พิธีไหว้ครู
จาก ChulaPedia
การไหว้ครู เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ มีวิธีการหลายรูปแบบ และมีแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป สำหรับพิธีไหว้ครูดนตรีไทยนั้น มีสาระสำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
ครูผู้ประกอบพิธี
ในวัฒนธรรมของดนตรีไทย ผู้ที่จะประกอบพิธีได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสืบทอดให้เป็นผู้อ่านโองการ โดยจะต้องเป็นศิษย์ที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอน อบรม จนเป็นที่แน่ใจแล้วว่า มีความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ และการปฏิบัติตนเหมาะสมที่จะเป็นครูได้ต่อไป ซึ่งก็ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้หลายประการคือ
1. ต้องได้รับการบวชเรียนมาแล้ว (ต้องบวชเต็มพรรษา) หรือหากไม่ได้บวชเรียน ก็ต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี หรือ 35 ปี ขึ้นไป
2. เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทั้งในการบรรเลง และความรู้ด้านทฤษฏี และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานดนตรีไทย
3. เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุขทั้งหลาย
4. เป็นที่ยอมรับของสังคม ในวงการดนตรีไทย ว่าเป็นผู้มีความเหมาะสม
เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนดังที่กล่าวมาแล้ว และครูผู้ใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสม ก็จะได้รับมอบโองการไหว้ครู เพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติ จดจำคาถาต่างๆให้แม่นยำ ถูกต้อง จากนั้น ครูผู้ใหญ่ที่จะมอบให้เป็นผู้ประกอบพิธี โดยครูจะไปกำกับดูแลด้วย 2 ถึง 3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าปฏิบัติได้ถูกต้องหรือ มีข้อบกพร่องอย่างไรหรือไม่ เมื่อเห็นว่ามีความเรียบร้อยถูกต้องดีแล้ว ก็จะไว้วางใจให้เป็นผู้ประกอบพิธีได้ต่อไป
ขั้นตอนการประกอบพิธี
พิธีไหว้ครูดนตรีไทย เป็นพิธีการที่ประกอบด้วยการตั้งเครื่องพิธี มีพระรัตนตรัย เทพเจ้า เครื่องดนตรี เครื่องบูชากระยาบวช (อาหารคาวหวานต่างๆ) ดอกไม้ธูปเทียน โดยมีครูผู้ประกอบพิธีเป็นผู้อ่านโองการนำไหว้ครู เริ่มต้นจาก การบูชาพระรัตนตรัย และอัญเชิญเทพยดา เทพเจ้าทางด้านดนตรี เทพเจ้าอสูร ฤาษี ยักษ์ จากนั้น จึงถวายเครื่องบูชากระยาบวช และลาเครื่องบูชากระยาบวช โปรยข้าวตอก ดอกไม้ และประพรมน้ำมนต์ เครื่องดนตรีที่จัดไว้บนที่บูชา จากนั้นจึงเป็นพิธีครอบ
การครอบ
การครอบ เป็นสิ่งที่แสดงถึงฐานะทางฝีมือของศิษย์ ว่ามีความสามารถจะได้เลื่อนชั้นความรู้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง หมายความว่าจะได้รับการต่อเพลงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเพลงหน้าพาทย์ แต่ในปัจจุบันมักเข้าใจผิดกันว่า การครอบนั้นจะต้องทำทุกครั้งในพิธีไหว้ครู ซึ่งที่จริงแล้ว การนำดอกไม้ธูปเทียน ไปบูชาครู ทำสมาธิและร่วมพิธีด้วยความตั้งใจจนจบพิธี ก็ถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่งแล้ว
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