การคงอยู่ของภาพลักษณ์
จาก ChulaPedia
การที่ประชาชนจะมีความรู้สึกนึกคิดต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือการที่ประเทศหนึ่งจะมีภาพลักษณ์อย่างไรในความคิดของประชาชนนั้นส่วนมากจะได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ ซึ่งสื่อมักจะมีส่วนอย่างมากในการทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหรือมีภาพในใจเกี่ยวกับประเทศนั้นในเชิงบวกหรือลบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ประชาชนที่ยังไม่มีประสบการณ์ตรงกับประเทศนั้นๆ เช่น ไม่เคยไปประเทศนั้นมาก่อน หรือไม่เคยพบกับคนจากประเทศนั้น เป็นต้น
อย่างในกรณีภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเพศ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 1970 ในสมัยหลังสงครามเวียดนาม แม้ว่าประเทศไทยจะได้พยายามแก้ไขภาพลักษณ์ดังกล่าวด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย เช่น การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และการออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณี แต่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ปรากฏในสื่อต่างชาติก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไรนัก การเชื่อมโยงประเทศไทยกับการเป็นแหล่งหาความสุขทางเพศก็ยังคงปรากฏอยู่เสมอในสื่อต่างชาติ จนทำให้ภาพลักษณ์ใหม่ๆ ที่ประเทศไทยพยายามสร้างขึ้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในความคิดของชาวต่างชาติ ซึ่งบทความนี้จะเรียกว่าสถานการณ์นี้ว่า “การคงอยู่ของภาพลักษณ์”
การที่ภาพลักษณ์จะคงอยู่ได้นานเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์จากภาพลักษณ์นั้น มากเพียงใด โดยผลประโยชน์ที่ได้รับในบางครั้งก็อยู่ในรูปตัวเงิน เช่นการเสนอภาพลักษณ์ที่น่าตื่นเต้นหวือหวาจะเรียกร้องความสนใจจากคนดูง่ายกว่า และสามารถดึงดูดโฆษณาได้มากขึ้น แต่ในบางครั้งก็อยู่ในรูปการเมือง ซึ่งได้แก่ การที่ผู้เสพสื่อที่เป็นชาวตะวันตกเสพสื่อแล้วรู้สึกว่าตนมีอำนาจเหนือคนอีกชนชาติหนึ่ง โดยที่ผู้คนที่ตกเป็นข่าวมีอำนาจด้อยกว่าในการที่จะต่อสู้เพื่อการสะท้อนภาพที่ถูกต้องของตนออกมาในสื่อ
การศึกษาในครั้งนี้จึงมุ่งที่จะสร้างความเข้าใจการคงอยู่ของภาพลักษณ์ ตลอดจนทราบถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ปรากฏในสื่อตะวันตก
ระเบียบวิธีวิจัย วิธีการที่ใช้ในการสืบหาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสื่อตะวันตกคือการจำลองสถานการณ์ และเล่นบทบาทสมมติของนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง โดยการจำลองสถานการณ์เริ่มจากเหตุการณ์ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปีปลาย พ.ศ. 2547 ซึ่งทำให้ประเทศไทยถูกกล่าวถึงอย่างมากในสื่อต่างชาติ
ผู้วิจัยให้สื่ออังกฤษเป็นตัวแทนสื่อตะวันตกเนื่องจากตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวนสูงกว่านักท่องเที่ยวจากชาติยุโรปอื่นๆ และชาวอังกฤษมียอดเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิสูงที่สุดในบรรดาชาติตะวันตกทั้งหมด
ในช่วงเหตุการณ์สึนามิสื่อในประเทศอังกฤษได้ออกข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างมากจนทำให้เกิดกระแสสนใจประเทศไทยมากขึ้นในหมู่ประชาชนชาวอังกฤษ โดยเนื้อความได้รายงานว่าการท่องเที่ยวจะช่วยทำให้ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ และคนในท้องถิ่นมีอาชีพที่ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติเร็วขึ้น
จากการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยด้วยความถี่สูงของสื่ออังกฤษ ผู้วิจัยสมมติต่อไปว่ามีชายอังกฤษคนหนึ่งได้รับข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิแล้วเกิดความเห็นใจผู้คนในประเทศไทยที่ต้องประสบความทุกข์ยากต่างๆ และหวังว่าการท่องเที่ยวจะทำให้สภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยเร็วตามที่นักข่าวได้รายงาน โดยเขามีภาพลักษณ์ของประเทศไทยแบบกว้างๆ อยู่บ้างแล้ว ซึ่งเกิดจากสิ่งที่สื่ออังกฤษได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยมาแล้วก่อนหน้านี้จากสารคดี และการรายงานข่าว เป็นต้น และจากนั้นชายคนนี้ก็สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยเพิ่มเติมเพื่อการเตรียมตัวท่องเที่ยว ซึ่งการกระทำนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเชิงการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในใจของเขา
