โรคฉี่หนู

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 04:07, 25 ตุลาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

โรคฉี่หนู หรือเลพโตสไปโรซิส เรียกสั้น ๆ ว่าเลปโต หนูเป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อจึงทำให้เราเรียกโรคนี้ว่า “โรคฉี่หนู” แต่เชื้อโรคสาเหตุนั้นพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่นหนู สุนัข แมว โค แพะ แกะ กระบือ ผู้ติดเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง น้อยรายที่จะมีอาการรุนแรง แก้ไม่ทันอาจเสียชีวิต อาการแยกยากจากอาการไข้อื่น ๆ แต่ในรายที่รุนแรงมักมีไข้สูง เลือดออกง่าย(คล้ายไข้เลือดออก) ตัวเหลือง ตาเหลือง อาจมีไตอักเสบและเสียชีวิตเพราะไตวายหรือเลือดออกในปอด


เนื้อหา

สาเหตุของโรคฉี่หนู และการติดต่อ

เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฉี่หนูเป็นเชื้อแบคทีเรีย จะแสดงอาการในช่วง 4-19 วันหลังรับเชื้อ การติดต่อสู่คนของโรคฉี่หนูเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ หรือสัมผัสโดยอ้อมผ่านทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแหล่งน้ำขัง ที่ชื้นแฉะ เช่นดินโคลนใกล้แหล่งน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลอง หรือน้ำที่ท่วมขังอยู่หลังอุทกภัย


อาการของโรคฉี่หนู

ระยะแรกคืออาการไข้สูง ปวดศีรษะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ไม่เจ็บคอ ก็ควรสงสัยไว้ก่อนว่าจะมีโอกาสติดโรคที่ระบาดในช่วงน้ำท่วม นอกจากนี้ในผู้ที่มีประวัติการเดินย่ำหรือแช่น้ำท่วมขัง ร่วมกับมีอาการดังต่อไปนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคฉี่หนู ควรเร่งพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่

  • ภาวะเยื่อบุตาบวมแดงเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างใน 3 วันแรกและนานตั้งแต่ 1-7 วัน อาจมีเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
  • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา หน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังและมีอาการกดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง
  • ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบ จุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือผื่นเลือดออก หรือเลือดออกใต้เยื่อบุตา หรือมีเสมหะเป็นเลือด
  • ผื่น อาจจะพบได้หลายแบบ ผื่นแดงราบ ผื่นแดง ผื่นลมพิษ
  • อาการเหลือง อาการเหลืองมักเกิดวันที่4-6 ของโรค

กลุ่มที่มีอาการเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอันตรายรุนแรง ต้องไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม


แนวทางการรักษาโรคฉี่หนู

การรักษาโรคนี้โดยใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 5-7 วัน หากหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้การรักษาล้มเหลวและเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้นได้ ต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาก่อนกำหนด


การป้องกันโรคฉี่หนู

สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฉี่หนู เช่น ผู้ประสบอุทกภัยต้องหมั่นสังเกตุอาการผิดปกติของตนเอง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบาดแผล หากต้องเดินย่ำน้ำที่ท่วมขังควรสวมรองเท้ายาง หลังจากการสัมผัสน้ำสกปรกควรรีบชำระล้างด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้ผิวหนังแห้งอยู่เสมอ


รายการอ้างอิง

เอกสารความรู้ "การใช้ยาในโรคที่มากับน้ำท่วม" โดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา
เภสัชกรหญิงสิรินุช พละภิญโญ
เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ
เครื่องมือส่วนตัว