ทฤษฎีหลักสูตร

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 10:52, 16 มิถุนายน 2555 โดย Cchaler1 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ทฤษฎีหลักสูตร: พัฒนาการของกรอบแนวคิด

            เมื่อทบทวนการให้นิยามคำว่า  “หลักสูตร”  (curriculum) ของนักหลักสูตรที่ได้เสนอไว้ อาทิ หลักสูตรคือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายบางอย่างที่ได้กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้า (Tyler; Smith, Stanley และ Shores)  หลักสูตรคือแผนที่จะทำให้ผู้เรียนเกิด   การเรียนรู้ (Taba) หรือ หลักสูตร หมายถึง การเรียนรู้ต่างๆ  ที่ได้รับการวางแผนและวางแนวทางไว้แล้วล่วงหน้าโดยโรงเรียน (Kerr)  จะเห็นได้ว่า นิยามต่างๆ เหล่านี้  ยังคงสอดคล้องกับความหมายเดิมของคำว่า  “currere” ซึ่งเป็นรากศัพท์ในภาษาลาตินของคำว่าหลักสูตร ซึ่งหมายถึง “ลู่วิ่ง” ที่ผู้เรียนจะต้องออกวิ่งไปให้ถึงจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้กำหนดไว้  


เป็นที่น่าสังเกตว่า การกำหนดจุดหมายหรือสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติได้นั้น มักเป็นจุดหมายที่ผู้อื่น (ประเทศ รัฐ สังคม ชุมชน ครอบครัว ฯลฯ) กำหนดขึ้น แต่ในระยะต่อมาแนวคิดในการกำหนดจุดมุ่งหมายได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีการหันกลับมาเน้นที่ความสำคัญของผู้เรียนแต่ละคน ในฐานะผู้เลือกและผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาของตนเองมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนการที่ผู้เรียนแต่ละคนเป็นผู้กำหนดจุดหมาย ออกแบบและสร้างลู่วิ่งที่ขึ้นเอง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงกรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงของกรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร ส่งผลให้ทฤษฎีหลักสูตรเปลี่ยนแปลง ตามไปด้วย สำหรับคำว่าทฤษฎีหลักสูตรในที่นี้ หมายถึง ข้อความรู้ที่จะใช้บรรยายหรืออธิบายคำถามสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับหลักสูตรในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการใคร่ครวญในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งนักหลักสูตรพึงกระทำให้ตนเองเกิดความเข้าใจที่กระจ่างแจ้งเสียก่อน คำถามสำคัญ ดังกล่าว เช่น ความรู้คืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร ความรู้ใดที่มีคุณค่าและควรที่จะนำมาให้เรียน ใครเป็นผู้กำหนดว่าความรู้หนึ่งสำคัญกว่าอีกความรู้หนึ่งหรือควรเรียนก่อน จะจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้นั้นอย่างไร จะวัดประเมินอย่างไรว่าผู้เรียนเกิดความรู้หรือเรียนรู้แล้ว เป็นต้น คำถามต่างๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาแสดงให้เห็นว่า ทฤษฎีหลักสูตรมีความสัมพันธ์กับปรัชญาสาขาญาณวิทยา (epistemology) เป็นอย่างมาก เพราะมุ่งตั้งคำถามเน้นไปที่ “ความรู้” เป็นหลัก ในขณะที่เรื่องการเรียน การสอนกลับเป็นประเด็นรองลงไป ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่า กรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรมีความเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการปรากฏขึ้นของความรู้ในบุคคลเป็นสำคัญ


หากจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้น กรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร คือ ความเชื่อกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับ การเกิดขึ้นของความรู้ภายในบุคคล และโครงสร้างของการจัดการจัดการความรู้ ซึ่งสัมพันธ์กับคำถาม อาทิ ความรู้คืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร และความรู้ใดมีคุณค่ามากที่สุด (Morris, 1976: 299) จากนิยามดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า กรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร คือ ความคิดและความเชื่อที่นักหลักสูตรมีต่อกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับ “ที่มา” และ “วิธีการ” สร้างความรู้ในบุคคล ซึ่งจะนำไปใช้วางแผนหรือตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการกำหนดจุดประสงค์ เนื้อหา วิธีการเรียนการสอนและการประเมินผลในหลักสูตรฉบับเขียน และด้วยเหตุที่กรอบแนวคิดฯ ของนักหลักสูตรแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันออกไป จึงส่งผลให้ทฤษฎีหลักสูตรมีหลากหลายตามไปด้วย ทฤษฎีหลักสูตรดั้งเดิม มาจากการที่นักหลักสูตรกลุ่มหนึ่งมีกรอบแนวคิดว่า ความรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้เหตุผล ในการประมวลและสะท้อนความคิดต่างๆ ภายในตัวบุคคล ดังนั้น ผู้เรียนก็ควรที่จะได้เรียนเนื้อหาสาระความรู้ที่ทำให้เกิดการใช้เหตุผล เช่น คณิตศาสตร์ ไวยากรณ์ ตรรกศาสตร์ วาทวิทยา ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณคดี เป็นต้น กรอบแนวคิดเช่นว่านี้ ทำให้หลักสูตรเน้นไปที่เนื้อหาวิชา หรือความรู้ต่างๆ ที่ผู้เรียนพึงศึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการให้เหตุผลของตนเอง อันจะนำไปสู่การแสวงหาความจริงแท้ (pursuit of truth) ต่อมาเมื่อทฤษฎีการเรียนรู้มีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ นักหลักสูตรอีกกลุ่มหนึ่งจึงพยายามที่จะเสนอกรอบแนวคิดใหม่ ที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อว่า ความรู้ไม่ใช่เรื่องของการใช้เหตุผลหรือเพียงการนึกคิดเอาเท่านั้น แต่ความรู้ที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการซึมซับประสบการณ์ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏอยู่จริงในโลก แล้วเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างเพื่อสร้างเป็นความรู้ใหม่สำหรับตนเองขึ้นมา นักหลักสูตรในกลุ่มนี้ จึงสร้างทฤษฎีหลักสูตรที่อธิบายว่า หลักสูตรคือมวลประสบการณ์ที่ผู้เรียนพึงได้รับ เพื่อให้พวกเขาได้ลงมือปฏิบัติหรือสัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น ทฤษฎีหลักสูตรในกลุ่มนี้จึงเน้นไปที่การจัดกิจกรรมและประสบการณ์อันหลากหลายให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากทฤษฎีหลักสูตรในยุคแรกเป็นอย่างมาก


             	สำหรับนักหลักสูตรที่ศรัทธาในวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในปัจจุบันนั้น มีกรอบแนวคิดที่เชื่อว่า ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนก็คือความรู้ที่มีอยู่ในการปฏิบัติงานจริงของผู้ใหญ่  ทฤษฎีหลักสูตรในกลุ่มนี้ จึงเริ่มจากการอธิบายว่า ความรู้ใดบ้างที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ หรือเป็นความรู้ที่สำรวจพบในสังคมของผู้ใหญ่ และเด็กควรที่จะศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานหรือตอบสนองต่อความต้องการของสังคมเมื่อเติบโตขึ้น  การจัดการเรียนการสอนของทฤษฎีหลักสูตรกลุ่มนี้       จึงดำเนินการภายใต้ความเชื่อว่า โรงเรียนคือสังคมผู้ใหญ่จำลองที่ผู้เรียนจะต้องออกไปเผชิญ  ดังนั้น  โรงเรียนจึงมีหน้าที่สะท้อนให้นักเรียนเห็นความรู้และทักษะที่ผู้ใหญ่ในสังคมจะต้องปฏิบัติ  การให้ความสำคัญกับวิเคราะห์สิ่งที่สังคมต้องการ แล้วนำมากำหนดความรู้หรือประสบการณ์ที่ผู้เรียนพึงได้รับในวัยเด็กเช่นนี้ ถือเป็นแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีหลักสูตรที่เน้นผลผลิต ซึ่งก็มีจุดอ่อนที่สำคัญคือ เป็นทฤษฎีที่มิได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะมิได้คำนึงว่า ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องการหรือไม่  และที่จริงแล้วความรู้ โดยส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นภายในบุคคล  มากกว่าที่จะรับมาจากภายนอกก็เป็นได้  


กระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ทำให้บุคคลเริ่มแสวงหาวิถีชีวิตหรือสิ่งที่เป็นความหมายที่แท้จริงสำหรับชีวิต หลักสูตรที่รับใช้แต่ในที่สังคมต้องการจึงได้รับการพิจารณาจากนักหลักสูตรกลุ่มใหม่ ที่มีกรอบแนวคิดอันเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ความรู้ใดจะสำคัญจำเป็นหรือเป็นที่ต้องการมากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ความรู้ที่สังคมให้คุณค่า อาจจะมิใช่ความรู้ที่บุคคลหนึ่งเห็นคุณค่า ซึ่งก็ทำให้เขาสามารถ “ปฏิเสธ” ความรู้นั้นก็ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การตัดสินใจว่าความรู้คืออะไร ความรู้อะไรที่สำคัญ และจะพัฒนาตนเองให้เกิดความรู้ดังกล่าวได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลจะต้องตัดสินใจและดำเนินการเองตามศักยภาพที่ตนเองมี ทฤษฎีหลักสูตรกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธทฤษฎีหลักสูตรกลุ่มที่เชื่อในความต้องการของสังคมหรือ “บุคคลภายนอก” อื่นๆ ที่จะเข้ามาอิทธิพลในการกำหนดเป้าหมายในชีวิตของแต่ละบุคคล รวมทั้งปฏิเสธวิธีการเรียนการสอนใดๆ ที่มิได้เริ่มจากความต้องการของผู้เรียน จะเห็นได้ว่า กรอบแนวคิดของหลักสูตรกลุ่มหลังนี้ ผู้เรียนถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดที่จะเป็นผู้เลือกด้วยตนเองว่า อะไรคือสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตของเขา และตนเองควรจะต้องทำหรือไม่ทำอะไร หลักสูตรจึงมิใช่สิ่งที่กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้า ดังเช่นที่นักหลักสูตรทุกกลุ่มข้างต้นได้เสนอแนวคิดไว้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างระยะทางแห่งการ “ก้าวไป” ข้างหน้าเรื่อยๆ ตามความสนใจ ความต้องการ ความพร้อมและบริบทของผู้เรียนคนนั้น


                คุณค่าของการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีหลักสูตร  มิได้อยู่ที่การทำความเข้าใจว่าทฤษฎีหลักสูตรแต่ละทฤษฎีกล่าวไว้ว่าอย่างไร แต่กลับอยู่ที่คำถามที่งอกเงยตามมาอย่างรวดเร็ว  อันเนื่องมาจากกรอบแนวคิดที่เป็นพื้นฐานของแต่ละทฤษฎีดังกล่าวนั้น  เช่น หากมีกรอบแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรอันเนื่องมากจากความเชื่อที่ว่า ความรู้เกิดจาการประสบการณ์ และเราควรที่จะประสบการณ์ที่หลากหลายให้แก่ผู้เรียน คำถามที่ตามมาคือ  ประสบการณ์ใดจะมีนัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด  เพราะผู้เรียนแต่ละคนอาจเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ต่างกันก็เป็นได้  และจะต้องให้ประสบการณ์ดังกล่าวในอัตราที่มากน้อยเพียงใด หรือให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกี่ครั้ง กี่ชั่วโมงหรือประเมินผลอย่างไร  จึงจะมั่นใจได้ว่าผู้เรียนเกิดความรู้ขึ้นแล้ว เป็นต้น  นักหลักสูตรจำเป็นจะต้องตระหนักถึงคำถามเหล่านี้ให้มาก  เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนและมีหลักการที่มั่งคงเพียงพอ  ในการนำไปพัฒนาหลักสูตรฉบับเขียนที่เป็นรูปธรรม  และมีแนวทางการนำไปใช้ที่ชัดเจนตามความเชื่อของแต่ละกรอบแนวคิด  

หัวข้อ

                                                                     __________________________________________

เรียบเรียงโดย เฉลิมลาภ ทองอาจ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เครื่องมือส่วนตัว