การสำรวจภาพลักษณ์ ที่ชายคนนี้มีเกี่ยวกับประเทศไทยทำโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยู่ในสื่ออังกฤษ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองขั้นได้แก่ ขั้นที่หนึ่งคือการเปิดรับสื่อในฐานะประชาชนทั่วไป ซึ่งได้แก่ สื่อกระแสหลัก เช่น สื่อกระจายเสียง และสื่อหนังสือพิมพ์ โดยผู้วิจัยได้ใช้คำว่า “Thailand” เป็นคำค้นหาในฐานข้อมูลของ BBC และ The Sun ระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2547 จากนั้นจึงไปหาเทปวีดิทัศน์ที่บันทึกการเผยแพร่ในครั้งนั้น และหนังสือพิมพ์ฉบับที่ตีพิมพ์ข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทย สาเหตุที่เลือก BBC และ The Sun เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการวิจัยในครั้งนี้เนื่องจากเป็นสื่อที่มีอัตราการเข้าถึงประชาชนชาวอังกฤษในระดับสูง
ขั้นที่สองคือภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเชิงการท่องเที่ยวได้มาจาก หนังสือคู่มือ และเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวประเทศไทยที่นำมาวิเคราะห์ ได้แก่ Thomas cook, Lonely Planet, และ Kuoni ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวที่มียอดขายในระดับสูงและมีความน่าเชื่อถือในมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ส่วนเว็บไซต์ที่นำมาวิเคราะห์ได้คัดเลือกมาจากการค้นหาด้วยเสิร์ชเอ็นจิ้นของเว็บไซต์ Google ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทโดยผู้วิจัยได้ใช้คำค้นหาว่า “Thailand” และเว็บไซต์ที่ปรากฏเป็นห้าอันดับแรกจะถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อทราบถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่สะท้อนออกมาจากเว็บไซต์เหล่านั้น
อย่างไรก็ดีการวิจัยนี้มีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ซ้ำ เนื่องจากการใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเป็นเครื่องมือต้องอาศัยวิจารณญาณของปัจเจกบุคคลในการวิเคราะห์ ดังนั้นผลจากการวิเคราะห์เนื้อหาจึงอาจไม่เหมือนเดิมหากเนื้อหาเดียวกันนี้ถูกวิเคราะห์โดยนักวิจัยท่านอื่น
การทบทวนวรรณกรรม
แนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางเพศ คำนิยามการท่องเที่ยวทางเพศของ Opperman (1999, p.252) ได้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยเพื่อระบุว่าการกระทำใดถือว่าเป็นการท่องเที่ยวทางเพศ โดย Opperman ได้นิยามการท่องเที่ยวทางเพศไว้อย่างครอบคลุมว่าการท่องเที่ยวทางเพศคือการเดินทางที่นำไปสู่การมีความสัมพันธ์ทางเพศ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความจงใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศหรือไม่ก็ได้ ความสัมพันธ์นั้นจะยาวนานหรือไม่ก็ได้ และจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ได้
ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อทำธุรกิจอาจถูกจัดประเภทเป็นนักท่องเที่ยวทางเพศได้หากในระหว่างการเดินทางนั้นเขาได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้คนในประเทศที่เขาเดินทางไป (Hanson 1997; Ryan and Kinder 1996)
ประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวทางเพศของประเทศไทย การค้าประเวณีในโลกซึ่งรวมถึงในประเทศไทยมักเกิดขึ้นจากพื้นฐานโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยผู้ชายถูกมองว่าเป็นเพศที่เหนือกว่าทางสังคม ชายสามารถมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคนได้ และการซื้อบริการจากโสเภณีถูกเชื่อว่าทำให้ผู้หญิงทั่วไปปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศของผู้ชาย โดยเพศชายได้รับการยอมรับจากคนในสังคมส่วนใหญ่ว่าเป็นเพศที่มีความต้องการทางเพศมากกว่าเพศหญิง และมีสิทธิที่จะแสดงความต้องการดังกล่าวได้มากกว่าเพศหญิง และด้วยพื้นฐานความเชื่อเหล่านี้ทำให้การเที่ยวโสเภณีนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับสังคมไทยมานานมากก่อนการเริ่มต้นมีการเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเสียอีก (Kukanya 1983 quoted in Askew 2002, p.257)
สำหรับการค้าประเวณีให้กับชาวต่างชาตินั้นได้เริ่มต้นเมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยชาวจีนเป็นเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เป็นลูกค้าของการค้าประเวณีสำหรับชาวต่างชาติ และในระยะหลังเมื่อเกิดสงครามเวียดนาม ได้มีทหารอเมริกันเข้ามาในอินโดจีนมากขึ้น และไทยได้เสนอตัวว่าจะเป็นแหล่งพักผ่อนของทหารอเมริกันเมื่อว่างเว้นจากการรบ โดยการเป็น “แหล่งพักผ่อนสำหรับทหารอเมริกัน” ทำให้การค้าประเวณีสำหรับชาวตะวันตกมีความชัดเจนมากขึ้น
ในสมัยนั้นรัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลเผด็จการ กลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเป็นเจ้าของกิจการหลักๆ ของประเทศ ซึ่งรวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องการการท่องเที่ยวด้วย โครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยว เช่นสายการบิน โรงแรม และสถานบันเทิงต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลานั้น โดยเจ้าของกิจการส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในสมัยนั้น การให้ประเทศไทยเป็นสถานที่พักผ่อนของทหารอเมริกัน และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มคนเหล่านี้เป็นอย่างมาก (Truong 1990, p.160; Enloe 2001, p.35)
ในปี ค.ศ. 1970 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาเมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง และเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกใน นำไปสู่สภาวะอุปทานส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จนทำให้เจ้าของกิจการต่างๆ เช่น สายการบิน สถานบันเทิง และโรงแรมต่างๆ ต้องนำใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อให้กิจการของตนอยู่รอด เช่น การใช้ภาพผู้หญิงเป็นจุดจูงใจในการโฆษณา การลดเวลาขั้นต่ำในการให้เช่าห้องพัก จากหนึ่งคืนเป็นสามชั่วโมง และเก็บค่าเช่าห้องในราคาที่ถูกลง โดยลูกค้าที่เช่าห้องระยะสั้นแบบนี้มักใช้ห้องในการร่วมประเวณีกับหญิงบริการ ในขณะที่โรงแรมขนาดใหญ่บางแห่งก็มีการแนะนำสถานที่ที่มีการขายประเวณีให้กับผู้มาพักเป็นต้น การปรับตัวของโรงแรมเช่นนี้นับเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมทางเพศที่สำคัญ โดยทำให้หญิงขายบริการมีสถานที่ในการให้บริการได้สะดวกขึ้น และผู้ใช้บริการก็สามารถเช่าสถานที่ร่วมประเวณีได้ในราคาถูกลง
ในช่วงนั้นกรุงเทพมีสถานบันเทิงที่จดทะเบียนมากกว่าหนึ่งพันแห่ง และมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นอาบอบนวด อะโกโก้บาร์ และโรงน้ำชา ซึ่งให้บริการที่หลากหลายรูปแบบจนกรุงเทพถูกขนานนามว่าเป็น sex capital, erotic theme park, sexual supermarket (Askew 2002, p.251)
เพื่อบรรเทาสถานการณ์อุปทานส่วนเกินของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ยังคงดำเนินต่อไป รัฐบาลต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนัก กลยุทธ์ที่นำมาใช้เน้นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งนับว่ากลยุทธ์ที่ใช้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเมื่อดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมีมากขึ้น และรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจนแซงหน้ารายได้ที่ได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก
ในช่วงปี ค.ศ. 1975-1985 สัดส่วนของนักท่องเที่ยวชายต่อหญิงที่เข้ามาในประเทศไทยเปลี่ยนจาก 2 ต่อ 1 เป็น 3 ต่อ 1 และมีการเพิ่มจำนวนของสถานบันเทิงทางเพศอย่างมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชายเหล่านี้ โดยสถานบันเทิงเหล่านี้พบได้ทั้งในกรุงเทพ เช่น ถนนพัฒน์พงษ์ ซอยธนิยะ ซอยคาวบอย และย่านนานา เป็นต้น และเมืองท่องเที่ยวในต่างจังหวัด เช่น พัทยาในจังหวัดชลบุรี และป่าตองในจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น (Meyer 1988 quoted in Askew 2002)
