ทรรศนะ "รัฐมีตัวตน" และ "รัฐไม่มีตัวตน"
จาก ChulaPedia
ทรรศนะ "รัฐมีตัวตน" และ "รัฐไม่มีตัวตน" คอลัมน์ ชีวิตเศรษฐกิจ โดย ฉวีวรรณ สายบัว
การที่รัฐบาลของประเทศไทยขณะนี้ที่เป็นรัฐบาลจากการแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไต อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือตอนนี้ก็ผันตนเองมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจการบริหารการปกครองประเทศมาจากรัฐบาลทักษิณ พยายามเร่งรีบที่จะทำอะไรต่อมิอะไรกันมากมายในระยะเวลาที่สัญญาเอาไว้ว่าจะอยู่ในอำนาจเพียง 1 ปี (หรือตอนนี้บอกว่าอาจจะต้องเป็น 1 ปี 5 เดือนแล้ว) เพื่อที่จะคลี่คลายหรือแก้สถานการณ์ปัญหาของประเทศทางด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ ความมั่นคง และด้านอื่นๆ
เป็นต้นว่า การที่จะยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึกขณะนี้และก็ยังไม่รู้ว่าจะยกเลิกเมื่อไร ทำให้ภายใต้กฎอัยการศึกนี้ จึงห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมืองใดๆ ห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน (แต่หลังจากถูกวิจารณ์และเรียกร้องจากคนทั้งในและนอกประเทศ) ก็ให้คุยการเมืองกันได้เฉพาะในหอประชุมของสถาบันการศึกษา หรือสถานที่ราชการที่จัดให้ประชาชน แต่ห้ามเคลื่อนไหวตามท้องถนนหรือที่สาธารณะ ถ้าฝ่าฝืนหรือออกนอกลู่นอกทางก็จะถูกจัดการตามกฎหมาย เพราะดังกล่าวกฎอัยการศึกยังบังคับใช้
นอกจากนี้แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลจากการแต่งตั้งนี้ก็ยังเสนอออกกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางทุกสื่อและตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามคนอายุต่ำกว่า 25 ปีซื้อเหล้า (แต่หลังจากมีผู้ส่งเสียงไม่เห็นด้วยจึงกลับมาที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเช่นเดิม ?) และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใกล้สถาบันการศึกษา (ข้อเสนอของบรรดาผู้นำสถาบันการศึกษา) นอกจากนั้นก็จะพิจารณายกเลิกรางวัลแจ็กพอตหวยบนดิน จะรณรงค์ให้คนไทยลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยลงอย่างจริงจัง
หรือการที่ (ดูราวกับว่า) จะสั่งหรือใส่เรื่องความมีศีลธรรมและจริยธรรมเข้าไปในเรื่องการศึกษา ระบบราชการ หรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร) และก็คาดว่าน่าจะมีอะไรออกมาอีกมากมาย เกี่ยวกับการใช้การสั่งการ และธรรมเนียมประเพณี (command and tradition) เพื่อกระทำการต่างๆ และเพื่อควบคุมการกระทำและพฤติกรรมของผู้คนในเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปตามที่รัฐบาลจากการแต่งตั้งนี้ต้องการ ปรารถนาหรือเห็นว่าจะเป็นการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน
ซึ่งตามแนวทางดังกล่าวเหล่านั้นก็ไม่รู้ว่ามันจะไปแก้ปัญหากันได้อย่างไร (เพราะมันเป็นเพียงแตะ หรือแก้ปัญหาตรงปลายเหตุมาก) นอกจากแน่นอนว่ามันน่าจะไปสร้างความไม่พอใจ หรือความตึงเครียดให้แก่ผู้คนมากขึ้น และจะไม่เป็นการใช้อำนาจยิ่งกว่ารัฐบาลทักษิณที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือเปล่า ?
