โรคท้องร่วง

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 05:16, 25 ตุลาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

“อุจจาระร่วง” หรือบางครั้งเรียกว่า “ท้องร่วง” “ท้องเสีย” หรือ “ลำไส้อักเสบ” โดยทั่วไปโรคอุจจาระร่วงพบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กมักหยิบจับสิ่งต่างๆ เข้าปากหรือชอบดูดนิ้วมือ นอกจากนั้นอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสที่สำคัญคือไวรัสโรต้าซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก เด็กที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการไข้สูง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ และเกิดภาวะขาดน้ำ เชื้อแบคทีเรีย เช่น อหิวา บิด ทัยฟอยด์ อาจทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ แต่ปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากสุขอนามัยที่ดีขึ้น


อาการ

มีการถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกหรือมูกปนเลือด นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ อาเจียน ปวดท้อง บางครั้งอาจเกิดภาวะขาดน้ำซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะช็อกได้ มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือมีภาวะขาดอาหาร


การรักษา

การดูแลรักษาเบื้องต้นจะทำให้อาการของผู้ป่วยอุจจาระร่วงหายได้เร็วขึ้น ลดโอกาสในการเกิดภาวะขาดน้ำที่รุนแรง และลดโอกาสในการต้องพบแพทย์หรือต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล การดูแลประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารและดื่มนม การดื่มน้ำเกลือแร่ และการดูแลรักษาตามอาการที่พบร่วมด้วย


ผู้ป่วยอุจจาระร่วงควรรับประทานอาหารอ่อนๆ อาหารที่ย่อยง่าย และรับประทานครั้งละน้อยๆ เด็กสามารถดื่มนมได้ แต่นมที่ดื่มควรลดปริมาณลงและเพิ่มจำนวนมื้อในการดื่ม ในเด็กเล็กอาจต้องเปลี่ยนนมเป็นนมพิเศษสำหรับเด็กท้องเสีย กรณีที่ลักษณะของอุจจาระเป็นน้ำมากควรดื่มน้ำเกลือแร่ โดยชงผงเกลือแร่ตามคำแนะนำที่มีไว้ที่ข้างซอง


อาการอุจจาระร่วงมักดีขึ้นภายใน 2-3 วันหรืออย่างมากไม่เกิน 7 วัน หากผู้ป่วยดื่มน้ำได้ไม่มากพอ อ่อนเพลียอย่างมาก ซึม ปวดท้องรุนแรง ไข้สูง ควรพบแพทย์ซึ่งอาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำ


การป้องกัน

การป้องกันโรคอุจจาระร่วงทำได้โดยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหลังการประกอบอาหารและการใช้ห้องน้ำห้องส้วม น้ำที่สะอาดได้แก่น้ำประปาและน้ำบรรจุขวด ห้ามนำน้ำที่ท่วมขังมาดื่ม น้ำที่แกว่งสารส้มให้ตกตะกอนสามารถนำมาใช้อาบได้ แต่ห้ามนำมาดื่ม



ผู้รับผิดชอบบทความ : ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียบเรียงและดูแลโดย : รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เครื่องมือส่วนตัว