เนื่องจากการที่ประเทศไทยยังไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ นอกจากการท่องเที่ยวทางเพศทำให้สถานบันเทิงทางเพศของไทยจึงเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวพบเห็นได้ชัดเจนที่สุด และส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศถูกเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวทางเพศอย่างมาก จนในปี 1993 พจนานุกรม Longman ให้ความหมายของประเทศว่าเป็น ‘place of prostitutes’ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับชนชั้นผู้นำของไทย (Askew 2002: p.252)
แนวคิดจักรวรรดินิยมทางสื่อ (Media imperialism) และแนวคิดเรื่องผู้อื่น (The Others)
การจะแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศไทยมีความยากลำบากมาก เนื่องจากสื่อตะวันตกซึ่งมีอำนาจมากในสังคมโลกมีแนวโน้มที่จะมองชนชาติอื่นๆ ด้อยกว่าอยู่เสมอ และมักสร้างความแปลก (Exoticize) ให้กับชนชาติอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสิ่งที่ตนต้องการนำเสนอ โดยชนชาติอื่นๆ ไม่สามารถนำเสนอเรื่องราวของตนเองให้ประชาคมโลกได้รับรู้อย่างเท่าเทียม เนื่องจากโครงสร้างสื่อของโลกอยู่ภายใต้อำนาจของชาติตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่ (Mohammadi 1995)
หลักฐานที่สนับสนุนให้เห็นว่า สื่อตะวันตกมองประเทศไทยผ่านภาพลักษณ์เฉพาะอย่าง สามารถพบได้ในแนวคิดเรื่อง ความเป็นตะวันออก (Orientalism) อันเป็นทัศนะที่สำคัญต่อการรับรู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในตะวันออก ทั้งนี้ เนื่องจากชาวตะวันตกได้กำหนดความเป็นตะวันออกผ่านวาทกรรมทางอำนาจ (discourses of power) จึงทำให้ภาพดังกล่าว มิได้สะท้อนความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่จริงทั้งหมด หากแต่เกิดจากวาทกรรมที่ยุโรปเป็นผู้กำหนด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเป็นตะวันออกหรือภาพในใจเกี่ยวกับตะวันออกเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นผ่านทางระบบจักรวรรดินิยม และการแบ่งแย่งเชื้อชาติ (Baker 2000)
“The Orient was almost a European invention, and had been since antiquity a place of romance, exotic beings, haunting memories and landscapes, remarkable experiences...Orientalism was a discourse by which politically, sociologically, militarily, ideologically, scientifically and imaginatively during the post-Enlightenment period” (Said 2003: p.1-3)
นอกจากนี้ Baker ยังกล่าวถึงตัวอย่างของการที่สื่อตะวันตกมองชนชาติอื่นๆ ด้อยกว่าสามารถพบได้จาก การแสดงทัศนคติผ่านการมองชนชาติอื่นแบบเหมารวม (Stereotyped representations) ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงปีค.ศ. 1980 – ค.ศ. 1990 อาทิ คนผิวดำมักถูกรายงานผ่านสื่อประเภทข่าวว่าเป็นผู้สร้างปัญหาอยู่เรื่อยๆ รายการตลกที่ใช้คนชนชาติอื่นๆ เป็นมุขตลกโดยให้ภาพรวมว่า คนต่างชนชาติเป็นตัวตลกเพราะพวกเขาพูดสำเนียงตลก เป็นต้น (Medhurst: 1989) การมองแบบเหมารวมนี้เอง ที่เป็นการกำหนดสัญลักษณ์และขีดเส้นแบ่งระหว่าง ‘คนปกติ’ กับ ‘คนที่เบี่ยงเบน’ แบ่งความเป็น ‘คนใน’ กับ ‘คนนอก’ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการแบ่ง ‘เขา’ กับ ‘เรา’ (Hall 1997: p.258) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าว มิได้สัมพันธ์กันแบบสงบสุข แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีลำดับชั้นรุนแรง (Derrida 1972)
การนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล ความบันเทิง ที่แฝงไว้ด้วยแนวคิดดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงการรักษาชนชั้นทางสังคม โดยแสดงให้เห็นว่า โครงสร้างอำนาจทางด้านชนชั้น เป็นเรื่องธรรมชาติ ผู้ที่เห็นด้วยกับค่านิยมดังกล่าว จะเป็นคนปกติ และผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะถูกผลักให้เป็นคนที่เบี่ยงเบนทันที (กาญจนา 2003) ซึ่งกระบวนการ “ทำให้เรื่องที่ไม่น่าปกติให้กลายเป็นเรื่องปกติเพราะใครๆ ก็ทราบกันดีอยู่แล้ว” นี้ จัดเป็นการครอบครองความเป็นเจ้าทางอุดมการณ์ Hegemony อย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในสื่อมวลชน
