ต้นหมาก

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 08:22, 14 กันยายน 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

หมาก เป็นปาล์มในวงศ์ Palmae ชนิด Areca catechu Linn. ผลมีรสฝาดใช้เคี้ยวกันกับปูน และพลู ซึ่งรวมเรียกว่า “กินหมาก” เมื่อโตเต็มที่ต้นหมากจะสูงประมาณ 12-16 เซนติเมตร ชาวสวนมักจะปลูกตามแคมร่อง โดยให้ตรงกับอีกแคมร่องหนึ่ง และจะปลูกสลับกับต้นไม้หลัก ยอดหมากจะกลมพองใหญ่กว่าลำต้น เรียกว่า “หมากท้อง” เพราะมีจั่นอยู่ข้างใน ยอดหมากนี้จะมีกาบใบหุ้มอยู่ เมื่อกาบแก่จะมีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลรวมทั้งทางและใบด้วย เมื่อร่วงหล่นลงมาจะเรียกว่า “กาบหมาก”


ประโยชน์จากต้นหมาก

ลำต้น

ใช้ทำเสาตอม่อ ฟากสับ แม่บันได ลูกบันได โคนแก่ใช้ทำขั้นพะองเพื่อทอดทำสะพานข้ามลำกระโดง ท้องร่อง และเมื่อทะลวงเอาไส้ในออก สามารถใช้ทำเป็นท่อระบายน้ำ ทำไม้คานใช้แบกของ ทำคร่าวสำหรับยึดฝาฟากสับ ในการปลูกห้างเฝ้าสวน สมัยก่อนชาวสวนจะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากฝนชุกและน้ำทะเลหมุน ชาวสวนก็จะใช้ต้นหมากกั้นคันดิน และเป็นตอม่อป้องกันคันดินที่กั้นน้ำเข้าสวนพังด้วย


ผล

ผลของหมากที่มีรสฝาดนั้น เมื่อยังอ่อน เรียกว่า “หมากอ่อน” ผลที่ยังไม่แก่ ซึ่งนิยมกิน เรียก “หมากดิบ” ผลแก่จัดเนื้อแข็ง เรียก “หมากสง” ส่วนผลที่แก่จัดมากๆ หล่นลงยังท้องร่อง หรือขึ้นนำลงมาทั้งทะลาย ชาวนสวนจะนำมาแช่หรือหมักกับน้ำในตุ่ม เพื่อไม่ให้เนื้อแห้ง และจะเก็บไว้ได้นาน เปลือกจะเน่ามีกลิ่นเหม็น เรียกว่า “หมากยับ”


ผลของหมากจะมีมากเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “หน้าหมาก” เมื่อเลยหน้าหมากไปแล้ว หมากจะหมด เรียกว่า “หมากขาดคอ” ดังนั้นชาวสวนจึงต้องแปรรูปหมาก ซึ่งถือเป็นการถนอมหมาก โดยวิธีที่นิยมที่สุดคือ การทำหมากแห้ง

ใบ

ใบของหมาก เรียกว่า “ทางหมาก” รวมทั้งกาบกมากที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหมาก ก็มีประโยชน์มากต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวสวน ชาวสวนจะใช้ก้านทางที่มีใบมาผูกห้อยตรงช่องทางเข้าออกของ “เวจ” ซึ่งเป็นที่ขับข่ายของชาวสวน ทางหมากมีใบหนาอ่อนนุ่ม สะดวกในการแหวกเข้าออก และยังเป็นที่บังตาเป็นอย่างดี ชาวสวนที่น้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ยังใช้ทางหมากที่แห้งแล้วมาทำเป็น “เสวียน” ขนาดใหญ่สำหรับรองรับกระทะใบบัวขนาดใหญ่ขณะที่กวนน้ำตาลตงุ่นให้เป็นน้ำตาลปึก หรือน้ำตาลปี๊ป