และแนวทางของรัฐบาลจากการแต่งตั้งเหล่านั้นมันทำให้ผู้เขียนย้อนกลับไประลึกถึงทรรศนะในเรื่อง "รัฐคือใคร ?" "รัฐมีหน้าที่อะไร ?" หรือ "หน้าที่อันเหมาะสมของรัฐหรือรัฐบาลคืออะไร ?" ที่ยึดถือกันมาของโลก (world view) ที่แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ
มองรัฐมีตัวตน (ด้านหนึ่ง) เป็นมุมมองภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน (planned economy) หรือระบบเศรษฐกิจคอมมิวนิสม์ (communism) (ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์) ระบบนี้มาจากพื้นฐานหรือการยึดถือ "ค่า" หรือ "ค่านิยม" ในเรื่องอุดมการณ์ของรัฐ/สังคม หรือถือว่า "รัฐ" หรือ "ผู้วางแผน" (state/planner) เป็นผู้กำหนด "ค่า" หรือ "ค่านิยม" (value) และโดยมีความคิดว่า "รัฐ" "สังคม" หรือ "ประเทศ" มีชีวิต มีตัวตน (orga nic view of state)
เมื่อคนเราอยู่ในสังคม เน้นทำให้สังคมมีความสุขจะต้องไม่มีใครเหนือใคร (classless society) ทุกคนต้องเสียสละเพื่อผลดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมและเห็นว่ารัฐดีงามกว่า ชอบธรรมกว่า และซื่อสัตย์กว่าบุคคล/เอกชน และเช่นเดียวกันเป้าประสงค์ของรัฐดีงามกว่าเป้าประสงค์ของบุคคล ดังนั้นรัฐหรือผู้วางแผนจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะกำหนด "คุณค่า" หรือ "ค่า" ว่า ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ควรจะถูกจัดสรรหรือนำไปใช้ทำอะไร ผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และใครจะได้สินค้าไปและในจำนวนมากน้อยแค่ไหน
ภายใต้ระบบนี้จึงมีปัญหาในเรื่อง 1)การขาดแรงจูงใจให้คนพยายามออกแรงทำงาน เพราะคนถูกบังคับให้ต้องเสียสละเพื่อผลดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งขัดกับความเป็นจริงที่คนเรายังต้องการความกินดีอยู่ดีส่วนตน ยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวตามนิสัยโดยธรรมชาติของมนุษย์ 2)ทำลายความคิดสร้างสรรค์และความมีผลิตภาพของผู้คน (creativity and productivity) ทำให้คนไม่อยากออกแรงทำงานให้ได้มากและให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะไม่ได้ผลตอบแทนการทำงานตามผลิตภาพของตน รัฐแบ่งให้ตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตเท่านั้น
และ 3)รัฐมีอำนาจมากเกินไปจนกลายเป็นเผด็จการโดยรัฐในที่สุด ตัวอย่างรัฐ/ผู้วางแผนลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก เช่น ผลิตอาวุธต่างๆ ในขณะที่ผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคน้อย ทำให้ประชาชนขาดแคลนสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค และภาคเกษตรกรรมไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มี ชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าคนธรรมดา (ในที่สุดดังกล่าวก็เป็นระบบเผด็จการธรรมดาโดยพรรคคอมมิวนิสต์) และทำให้ในที่สุดระบบนี้ของสหภาพ
โซเวียตก็พังทลายลงในปี 1991 หลังจากอยู่ภายใต้ระบบนี้มานานถึง 74 ปี มองรัฐไม่มีตัวตน (อีกด้าน) เป็นพื้นฐานความเชื่อที่ยึดถือของระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี (free market economy) (ซึ่งระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีก็สอดคล้องกับระบอบการปกครองประชาธิปไตย) ที่มอง "รัฐ" เป็นสิ่งไม่มีตัวตน ไม่มีชีวิตจิตใจ (inorganic view of state) แต่คนที่รวมกันอยู่ หรือ "ประชาชน" มีตัวตน มีเลือดเนื้อ และมีชีวิตจิตใจ