หากพิจารณาวาทกรรมด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ จะพบว่า สื่อส่วนใหญ่ต้องอาศัยรายได้จากการโฆษณา ทำให้สื่อต้องกังวลกับเรตติ้ง และยอดผู้อ่าน สื่อต่างๆ จะมีแนวโน้มที่จะนำเสนอเรื่องราวที่หวือหวาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ชม นอกจากนี้สื่อยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์อย่างเจาะลึกแล้วจะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกผิด หรือไม่สบายใจในฐานะที่เป็นผู้ซื้อประเวณี หรือการที่มีส่วนทำให้เกิดการค้าประเวณี (Herman and McCheney 1997, p.193)
ภาพลักษณ์ของไทยในสื่ออังกฤษ
ความหมายของสื่ออังกฤษสำหรับงานวิจัยนี้คือสื่อที่ชาวอังกฤษสามารถเข้าถึงได้ และเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่คำนึงถึงว่านายทุนจากชาติใดจะเป็นเจ้าของสื่อนั้น
ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสื่ออังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 มีความเชื่อมโยงกับเรื่องทางเพศอย่างมาก โดยเริ่มจากการกล่าวถึงกรุงเทพในเพลง One night in Bangkok ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น โดยเนื้อเพลงกล่าวว่านักท่องเที่ยวสามารถพบสถานบันเทิงทางเพศ และสามารถซื้อบริการจากหญิงขายบริการได้ทั่วไป
One night in Bangkok and the word’s your oysters, The bars are temples, but the girls ain’t free, You’ll find a God in every golden oyster, And if you’re lucky then the God’s She, I can feel an Angel slidin’ next to me.
ในปี 1993 นิตยสาร Times รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าประเวณีของโลก ทางนิตยสารได้เลือกใช้ภาพประกอบเป็นผู้หญิงไทยที่กำลังนั่งบนตักลูกค้าชาวตะวันตก ทั้งๆที่เนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนั้นไม่ได้เกี่ยวกับประเทศไทย แต่ทางนิตยสารได้เลือกให้หญิงไทยเป็นตัวแทนของคำว่าการค้าประเวณี (Hornblower 1993, quoted in Askew 2002, p.251) และในปีเดียวกันนั้นเอง พจนานุกรม Longman ได้ให้ความหมายของประเทศไทยว่า ‘place of prostitutes’ ซึ่งแม้ว่าประเทศตะวันตกก็มีสถานที่ให้บริการทางเพศเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ถูกเชื่อมโยงให้เข้ากับภาพลักษณ์ของประเทศได้มากเท่ากับประเทศไทย
ภาพลักษณ์ของไทยใน BBC และ The Sun
BBC จากการค้นหาในฐานข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 - 2005 สถานีโทรทัศน์ BBC ได้เผยแพร่สารคดีเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่สามเรื่องได้แก่ Murder in paradise: Who killed Kristy Jones (2001), Storyville: Greedy in Thailand (2002), และ Around the world in 80 treasures (2005)
สารคดีเรื่อง Murder in paradise เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสืบหาฆาตกรที่ฆ่านางสาว Kristy ซึ่งเป็นเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย สารคดีกล่าวถึงชายหลายคนที่ Kristy เกี่ยวข้องด้วยในระหว่างที่พักอยู่ในเกสท์เฮ้าส์ขนาดเล็กแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติด การร่วมเพศ และการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยภาพลักษณ์ของประเทศในสารคดีนี้จึงออกมาในลักษณะที่คนไทยเป็นพวกที่มักมากในกาม และเห็นแก่เงิน
สารคดีเรื่อง Greedy in Thailand เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2541 ที่ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก สารคดีให้เหตุผลว่าความโลภเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์ในครั้งนั้น โดยเป็นความโลภของหลายฝ่ายประกอบกัน เช่น นักการเมืองไทย นักลงทุนไทย ธนาคารไทย และกองทุนต่างชาติ สารคดีได้สัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น เจ้าของกิจการ คนงาน แม่บ้าน และสาวบาร์อะโกโก้ ในระหว่างที่สารคดีดำเนินไปก็มีภาพหญิงไทยนุ่งน้อยห่มน้อยและเต้นยั่วยวนปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ ซึ่งจากการกระทำเช่นนั้นของผู้ผลิตทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้ถูกเชื่อมโยงกับการยั่วยวนทางเพศ และการเลือกสาวบาร์อะโกโก้มาเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตสารคดีมีความจงใจที่จะใช้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเพศมาใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสารคดีของตน
สารคดีเรื่อง Around the world in 80 treasures เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสมบัติอันล้ำค่าของประเทศต่างๆ รอบโลก โดยสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทยที่สารคดีนี้นำเสนอคือ ช้างที่ทำจากทองอันมีลวดลายอันสวยงาม ซึ่งพบในจังหวัดอยุธยา แต่ก่อนที่สารคดีจะเข้าสู่เรื่องสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทยชิ้นนี้ สารคดีได้เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้กับผู้ชมรู้จักกับประเทศไทยด้วยการเสนอภาพกลุ่มผู้หญิงขายบริการที่กำลังโบกมือเรียกลูกค้า โดยพิธีกรได้บรรยายว่า
Bangkok is the bustling mix of the old and the new, the exotic and the vulgar. In this bustling capital city, sex and money are our new gods. My treasure is not here but an hour drive to the North
จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตจงใจใช้ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนในใจของผู้ชมอยู่แล้วซึ่งได้แก่การค้าประเวณี จากนั้นจึงค่อยนำผู้ชมไปยังเรื่องอื่นที่เป็นประเด็นในสารคดี
สรุป
ภาพลักษณ์ของประเทศหนึ่งๆ จะดำรงอยู่ได้และสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการที่มีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากภาพลักษณ์นั้นๆ โดยการคงอยู่ของภาพลักษณ์เดิม เช่น การที่ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเพศจะขัดขวางภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของประเทศไม่เกิดขึ้นมาได้ เช่นภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านอื่นๆ เช่น ด้านวัฒนธรรม ด้านธรรมชาติ ด้านสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้เหตุผลทางด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจนับว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการคงอยู่ของภาพลักษณ์ กล่าวคือการที่ภาพลักษณ์หนึ่งๆ จะดำรงอยู่ได้จะต้องมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากภาพลักษณ์นั้นๆ
เหตุผลทางด้านการเมืองที่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเพศดำรงอยู่ได้ในสื่ออังกฤษ ได้แก่ การที่ชาวไทยไม่มีอำนาจและโอกาสนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศของตนในสื่อของประเทศอังกฤษ เช่น ไม่มีชาวไทยที่จะร่วมตัดสินใจในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทย ตลอดจนชาวอังกฤษไม่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยจากสื่อของไทย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกนำเสนอเพื่อความพอใจของชาวอังกฤษเท่านั้น เช่น การทำให้คนไทยดูเหมือนว่าถูกซื้อได้ด้วยเงิน และนิยมชมชอบชาวอังกฤษ ทำให้ผู้ชมชาวอังกฤษรู้สึกว่าตนเองสูงส่งกว่า และในบางครั้งสื่ออังกฤษก็นำเสนอภาพลักษณ์ของชาวไทยว่าเป็นผู้ที่ยอมตาม (Docile) เพื่อให้ผู้ชมชาวอังกฤษรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าและความเป็นผู้นำ เป็นต้น
ส่วนเหตุผลด้านเศรษฐกิจได้แก่ การที่สื่ออังกฤษต้องการดึงดูดจำนวนผู้ชมให้ได้มากที่สุด สื่อจึงต้องอาศัยการจูงใจด้านเพศ เช่น การเชื่อมโยงประเทศไทยว่าเป็นประเทศเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางเพศ การเสนอภาพหญิงไทยในลักษณะยั่วยุทางกามารมณ์ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเรื่องศีลธรรมของนักท่องเที่ยวทางเพศซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาเช่นกัน ทั้งนี้สื่ออังกฤษเกรงว่าจะสูญเสียความนิยมในหมู่ผู้ชมไป โดยความนิยมในหมู่ผู้ชมเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งของธุรกิจสื่อ
ในขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็ไม่สามารถเลิกการท่องเที่ยวทางเพศไปได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเหตุผลทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเหตุผลทางด้านการเมืองได้แก่ ชนชั้นปกครองบางคนเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวทางเพศ เช่น การมีหุ้นในธุรกิจสายการบิน โรงแรม ตัวแทนการท่องเที่ยว และธุรกิจสถานบันเทิง เป็นต้น ส่วนเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจได้แก่ การท่องเที่ยวยังคงเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของประเทศ
โดย อาจารย์สมิทธิ์ บุญชุติมา ภาควิชาการประชาสัมพันธ์และการโฆษณา