กาบหมาก

ในสมัยก่อน ชาวสวนจะนำกาบหมากมาทำเป็นของเล่นให้เด็กๆ คือ รถลาก โดยเด็กคนหนึ่งจะนั่งลงบนกาบ มือจับที่โคนทาง เด็กอีกคนหนึ่งจับปลายทางที่เหลือใบไว้ แล้วเดินหรือวิ่งลากไป


นอกจากนี้กาบหมากยังสามารถนำมาดัดหรือเจียนทำเป็นเนียนสำหรับขูดน้ำพริกที่สาก และคดน้ำพริกจากครก คุณสมบัติที่ดีมากของเนียนนี้ก็คือ ความนิ่งของกาบกมาหนั่นเอง และกาบหมากยังสามารถนำมาทำเป็นที่จับกระทะเคี่ยวตาล เวลายกขึ้นลงจากเตาตาล แทนการใช้ผ้าได้อีกด้วย


กาบหมากยังเหมาะที่จะใช้ทำพัดสำหรับพัดให้คลายร้อนในหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี โดยนำกาบหมากมาเจียนให้เป็นรูปกลมหรือวงรี มีที่สำหรับมือจับยื่นออกมาก โดยก่อนใช้จะต้องใช้ก้นของครกตำข้าวทับให้แบนเรียบเสียก่อน



การทำหมากแห้ง

การทำหมากแห้งนั้น นิยมทำตั้งแต่เป็น “หมากดิบ” หรือหมากดิบที่แยกไว้โดยไม่ขาย เพราะหน้าไม่ดี คำว่าหน้าไม่ดี คือ หน้าขาว ไม่ฝาด กินไม่อร่อย หรือทำหมากแห้งจาก “หมากหลง” คือ หมากที่หลงจากการขนจากสวนไปไม่หมด


การทำหมากแห้งจากหมากดิบนั้นจะใช้วิธีหั่นให้เป็นชิ้นบางๆ พรมน้ำให้ทั่วเพื่อความสวยงามของสีหมากหลังจากที่ตากแห้งแล้ว


การตากนั้นจะต้องเกลี่ยแผ่นหมากให้เสมอกันทั้งตะแกรง เพื่อที่จะได้ถูกแดดทั่วถึงทุกแผ่น นอกจากใช้วิธีหั่นให้เป็นแผ่นแล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาและความประณีต คือ วิธีเจียนหมาก เช่นเดียวกับเจียนหมากในการกิน โดยการเจียนหมากนี้ จะผ่าแบ่งหมากออกเป็น 4 หรือ 5 ชิ้น ใช้มีดปอกผิวของเปลือกเอาไว้ แล้วเอาเปลือกออกให้เหลือเปลือกส่วนขั้วของผลเอาไว้ เพื่อยึดผิวของเปลือกไม่ให้หลุดออก การเจียนหรือการหยิบหมากที่เจียนจึงต้องหยิบด้วยความระมัดระวัง เพราะเปลือกของผลหมากตรงขั้วมีความอ่อนและหลุดจากเนื้อหมากง่าย เมื่อผิวและเปลือกแยกจากเนื้อหมากแล้วจะไม่เป็นหมากเจียน


ส่วนการทำหมากแห้งจากหมากสงนั้น จะต้องใช้มีดทำหมาก ซึ่งคล้ายมีดบางใช้ทำครัวแต่ใบมีดสั้นกว่า เฉาะเปลือกของผลหมากให้แยกจากเนื้อโดยรอบ แล้วจึงแกะเอาเปลือกออก ใช้มีดเฉาะเนื้อหมากให้เป็นชิ้น แล้วจึงนำไปตากแดด โดยการตากแดดจะต้องตากให้แห้งสนิทจริงๆ ให้แห้งทั่วทั้งแผ่น ทั่วทั้งชิ้นหมากหั่น หมากเจียน เพราะถ้าไม่แห้งสนิทอาจจะเกิดการขึ้นราได้



ที่มาข้อมูล นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

รวบรวมและเรียบเรียงบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว