ข้อกำหนดทางเภสัชเวทและปริมาณสารไดออสโครีนของหัวกลอย

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 05:17, 13 ตุลาคม 2555 โดย Pchanida (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ข้อกำหนดทางเภสัชเวทและปริมาณสารไดออสโครีนของหัวกลอย นงลภัส ศศิวัจน์ไพสิฐ, ชนิดา พลานุเวช และ นิจศิริ เรืองรังษี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลอย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea hispida Dennst. (Family Dioscoreaceae) หัวกลอยแห้งเป็นเครื่องยาสมุนไพรในตำรับยาธรณีสันฑะฆาตที่มีสรรพคุณรักษาอาการกระษัยเส้น เถาดาน (อาการแข็งเป็นลำในท้อง) และท้องผูก เนื่องจากกลอยยังไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย อีกทั้งข้อมูลทางเภสัชวิทยา และพิษวิทยาของหัวกลอยพบว่ามีสารพิษคือไดออสโครีน ซึ่งเป็นสารมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อกำหนดทางเภสัชเวทรวมทั้งวิเคราะห์หาปริมาณสารไดออสโครีนของหัวกลอย โดยเก็บหัวกลอยจาก 14 แหล่งทั่วประเทศไทย วาดภาพลายเส้นแสดงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชสมุนไพรกลอย นำหัวกลอยมาฝานเป็นแผ่นบาง ตากแดดให้แห้ง ตามการเตรียมเครื่องยากลอย ลักษณะทางมหภาคของเครื่องยามีรูปร่างเป็นแท่งยาวหรือรูปทรงต่าง ๆ สีนวล ขอบสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเด่นทางจุลภาคของหัวกลอยคือ เม็ดแป้งและผลึกรูปเข็ม การศึกษาเอกลักษณ์ทางเคมี-ฟิสิกส์ของหัวกลอย พบว่า มีปริมาณเถ้ารวม เถ้าที่ไม่ละลายในกรด ความชื้น และปริมาณน้ำไม่เกินร้อยละ 3.44, 0.92, 11.50 และ 11.55 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอล และปริมาณสารสกัดด้วยน้ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.00 และ 15.07 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ วิเคราะห์ปริมาณไดออสโครีนโดยวิธีทีแอลซีร่วมกับการวิเคราะห์เชิงภาพเปรียบเทียบกับวิธีทีแอลซีเดนซิโทเมทรี เตรียมสารมาตรฐานไดออสโครีนโดยการสกัดหัวกลอยแห้งด้วยเอทานอล ตกผลึกด้วยกรดพิคริก สกัดกลับ และทำให้บริสุทธิ์โดยวิธีโครมาโทกราฟีแบบคอลัมน์ ตรวจยืนยันโดยวิธีโปรตอน และคาร์บอนนิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ สกัดหัวกลอยแห้งทั้ง 14 แหล่งด้วยเอทานอล โดยวิธีสกัดแบบซอกห์เลต นำสารสกัดที่ได้ไปวิเคราะห์หาปริมาณสารไดออสโครีนโดยวิธี TLC เฟสคงที่เป็นอะลูมิเนียมที่ฉาบด้วยอะลูมิเนียมออกไซด์ ใช้ตัวทำละลายเมทานอลต่อคลอโรฟอร์ม (97: 3) เป็นเฟสเคลื่อนที่ บันทึกภาพสารไดออสโครีนภายใต้แสงอัลตราไวโอเลตที่ความยาวคลื่น 254 นาโนเมตร พบว่ามีค่า hRf เท่ากับ 80 วัดปริมาณสารโดยใช้โปรแกรม Scion Image ใน TLC หนึ่งแผ่นประกอบด้วยสารมาตรฐานไดออสโครีน 5 ความเข้มข้น และสารสกัดตัวอย่างหัวกลอยจาก 14 แหล่ง แต่ละแหล่งทำ 3 ซ้ำ วิธีทีแอลซีเดนซิโทเมทรีทำเช่นเดียวกันโดยใช้เครื่อง Camag Linomat syringe และ Camag TLC scanner ร่วมกับ winCATS software ในการดำเนินการแทน พบปริมาณสารไดออสโครีนร้อยละ 0.66 และ 0.72 โดยน้ำหนัก เมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีทั้งสอง ตามลำดับ วิธีวิเคราะห์สารไดออสโครีนทั้งสองวิธี มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.999 ในช่วงความเป็นเส้นตรงระหว่าง 2.50 – 12.50 ไมโครกรัมต่อหนึ่งจุด ขีดจำกัดของการตรวจพบและขีดจำกัดของการหาปริมาณของสารไดออสโครีนมีค่า 0.69 และ 2.34 ไมโครกรัมต่อหนึ่งจุด เมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีทีแอลซีร่วมกับการวิเคราะห์เชิงภาพ และ 0.60 และ 2.04 ไมโครกรัมต่อหนึ่งจุด เมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีทีแอลซีเดนซิโทเมทรี ตามลำดับ ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถจัดทำเป็นข้อกำหนดมาตรฐานของเครื่องยาสมุนไพรกลอย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาตำรับยาที่เข้าตัวยาต่อไป

กิตติกรรมประกาศ: ทุน 90 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ทุนสนับสนุนและส่งเสริมโครงการขับเคลื่อนการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไฟล์:dioscorea hispida NS.jpg

เครื่องมือส่วนตัว