รัฐเพียงทำหน้าที่แทนประชาชน ไม่มีอำนาจไปตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แทนชาวบ้าน ต้องให้แต่ละคนแสดงความต้องการของตนออกมา ไม่ใช่รัฐตัดสินใจแทน แม้แต่ในเรื่องสินค้าสาธารณะ เป็นต้นว่ากองทัพต้องการซื้ออาวุธก็ต้องให้ประชาชนแสดงออกมาว่าจะให้ซื้อหรือไม่ และแสดงความเต็มใจที่จะให้จ่ายเงินซื้อสักเท่าไร
และตามหลักการของระบบเศรษฐกิจตลาดที่แท้จริง ก็คือ ใช้ตลาดเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อผลิตสินค้าและบริการ ทั้งสินค้าเอกชนและสินค้าสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมโดย ส่วนรวม
ดังนั้น ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือบริการจะต้องทำไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของสังคมหรือของสาธารณชน ไม่ใช่ทำไปๆ แล้วก็กลายเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี/ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น (crony capitalism) นั่นคือต้องเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม (social market economy)
อาดัม สมิท (บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์) จึงมองเห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและความ ไม่มีประสิทธิผลอย่างมากของรัฐหรือรัฐบาล จึงไม่สนับสนุนให้รัฐแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือให้แทรกแซงน้อยที่สุด ปล่อยให้เป็นเรื่องของบุคคล/เอกชนไป และเห็นว่าหน้าที่อันเหมาะสมของรัฐควรจะเป็นในเรื่อง 1)การป้องกันประเทศ 2)ความยุติธรรม ความเป็นธรรม และศาล และ 3)งานสาธารณะต่างๆ เช่น การควบคุมสถาบันการเงิน การขนส่ง สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ การศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
สำหรับกรณีประเทศไทย หรือรัฐไทย หรือรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ ยังเชื่อว่าภาครัฐหรือระบบราชการจะยังทำหน้าที่หรือยังมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจสังคมไทยได้ แต่อย่างเดียวที่หน้าที่ของรัฐบาลไทยคือ อย่าทำอะไรที่ทำไม่ได้ ที่ไม่ควรทำ หรืออย่าหลับตาทำ ตัวอย่างรัฐบาลเลิกทำตนเป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนเสียที เพราะจริงๆ ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จ
ตรงกันข้าม กลับเป็นสาเหตุที่ไปทำลายศักยภาพและความสามารถของประชาชนที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามธรรมชาติ ถ้าปล่อยให้ผู้คนได้เป็นอิสระ ไม่ถูกพันธนาการ
ด้วยอิทธิพลอันเข้มข้นของสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นปัญหา นอกจากนี้เลิกการกระทำของรัฐบาลมากมายที่เคยทำกันมาซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา เป็นการนำอย่างผิดๆ หรือให้เงื่อนงำของปัญหาและการแก้ไขปัญหาอย่างผิดๆ กันอยู่ตลอดเวลา
เป็นต้นว่า "การประกันว่าสถาบันการเงินมั่นคงเสมอหรือล้มไม่ได้" ที่สร้างปัญหา "ภัยทางศีลธรรม" (moral hazard) ทำให้ผู้บริหารเอาเงินไปลงทุนในกิจการที่ไม่บังควรและไม่คำนึงถึงการเสี่ยงในการลงทุนเพราะมีธนาคารชาติค้ำประกัน หรือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมาตรการทางการเงินและการคลัง และโดยเฉพาะการขยายเงินใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ
เพราะคุณจะใช้นโยบายการเงินแก้ปัญหาเงินเฟ้อและเงินฝืดไม่ได้ เมื่อสาเหตุเงินเฟ้อมาจากแรงผลักดันทางด้านต้นทุนที่สูงขึ้น (cost push inflation) เพราะราคาน้ำมันและราคาปัจจัยการผลิตต่างๆ สูงขึ้น และปัญหาเงินฝืดหรือเศรษฐกิจตกต่ำเป็นปัญหาทางโครงสร้าง เพราะโอกาสในการลงทุนมันเหือดแห้งจากปัญหาด้านต้นทุนสูงเกินกว่าจะลงทุนอะไรให้มีกำไรได้ (cost over run) ไม่ใช่จากปัญหาการขาดแคลนอุปสงค์หรือดีมานด์ที่จะต้องแก้โดยนโยบายการบริหารอุปสงค์ (demand management policy)
แต่หน้าที่ใหม่อันเหมาะสมอันควรของผู้นำรัฐบาลหรือภาคราชการ คือ การทำหน้าที่ให้ "ความเป็นผู้นำ" (leadership) ของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ หรือ "งานด้านการใช้สมอง" (brain work) หรือการทำงานด้าน "เสนาธิการของประเทศ" (staff function)
"งานเสนาธิการ" คืองานเกี่ยวกับการคิดอ่าน การเสาะแสวงหาความรู้และประสบการณ์ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและข่าวกรอง การใช้ความรู้และข้อมูลเพื่อการวางแผน ทั้งแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อการควบคุมและจัดระเบียบ การติดตามความก้าวหน้า การประสานงาน และการประเมินผลเพื่อแก้ไขปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์
นอกจากนั้นแล้วหน้าที่ทางการผลิตอันเหมาะสมที่พึงทำได้ควรเป็นการผลิตสินค้าประเภทสินค้าสาธารณะสมบูรณ์ (purely public goods) เท่านั้น เช่น งานสร้างถนน การศึกษา สาธารณสุข ศาลสถิตยุติธรรมและป้องกันประเทศ ดังแนวความคิดของอาดัม สมิท ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หรือหน้าที่หรือบทบาทสำคัญของภาครัฐ/รัฐบาล หรือระบบราชการไทยคือการทำตามตัวอย่างสวีเดนหรืออังกฤษ ซึ่งสวีเดนเป็นตัวอย่างของประเทศที่ให้รัฐมีบทบาทสำคัญ ให้รัฐบาลใหญ่ (big government) เป็นรัฐสวัสดิการ (social welfare state) ที่ผู้มีรายได้ต้องจ่ายภาษีเกินกว่า 60% และเป็นรัฐบาลที่ใจกว้างและมีประสิทธิภาพ
ซึ่ง นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ของอังกฤษพยายามจะไปในแนวทางตามแบบสวีเดน ไม่ใช่สังคมนิยมแบบเก่าและก็ไม่ใช่ทุนนิยมอย่างสมัยรัฐบาลแทตเชอร์ (ซึ่งต่างจากแนวทางของรัฐบาลของประธานาธิบดีบุชแห่งอเมริกาที่ให้รัฐบาลเล็กและให้ภาคธุรกิจใหญ่ ดังตัวอย่างพรรครีพับลิกันลดภาษีให้คนรวย หรือการแปรรูปบริการสาธารณสุขของรัฐเป็นของเอกชนซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องขวนขวายให้มีด้วยตนเอง)
แต่ในความเป็นจริงของบ้านเรา คนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนหรือทั้งข้าราชการไทยและนักธุรกิจไทยก็ล้วนขาด (แคลน) ทั้งความดีงาม ความเป็นผู้นำ และความสามารถ มีแต่ระบบพวกพ้องทั้งในสองภาคเลย แล้วก็ยังเป็นกันอย่างนี้ทุกระดับประทับใจเลย รวมหัวกัน/ฮั้วกันทุกระดับ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แล้วก็เป็นที่มาของการแบ่งคนในสังคมออกเป็นสองพวก คือ พวกผู้ปกครองและพวกผู้ใต้ปกครอง หรือ ยังเป็นระบอบศักดินาที่สร้างปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองและผู้คนเกิดการติดและแก้ไขปัญหาอะไรก็ไม่ได้เลย