ปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์และภาระการดูแลของผู้ดูแล ที่แผนกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาธิดา แรกคำนวน วท.บ.* , พีรพนธ์ ลือบุญธวัชชัย พบ., วท.ม.*

บทคัดย่อ

เนื้อหา

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์และภาระการดูแลของผู้ดูแล  รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์และภาระการดูแลของผู้ดูแล ที่แผนกจิตเวชศาสตร์   โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

วิธีการศึกษา

ศึกษาผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์ที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลผู้ป่วย  ที่แผนกจิตเวชศาสตร์   โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน พ.ศ.2554    แบบสอบถามมีทั้งหมด 3 ชุดได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป  2) แบบสอบถามภาระการดูแล (Zarit  Burden  Interview, ZBI) และ 3) แบบประเมินปัญหาพฤติกรรมและจิตใจในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (Behavioral Pathology in Alzheimer's Disease Rating Scale, BEHAVE-AD)  วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ กับปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยและภาระการดูแลของผู้ดูแล  โดยใช้การทดสอบไคสแควร์  และวิเคราะห์ความถดถอยแบบลอจิสติกเพื่อหาปัจจัยทำนายปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยและภาระการดูแลของผู้ดูแล โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 

ผลการศึกษา

ด้านปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์  พบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 68.9) มีอายุเฉลี่ย 77.7 ปี ระยะเวลาที่ป่วยเฉลี่ย 4.6 ปี คะแนนแบบทดสอบสมรรถภาพสมองของไทย (Thai Mental State Examination, TMSE) เฉลี่ย 19.5  พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ (คะแนนรวมตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไป) ร้อยละ 64.4 เมื่อพิจารณาตั้งแต่ 1 อย่าง พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 97.8 มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจอย่างน้อย 1 อย่าง   และร้อยละ 46.7 มีผลกระทบของปัญหาพฤติกรรมและจิตใจต่อผู้ดูแลในระดับเล็กน้อย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วย ได้แก่ ระยะเวลาการป่วย (p < 0.05)  ระดับคะแนน TMSE  (p < 0.01) ปัจจัยทำนายปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วย ได้แก่ ระยะเวลาการป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป (p < 0.05) ระดับคะแนน TMSE ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 23 (p < 0.01) และด้านภาระการดูแลของผู้ดูแล พบว่า ผู้ดูแล ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 86.7) มีอายุเฉลี่ย 49.4 ปี  พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 68.9) มีภาระการดูแล  ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ดูแลที่เกี่ยวข้องกับภาระการดูแลของผู้ดูแล ได้แก่ อายุผู้ดูแล  การประกอบอาชีพ  และรายได้ (p < 0.05)  ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับภาระการดูแลของผู้ดูแล  ได้แก่ อายุผู้ป่วย (p < 0.05)  ปัจจัยด้านปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับภาระการดูแลของผู้ดูแล ได้แก่ ผลกระทบของปัญหาพฤติกรรมและจิตใจต่อผู้ดูแล (p < 0.01) ปัจจัยทำนายภาระการดูแลของผู้ดูแล ได้แก่ ผลกระทบของปัญหาพฤติกรรมและจิตใจต่อผู้ดูแลในระดับปานกลางถึงมาก (p < 0.01)

สรุป

 ปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้สูงมากเกือบทุกราย และผลกระทบของปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยมีความเกี่ยวข้องกับภาระการดูแลของผู้ดูแล ดังนั้น ในการลดภาระการดูแล จึงควรมุ่งเน้นการรักษาปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วย และให้ความสำคัญในการดูแลรักษาทางด้านจิตใจแก่ผู้ดูแลด้วย
เครื่องมือส่วนตัว