การสร้างงานนาฏยศิลป์จากภาพเขียนสีเขาจันทร์งาม

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 14:24, 10 ตุลาคม 2555 โดย 53866040 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์ยังไม่รู้จักบันทึกเรื่องราวของตนเองเป็นลายลักษณ์อักษร โครงกระดูกโบราณและเครื่องมือเครื่องใช้ที่นักโบราณคดีค้นพบจึงนับเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยถ่ายทอดเรื่องราว ให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันรู้จักเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น หลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นหนึ่งที่ปรากฏในประเทศไทย คือศิลปะถ้ำ (Rock Art) ที่บอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์หรือความเชื่อของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นออกมาเป็นภาพแทนการเขียนเป็นตัวอักษร งานศิลปะบนหิน พบในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แหล่งศิลปะถ้ำที่ถูกค้นพบในประเทศไทยเป็นแรก อยู่ที่อ่าวพังงา จังหวัดพังงา นายเอเตียน เอ็ดมองต์ ลูเนต์ เดอ ลาจงกิแยร์ (E.E.Lunet de Lajonquiere) ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้บันทึกไว้ในงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2454 (กรมศิลปากร, 2532:26) ในประเทศไทย ภูมิภาคที่พบศิลปะถ้ำมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยเป็นภูมิภาคที่มีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศ การค้นพบศิลปะถ้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถูกพบเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2467 ปรากฏบนข้อความของ นาย เอ.เอฟ.จี.แคร์ (A.F.G.Kerr) ในวารสารสยามสมาคม ที่กล่าวถึงภาพเขียนสีที่ผามือแดง หรือถ้ำมือแดง เขาจอมนาง บ้านส้มป่อย ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ปัจจุบัน อำเภอมุกดาหารได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว) (กรมศิลปากร, 2532:26) ต่อจากนั้นเป็นเวลากว่า 100 ปี การสำรวจและค้นพบศิลปะถ้ำภายในประเทศไทยได้กระทำกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้พบศิลปะถ้ำในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปรากฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกว่า 131 แหล่ง ส่วนในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทยหรืออีสานล่าง พบแหล่งศิลปะถ้ำเพียงแห่งเดียวคือ ภาพเขียนสีที่เขาจันทร์งาม ณ บ้านเลิศสวัสดิ์ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2520 ภาพที่ปรากฏแสดงถึงสังคมการอยู่อาศัยรวมกันของมนุษย์ การเกษตรกรรม การล่าสัตว์ การประดิษฐ์เครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงการเต้นรำหรือพิธีกรรมของกลุ่มชน ภาพเขียน ไม่ได้เป็นเพียงสื่อกลางที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากอดีตสู่ปัจจุบัน ภาพเขียนยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินได้สร้างสรรค์งานศิลปะประเภทต่างๆขึ้น อาทิ งานประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพสลัก งานออกแบบลายผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมไปถึงงานนาฏยศิลป์ ภาพเขียนจึงเป็นเสมือนข้อมูลขั้นต้นที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ได้เช่นกัน ภาพเขียนมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดเนื้อหา สร้างเรื่องราว (Story) แก่นสาร (Theme) บุคลิก (Character) ของผู้แสดง ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องแต่งกาย (Costume) ภาพเขียนมีอิทธิพลต่องานแสดงหลายประเภททั้งนาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์ตะวันตกหรืองานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ในส่วนของการแสดงนาฏยศิลป์ไทย ภาพเขียนมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างแรงบันดาล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละคร โขน รำ หรือระบำ เช่น ระบำโบราณคดีที่ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในสมัยอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าความเป็นไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี ระบำโบราณคดีชุดแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นคือ ระบำลพบุรี โดยนำท่าที่ปรากฏในภาพจำหลักมาทำการร้อยเรียงใหม่ ให้กลมกลืนและผสานเข้ากับทำนองเพลง พร้อมกับสร้างสรรค์ลีลาเพื่อให้การแสดงเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ (ภูริตา เรืองจิรยศ, 2551: 15) ภาพเขียนยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดงประเภทอื่นอีก เช่น ในการแสดง “มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ์ พระมหาชนก” จากบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จัดแสดงขึ้นในปี พ.ศ. 2549 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นราพงษ์ จรัสศรี เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และกำกับลีลา ได้นำเอาภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวของวรรณกรรมเรื่อง พระมหาชนก มาเป็นแรงบันดาลใจหรือแนวทางในการสร้างสรรค์ลีลาและองค์ประกอบอื่นๆ ของการแสดง ให้ปรากฏเป็นผลงานทางนาฏยศิลป์เพื่อสื่อสารกับผู้ชมให้ได้เรียนรู้ถึงสาระของเรื่อง (นราพงษ์ จรัสศรี, สัมภาษณ์, 9 มกราคม 2555) ในปัจจุบันการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์จากภาพเขียนหรือจิตรกรรมฝาผนัง ได้รับความสนใจสร้างสรรค์เป็นการแสดงไม่มากนัก จากปัญหาที่มาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การสร้างสรรค์งานทางนาฏยศิลป์ที่ขาดหลักการและเหตุผลในการถ่ายทอดสาระ เรื่องราวที่แฝงอยู่ในภาพเขียนนั้นให้ออกมาเป็นผลงานทางนาฏยศิลป์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ชม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพที่ปรากฏเป็นเพียงภาพเขียน ภาพวาด ภาพสลักหรือบางทีอาจเป็นเพียงรอยขูด ขีด ที่ยากต่อการที่จะสันนิษฐานหรือจินตนาการออกมาได้ว่าเป็นภาพอะไร ทำให้เกิดการจินตนาการที่เกินเลยของผู้สร้างงาน การคาดเดาเรื่องราวแทนผู้สร้างภาพในอดีต อาจทำให้ส่งสารที่ผิดไปยังผู้ชม อาจทำให้เกิดการไม่ยอมรับหรือต่อต้านจากผู้ชม ทำให้การสร้างงานสร้างสรรค์ทางนาฏยศิลป์ที่เกี่ยวกับภาพเขียน โดยเฉพาะภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร การที่จะสร้างงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น โดยเลือกเอาภาพเขียนสีที่เขาจันทร์งาม ณ บ้านเลิศสวัสดิ์ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นภาพเขียนสีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวที่ปรากฏในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทยหรืออีสานล่าง มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน ผู้สร้างงานจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลภาพเขียนสีที่ปรากฏบนผนังเพิงผาหินทราย ที่มีอายุราว 3,000 – 4,000 ปี ซึ่งมีจำนวนประมาณ 38 รูป (กรมศิลปากร, 2532:102) รวมทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์และข้อมูลแวดล้อม นำมารวบรวม และวิเคราะห์ ผสานกับจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ โดยใช้แนวทางการสร้างสรรค์ตามองค์ประกอบทางการแสดง อันได้แก่ บทการแสดง,ลีลาประกอบการแสดง,เครื่องแต่งกาย,อุปกรณ์สำหรับการแสดง,แสงสำหรับการแสดง, พื้นที่เวทีสำหรับการแสดง, เสียงและดนตรีสำหรับการแสดง สร้างสรรค์ขี้นเป็นงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยโดยนำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม ของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสะท้อนรากเหง้าบรรพบุรุษของชนชาวอีสาน และยังทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการสร้างงานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนสีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะต่อไป

เครื่องมือส่วนตัว