ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 04:59, 25 ตุลาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การมียาบางชนิดไว้ใช้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อมีการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆเช่นไข้หวัด ลมพิษ ท้องเสีย หรือน้ำกัดเท้า เราสามารถรักษาอาการได้ด้วยตนเองก่อน เมื่อไปพบแพทย์ได้ยาก

ในช่วงที่มีอุบัติภัย เช่น อุทกภัย เป็นต้น มักแจกถุงยังชีพนอกจากอาหาร สิ่งจำเป็นอื่น ก็มียาอันเป็นปัจจัยสี่อยู่ด้วย เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือยาบรรเทาอาการเบื้องต้น จึงควรมีความรู้เรื่องการใช้ยาเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ผลดีและปลอดภัย


เนื้อหา

ยาหมดอายุ/ยาเสื่อมคุณภาพ

เมื่อได้รับยา ต้องดูวันหมดอายุหรือวันผลิต ซึ่งยาแต่ละชนิดมีอายุการเก็บไม่เท่ากัน โดยทั่วไปควรดูดังนี้

  • วันหมดอายุ อาจเขียนว่า ”วันสิ้นอายุ” หรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Expire Date:..” หรือ “Exp. Date:…” หรือ “Used before….”
  • วันผลิต อาจเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Manu.Date:…” หรือ “Mfg. Date:…”

ยาบางชนิดแม้ว่าดูจากฉลากจะยังไม่หมดอายุ แต่ถ้าเก็บรักษาไม่ถูกต้องก็ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ก่อน ดังนั้นนอกจากดูฉลากยาให้ครบถ้วนแล้ว เราควรสังเกตคุณลักษณะภายนอกของยาด้วย หากพบว่ามีสิ่งผิดปกติก็ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ยานั้นเสื่อมคุณภาพ ไม่ควรกิน


สิ่งผิดปกติที่ควรสังเกต

ประเภทของยา ลักษณะผิดปกติ
ยาน้ำใส ขุ่น มีตะกอน ขึ้นรา
ยาน้ำเชื่อม สี กลิ่น รส เปลี่ยนจากเดิม
ยาน้ำแขวนตะกอน ตกตะกอนนอนก้นขวด เมื่อเขย่าแล้วผงยาไม่กระจายตัว
ยาเม็ด เม็ดแตก บิ่น ไม่เรียบ สีซีด เป็นจุด กลิ่นไม่ดี
ยาเม็ดเคลือบ เม็ดแตก เยิ้ม เหลว ผิวเป็นฝ้าไม่มัน
ยาแคปซูล แคปซูลแตก ปริ ชื้น ขึ้นรา
ยาขี้ผึ้ง ยาครีม เนื้อยาเยิ้มเหลว แยกชั้น กลิ่นสีเปลี่ยนจากเดิม


การกินยาหมดอายุ นอกจากจะไม่ได้ผลในการรักษา อาจทำให้โรคลุกลามเป็นอันตรายได้ บางครั้งตัวยาที่เสื่อม อาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้


การจัดเก็บยา

แนะนำให้เก็บยาไว้ในตู้ยา หรือลิ้นชักตู้ที่มิดชิด ถ้าไม่มีใส่กล่องพลาสติกหรือถุงพลาสติก เพื่อไม่ให้ถูกแสงสว่างและความร้อน ความชื้น ซึ่งจะทำให้ยาเสื่อมง่าย อีกทั้งป้องกันไม่ให้เด็กๆ หยิบฉวยไปกินเล่น ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นของกินเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาน้ำเชื่อมที่มีรสหวาน


การแพ้ยา

การแพ้ยา คือการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อยาที่ได้รับผิดไปจากธรรมดา การแพ้ยาไม่เกิดขึ้นบ่อยและไม่เกิดกับทุกคนที่ใช้ แต่เกิดขึ้นได้ในบางคนที่มีความไวต่อยาแตกต่างไปจากคนทั่วไป ผิดจากอาการข้างเคียงของยาที่มักเกิดกับคนส่วนใหญ่ที่กินยา และมักไม่เกิดอันตรายถ้ากินซ้ำ

การแพ้ยา อาจเกิดขึ้นทันทีทันใดหลังจากการใช้ยา ส่วนมากไม่รุนแรง ยาที่บริจาคส่วนใหญ่เป็นยาที่ปลอดภัยโอกาสแพ้น้อย การแพ้ชนิดไม่รุนแรงอาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง คัน บวมที่หน้าและคอ เป็นไข้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายเองเมื่อหยุดยา

อาการแพ้ยาที่เกิดหลังจากได้รับยา 24-28 ชั่วโมง มักจะอาการที่พบได้แก่ ผิวหนังมีผื่นแดง อักเสบ เม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดงลดลง เป็นต้น


ข้อควรปฏิบัติเมื่อแพ้ยา เมื่อได้รับยาชนิดใดเป็นครั้งแรก ผู้ป่วยควรสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เมื่อพบและสงสัยว่าจะเกิดจากยาควรหยุดยา และกลับไปพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนยา


การใช้ยาบรรเทาอาการ

ยาที่ท่านมักจะได้รับในช่วงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ระหว่างการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ มักเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถใช้ดูแลตนเองเบื้องต้น ก่อนที่จะมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจรักษา เป็นยาที่จัดว่ามีอันตรายน้อย ใช้บรรเทาอาการ อย่างไรก็ตามการใช้อย่างถูกต้อง นอกจากทำให้อาการดีขึ้นเร็ว ยังทำให้ปลอดภัยมากขึ้น จึงควรทราบขนาดและวิธีใช้ รวมทั้งข้อควรระวังต่าง ๆ ของยาที่มักได้รับจากการบริจาค


ผู้รับผิดชอบบทความ : ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียบเรียงและดูแลโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา

เครื่องมือส่วนตัว