ การดูดซึมของแคลเซียมในอาหารจะลดลง แต่สารอาหารบางอย่างจะถูกขับออกมามากขึ้น ได้แก่ โปรแตสเซียม สังกะสี ทองแดง และแมกนีเซียม ดังนั้นจึงควรบริโภคอาหารที่มีแคลเซียม สังกะสี โปรแตสเซียม ทองแดงและแมงกานีสให้เพียงพอ เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ ข้าว ถั่วต่างๆ เครื่องดื่มจำพวกถั่วเหลืองและน้ำ นอกจากนี้ยังควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ เนื่องจากร่างกายอาจจะนำโปรตีนมาใช้ โดยเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดมากขึ้นหากมีภาวะความเครียดสูง


สำหรับการตอบสนองต่อความเครียดในแต่ละบุคคลนั้นจะมีลักษณะแตกต่างกัน ในระดับความเครียดบางระดับจะทำให้เบื่ออาหาร แต่มีจำนวนบุคคลจำนวนมากที่มีระดับความเครียดหรือความวิตกกังวลสูงจะหันมารับประทานหรือมีความอยากอาหาร เพื่อทดแทนหรือให้เกิดความสบายใจขึ้น โดยมักจะรับประทานอาหารที่ทำจากแป้งและน้ำตาล ซึ่งมีผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้


อ2 อารมณ์

อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่แทรกอยู่ในทุกการกระทำ หรือทุกพฤติกรรมที่คนเราแสดงออกมาในชีวิตประจำวัน เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ กลัว วิตกกังวล อิจฉาริษยา ฯลฯ การมีอารมณ์เป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคนและเป็นความรู้สึกธรรมดาที่คนแสดงออกมา การแสดงออกที่เหมาะสมจะเป็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์ได้ดี สำหรับผู้บริหารซึ่งมักได้รับผลกระทบจากการบริหารงานหรือการกระทำของบุคคลรอบข้าง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ จะทำให้เกิด “ภาวะความเครียด” ได้ง่าย “การควบคุมอารมณ์” และการแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อมี “อารมณ์” เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถบริหารทั้งงานและคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อ3 ออกกำลังกาย

สำหรับผู้บริหารซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ต้องมีภาระหนักทั้งการทำงานในบ้าน และนอกบ้าน ประกอบกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมลง จำเป็นต้องออกกกำลังกาย หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถเล่นกีฬา ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise) กระทำกิจกรรมทางกายเพียงหนักปานกลางหรือบริหารร่างกายก็ได้


การเล่นกีฬา ควรเล่นกีฬาที่ชื่นชอบหรือมีความถนัด เช่น เทนนิส ว่ายน้ำ บาสเกตบอล ปิงปอง กอล์ฟ ฯลฯ ซึ่งต้องคำนึงถึงสุขภาพและความพร้อมของร่างกาย โดยไม่ควรเล่นหนักหรือหักโหมจนเกินไป


การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ปอดและหัวใจแข็งแรงทนทานได้ เนื่องจากแอโรบิกเป็นขบวนการที่ทำให้ร่างกายได้ใช้ออกซิเจนมากที่สุดเท่าที่ร่างกายจะใช้ได้ในเวลาที่กำหนด สิ่งสำคัญ คือ จะต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องไม่หักโหมจนเกินไป ซึ่งจะเป็นการออกกำลังกายชนิดใดก็ได้ที่ไม่หนักเกินไป และทำด้วยใจรัก ใจที่เป็นสุข ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ สำหรับ “การเดิน” ให้เดินเร็วจะเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่วัยกลางคนและวัยสูงอายุ


กิจกรรมทางกายที่หนักปานกลาง เช่น การพรวนดิน การขุดดิน การเช็ดถูปัดกวาด การล้างรถ การเช็ดกระจก ฯลฯ


ในเรื่องการบริหารต่างๆ นั้น สามารถกระทำได้ทั้งบริหารร่างกาย และบริหารจิตซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหว การบริหารกาย อาจใช้การบริหารกายทั่วไป การรำมวยจีน การฝึกโยคะก็ได้ สำหรับการบริหารร่างกายและจิตนั้น ผู้บริหารสามารถทำได้โดยการบริหารดวงตา ใบหน้า ลำคอ หัวไหล่ ข้อมือ หน้าอก เอว หัวเข่า น่อง ขาและข้อเท้า พร้อมกันนี้ให้บริหารจิต โดยการทำจิตให้นิ่ง แล้วฝึกหายใจเข้า – ออก ทั้งนี้สามารถบริหารได้ทั้งอิริยาบถนั่ง ยืน เดินและนอน


อ4 ออกแบบ

การออกแบบ คือ การวางแผนหรือออกแบบการ “บริหารเวลา” ในการทำงานหรือการปฏิบัติภารกิจและการพักผ่อน ผู้บริหารงานจำเป็นต้องรู้จักบริหารเวลา ดังนี้

1. การวางแผนการทำงาน /กิจกรรม ควรวางแผนการทำงาน และจัดตารางการทำงานหรือทำกิจกรรมในระยะสั้นและระยะยาว วางแผนการทำงานหรือปฏิบัติภาระกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยใช้เวลาราว 5 – 10 นาที ก่อนนอนทุกคืน ทบทวนสิ่งที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้นหรือวันถัดไป ทั้งนี้ควรจัดลำดับตามความสำคัญของงานและลักษณะงานที่ทำยากหรือง่ายด้วย

2. บันทึกแผนการทำงาน เมื่อวางแผนการทำงานแล้ว ควรบันทึกแผนการทำงานหรือปฏิบัติงานนั้นๆ อาจจะบันทึกลงในสมุดบันทึกเล็กๆ หรือในเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิคส์ก็ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูล และส่งสัญญาณเสียงเตือนได้

3. ปฏิบัติตามแผน ควรปฏิบัติตามตารางหรือแผนการทำงานที่ตนเองได้วางไว้ ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้บ้าง หากมีความจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถปรับเปลี่ยนตารางการทำงานได้ นอกจากนี้ผู้บริหารควรมีความรู้สึกสนุกกับการทำงาน เนื่องจากภาระงานมีจำนวนมากและหลายงานเป็นงานเร่งด่วน จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด จะทำให้ผู้บริหารเกิดความเครียด วิตกกังวลได้ ความรู้สึกสนุกกับงานหรือมีความสุขกับการทำงาน จะสามารถทำงานได้ทุกขณะ และไม่รู้สึกว่างานเป็น “ภาระ”


อ5 เอนกาย

หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากการปฏิบัติภารกิจในแต่ละวันหรือครึ่งวัน ในช่วงเวลาพัก ผู้บริหารจำเป็นต้องพัก อาจจะนั่งพักหรือนอนพักสักครู่ ในลักษณะพักกาย พักจิตก็ได้ โดยพักแบบ “ปล่อยวาง” ทำใจให้นิ่ง สลัดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ออกไป และหลับตาพักราว 5 – 15 นาที ส่วนการพักหลับนอนในเวลากลางคืน ก็ควรนอนพักอย่างน้อยคืนละ 6 – 7 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าเมื่อตื่นนอน นอกจากนี้ยังสามารถพักผ่อน หรือเอนกาย โดยนอนเล่นอยู่กับบ้านก็ได้


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนษ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว