อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 03:50, 13 กันยายน 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์ หมายถึง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้กระทำการ กับผู้ถูกกระทำการ ในลักษณะที่ผู้กระทำทำการลงไปโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อันมีผลให้ผู้ถูกกระทำการมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือทัศนคติเป็นไปตามความมุ่งหมาย หรือสอดคล้องกับผู้กระทำการ


สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือสื่อสารของสังคมซึ่งช่วยให้คนในสังคมมีความเข้าใจกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในฐานะที่ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ก็จำเป็นที่จะต้องใส่ความเคลื่อนไหวของสังคม และถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาทางสื่อสิ่งพิมพ์ ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์และสังคมจึงมีบทบาทและอิทธิพลต่อกัน อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์และสังคม พอจะนำมากล่าวได้ ดังนี้

1) สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือสื่อสารของสังคม ซึ่งช่วยให้ประโยชน์ทางการศึกษา ทำให้คนเกิดความรู้กว้างขวาง

2) ช่วยทำหน้าที่เป็นสื่อบันทึกภาพสังคม ค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อถือ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่

3) ช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสารทั้งในภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐบาล

4) เป็นสื่อในการช่วยเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในวิถีทางที่ถูกต้องยุติธรรม

อย่างไรก็ตามอิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นๆ เพราะสั่งคมและสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสิ่งที่ต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ลักษณะอิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์

1. ไม่มีอิทธิพล หมายถึง สื่อสิ่งพิมพ์ได้ทำลงไปเพื่อให้ผู้อ่านเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรม แต่ไม่บังเกิดผล

2. อิทธิพลเบี่ยงเบน หมายถึง เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทำลงไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรม ที่ไม่ตรงกับเจตนาของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น

3. อิทธิพลในทางลบ หมายถึง การกระทำของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ผู้อ่านเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรม แต่ผู้อ่านได้เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น

4. อิทธิพลในทางบวก หมายถึง เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ได้เสนอข่าวแล้วทำให้ผู้อ่านเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนทัศนคติตามที่สื่อสิ่งพิมพ์นั้นต้องการ


อิทธิพลของหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนชนิดหนึ่งในจำนวนหลายชนิดที่เผยแพร่ข่าวสารความรู้ ความคิด และความบันเทิงไปสู่ประชาชน หนังสือพิมพ์ที่ดีมีคุณภาพ ก็จะมีส่วนในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้น และหนังสือพิมพ์ที่ไร้คุณภาพก็จะฉุดประชาชนและสังคมให้ตกต่ำลง ดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องเอาใจใส่ สอดส่องดูแล และควบคุม เพราะหนังสือพิมพ์สามารถที่จะปลุกระดม แทรกซึม โน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด เจตคติ และพฤติกรรม หรือจริยธรรมของสังคมได้มาก ซึ่งอาจนำไปในทางสร้างสรรค์หรือทำลายก็ได้ สาเหตุที่หนังสือพิมพ์มีอิทธิพลต่อสังคม เป็นเพราะ


1) หน้าที่ของหนังสือพิมพ์ อันได้แก่ หน้าที่ในการเสนอข่าวสารแก่สาธารณชน หน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางแก่สังคมในรูปของบทความ ความคิดเห็น หรือข้อทักท้วง และหน้าที่ในการให้ความบันเทิงและบริการต่างๆ ดังนั้นศิลปะในการนำเสนอข่าว หรือเทคนิคในการถ่ายทอดเรื่องราว จึงควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม สร้างสรรค์ และดำเนินไปด้วยความรับผิดชอบ

2) ลักษณะของหนังสือพิมพ์ที่แฝงไว้ด้วยความพิเศษ คือ หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่ราคาถูก หาซื้อได้ง่ายทั่วไป หนังสือพิมพ์ให้ข่าวสารและรายละเอียดได้ลึกซึ้งกว่ารายการข่าวทางวิทยุหรือโทรทัศน์ และยังประกอบด้วยหลายๆ ข่าวในฉบับเดียว จะอ่านเมื่อใดก็ได้ การนำเสนอภาพและเรื่องราวสามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานได้อีกด้วย


จะเห็นว่าหน้าที่หลักของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดการหลั่งไหลของข่าวสารในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดอิทธิพลต่อสังคมมากมาย สามารถสรุปได้ดังนี้

1. มีอิทธิพลต่อจิตใจผู้อ่าน

2. ทำให้ค่านิยมของประชาชนเปลี่ยนไป

3. มักตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มประโยชน์

4. มีส่วนช่วยในการสร้างประชามติต่างๆ

5. ภาษาอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ มีผลต่อภาษาไทยบ้างในบางกรณี

6. อิทธิพลจากวิธีการนำเสนอข่าว


ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์จะมีอิทธิพลต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

1. จำนวนและลักษณะของการที่ประชาชนได้รับข่าวสารหรืออ่านโดยตรง

2. อิทธิพลของหนังสือพิมพ์จะมีมากกว่า ถ้าเรื่องราวที่เสนอนั้นสอดคล้องกับความคิดเห็นเดิมของประชาชน แทนที่จะเสนอในทางตรงข้าม

3. ขึ้นอยู่กับเรื่องราวว่าผู้อ่านได้ทราบดีอยู่แล้วหรือไม่


อิทธิพลของนิตยสาร และสิ่งพิมพ์อื่นๆ

นิตยสาร และหนังสืออ่านเล่น เป็นสิ่งพิมพ์ที่มุ่งเสนอเนื้อหาสำหรับอ่านเพื่อเบาสมองและให้ความบันเทิง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอิทธิพลต่อสังคม ดังนี้

1. เป็นแหล่งแสดงความรู้ความสามารถของคนทั่วไป เป็นเวทีวรรณกรรม

2. สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมปัจจุบัน

3. ส่งเสริมค้นคว้า และสร้างนิสัยใฝ่รู้ให้กับผู้ที่สนใจ

4. นิตยสารบางประเภทมีลักษณะมอมเมาประชาชน ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม

5. ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด

6. สร้างค่านิยมต่อคนในสังคม และเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภค


รวบรวมและเรียบเรียงบทความ ศูนย์สื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว