โรคตาแดง

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 04:02, 25 ตุลาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

สาเหตุของโรคตาแดง

โรคตาแดงเกิดจากการอักเสบหรือระคายเคืองที่เยื่อบุตา ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส มักพบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนและบริเวณที่มีน้ำท่วม ยังมีสาเหตุอื่นเช่นตาแดงจากการแพ้หรือระคายเคืองและตาแดงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

อาการของโรคตาแดง

ในเบื้องต้นจะมีอาการระคายเคืองหรือแสบตา ปวดตา น้ำตาไหล มีขี้ตามากกว่าปกติ เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง เห็นเส้นเลือดชัดขึ้น

อาการตามสาเหตุ

  • ตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจมีอาการกลัวแสง หนังตาบวม มักเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปอีกข้าง ซึ่งหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
  • ตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการ “ตาแฉะ” คือมีน้ำตาและขี้ตาปริมาณมาก ขี้ตามีลักษณะเป็นหนองหรือมูกเขียวเหลือง ลืมตาได้ยากและมองเห็นไม่ชัดโดยเฉพาะเมื่อตื่นนอน
  • ตาแดงที่เกิดจากการระคายเคืองหรือการแพ้ มักมีอาการโดยรวมไม่รุนแรง แต่มีอาการคันหัวตา เปลือกตา และแสบตา น้ำตาไหลเป็นอาการเด่น

การติดต่อโรคตาแดง

ตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อติดต่อง่าย โดยตรงจากการสัมผัสน้ำตา ขี้ตาหรือน้ำมูกของผู้ป่วย และผ่านการใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่นผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

การป้องกันโรคตาแดง

หลักการสำคัญที่สุดคือการรักษาความสะอาดของมือและลดโอกาสที่จะรับเชื้อโรคหรือน้ำสกปรกเข้าสู่ตา

  • หากน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ควรใช้น้ำสะอาดรีบล้างหน้าและล้างตาทันที
  • ไม่อยู่ใกล้หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคตาแดง แยกของใช้ส่วนตัวเช่นผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้พยายามอย่าใช้มือสัมผัสกับดวงตา

การรักษาโรคตาแดง

ผู้ป่วยโรคตาแดงส่วนใหญ่สามารถหายจากอาการได้เองแม้จะไม่ได้ใช้ยา แต่ควรทราบหลักการเบื้องต้นสำหรับโรคตาแดงเพื่อดูแลตนเองและลดการติดต่อผู้อื่น

  • ไม่ใช้ผ้าซับน้ำตา เนื่องจาก กลายเป็นแหล่งของเชื้อโรคที่จะติดต่อถึงคนอื่นได้ หากมีน้ำตามากควรใช้กระดาษชำระทิ้งหลังจากใช้
  • พักผ่อนสายตา หลับตาและผ่อนคลาย เท่าที่ทำได้
  • หากมีการระคายเคือง แสบหรือปวดตาอาจใช้ผ้าเย็นหรือผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ ประคบเพื่อลดอาการไม่สบายตาได้
  • เมื่อมีอาการระคายเคือง ร่วมกับอาการคันตา จากการระคายเคืองหรือการแพ้ พยายามอย่าขยี้ตา หากคันตามากอาจใช้ยาหยอดตาแก้แพ้หรือรับประทานยาแก้แพ้(ยาเม็ดสีเหลือง คลอเฟนิรามีน ที่ใช้แก้แพ้ ลดน้ำมูก)เพื่อบรรเทาอาการคันตา และลดโอกาสขยี้ตาแล้วทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
  • หากใช้ยาหยอดตาแก้แพ้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับเป็นมากขึ้น ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่ถ้าไม่สามารถเดินทางไปได้ อาจใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาที่มียาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นองค์ประกอบ แก้ไขไปก่อนเพื่อลดโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อน หรือลดความรุนแรงของการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การใช้ยาหยอดตาซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อในระยะแรกควรหยอดหนึ่งหยดทั้งสองข้าง บ่อยๆ ทุกๆ 2-4 ชั่วโมง อาการดีขึ้นแล้วในวันที่ 3 จึงหยอดห่างขึ้นเป็นทุก 6 ชั่วโมง
  • ถ้าเป็นยาป้ายตาสำหรับฆ่าเชื้อ การป้ายตามีฤทธิ์อยู่นานกว่ายาหยอด อาจป้ายทุก 6-8 ชั่วโมง ข้อเสียคือเหนอะหนะ ตาพร่าจากเนื้อขี้ผึ้ง ทำให้รำคาญ แต่ได้ผลดี
  • ควรใช้ยาต่อเนื่องจนอาการอักเสบของเยื่อบุตาหายเป็นปกติ มักดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
  • ไม่ใช้ยาหยอดตาที่มีตัวยาสเตียรอยด์เป็นองค์ประกอบ เพราะจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น


ถ้ามีอาการต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน ไม่นิ่งนอนใจเพราะบางกรณีอาจเกิดอันตรายจนถึงตาบอดได้

  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วันหลังจากใช้ยาแล้วหรืออาการแย่ลง
  • มีการมองเห็นแย่ลง หรือมองภาพไม่ชัดกลัวแสงมาก
  • แสบหรือปวดตามาก

ข้อควรระวังหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคตาแดง

  • ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาทุกครั้ง
  • อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาหยอดตาและยาป้ายตาคือการระคายเคืองหรือแสบ ตาข้างที่ใช้ยา หากใช้แล้วเกิดอาการ อาจหลับตาหรือพักสายตาสักครู่ ซึ่งน้ำตาจะค่อยๆ เจือจางยาและลดการระคายเคือง
  • อาการตาพร่า หลังจากใช้ยาป้ายตาเนื่องจากเนื้อขี้ผึ้งของยา อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตา มองเห็นภาพไม่ชัด จึงต้องระวังไม่เดินหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ก่อนใช้ยา ต้องสังเกตวันหมดอายุของยา รวมถึงลักษณะทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์ก่อนใช้ เช่นฝาปิดสนิทดีหรือไม่ ไม่ใช้ถ้าหมดอายุหรือมีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ หรือไม่สะอาด และห้ามใช้ยาตาของคนอื่น เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนมาติดเราได้
  • ยาหยอดตาและยาป้ายตามีอายุการใช้งานไม่เกิน 1 เดือน หลังจากวันแรกที่เปิดใช้
  • ยาหยอดตาฆ่าเชื้อ ที่มีคลอแรมเฟนิคอลเป็นองค์ประกอบ ถ้ายังไม่ได้ใช้ให้เก็บไว้ในตู้เย็น ถ้าไม่มีตู้เย็น อย่างกรณีที่เป็นยาบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย เก็บในอุณหภูมิทั่วไป ยังใช้ได้อย่างน้อย 10 วันขึ้นไป แต่ต้องระวังไม่ให้สัมผัสแสงแดดหรืออยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนเพราะทำให้อายุยาให้สั้นลง


รายการอ้างอิง

เอกสารความรู้ "การใช้ยาในโรคที่มากับน้ำท่วม" โดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา
เภสัชกรหญิงสิรินุช พละภิญโญ
เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ
เครื่องมือส่วนตัว