ชญานิน
จาก ChulaPedia
ตำรับยาเบญจมูลใหญ่เป็นตำรับยาแพทย์แผนไทยโบราณมีสรรพคุณในการลดไข้และแก้อักเสบ ประกอบไปด้วยรากมะตูม รากเพกา รากลำไย รากแคแตร และรากคัดลิ้น การทดลองครั้งนี้เริ่มต้นศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสิ่งสกัดรวมของตำรับยาเบญจมูลใหญ่ (BMY) สิ่งสกัดจากรากของ Aegle marmelos (AM), Oroxylum indicum (OI), Dimocarpus longan (DL), Dolichandrone serrulata (DS) และ Walsura trichostemon (WT) เมื่อให้โดยการป้อนด้วยวิธี hot-plate ในหนูเมาส์ โดยจับเวลาที่หนูเมาส์สามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ (hot-plate latencies) ก่อนให้น้ำเกลือ และมอร์ฟีน (10 มก./กก.) ทางช่องท้อง หรือ 2% Tween 80, BMY ขนาดต่างๆ (125, 250 และ 500 มก./กก.) AM, OI, DL, DS และ WT ขนาดต่างๆ (25, 50, 100, 200 และ 400 มก./กก.) โดยการป้อน พบว่า BMY ทุกขนาดที่ให้ AM (400 มก./กก.), DS (200 และ 400 มก./กก.) และ WT (100-400 มก./กก.) มีฤทธิ์ระงับปวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งฤทธิ์ระงับปวดนั้นถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดน่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid ในการทดลองที่เหนี่ยวนำให้หนูเมาส์เกิดความเจ็บปวดด้วยฟอร์มาลิน ทำการฉีด 2.5% ฟอร์มาลิน ปริมาตร 20 ไมโครลิตร เข้าที่บริเวณอุ้งเท้าหลังด้านซ้ายของหนูเมาส์หลังจากให้น้ำเกลือและมอร์ฟีนทางช่องท้อง หรือหลังจากให้ 2% Tween 80 อินโดเมทาซิน (IND; 10 มก./กก.) BMY, AM, OI, DL, DS และ WT ขนาดต่างๆ โดยการป้อน พบว่า BMY (250 มก./กก.), AM, DS และ WT (400 มก./กก.) ทำให้หนูใช้เวลาเลียอุ้งเท้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในระยะแรก ในขณะที่ BMY ทุกขนาดที่ให้ AM (400 มก./กก.), OI (100-400 มก./กก.), DL, DS และ WT (200 และ 400 มก./กก.) ทำให้หนูใช้เวลาเลียอุ้งเท้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในระยะหลัง ในการทดสอบฤทธิ์ระงับปวดโดยเหนี่ยวนำให้หนูเมาส์เกิดความเจ็บปวดจนเกิดอาการบิดงอลำตัว (writhing) ด้วยกรดอะซิติก ทำการฉีดกรดอะซิติก 0.6% (10 มล./กก.) เข้าทางช่องท้องหลังจากให้ 2% Tween 80 อินโดเมทาซิน BMY, AM, OI, DL, DS และ WT ขนาดต่างๆ โดยการป้อน พบว่า BMY ทุกขนาดที่ให้ AM, DS และ WT (200 และ 400 มก./กก.) OI และ DL (100-400 มก./กก.) สามารถลดจำนวนครั้งของการบิดงอลำตัวของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการทดสอบด้วย rota-rod พบว่า BMY, AM, OI, DL, DS และ WT ในขนาดสูงสุดไม่มีผลต่อการทรงตัวของหนูเมาส์หลังจากให้สิ่งสกัดโดยการป้อน หลังจากนั้นทำการประเมินฤทธิ์ต้านการอักเสบของ BMY, AM, OI, DL, DS และ WT ที่ให้โดยการป้อน ด้วยการเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูเมาส์บวมด้วยคาราจีแนน พบว่า BMY ทุกขนาดที่ให้ AM (400 มก./กก.) OI, DL, DS (200 และ 400 มก./กก.) และ WT (25-400 มก./กก.) สามารถลดการบวมของอุ้งเท้าหนูเมาส์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในระยะที่ 2 ของการบวม แสดงถึงการยับยั้งพรอสตาแกลนดิน (PGs) ส่วนการเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูเมาส์บวมด้วยพรอสตาแกลนดินอี 2 พบว่าสิ่งสกัดจากรากทั้งห้าชนิดในขนาดสูงสุด สามารถลดการบวมของอุ้งเท้าที่เวลา 0.5-1.5 ชั่วโมงหลังจากฉีดพีจีอี 2 ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการทดสอบฤทธิ์ระงับปวดทั้งหมดสนับสนุนว่า BMY, AM, DS และ WT ออกฤทธิ์ระงับปวดได้ทั้งในระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย กลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดมีความเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid ส่วนกลไกในการต้านการอักเสบของสิ่งสกัดจากรากทั้งห้าชนิดอาจเกี่ยวข้องกับการรบกวนการหลั่งพรอสตาแกลนดินหรือการยับยั้งผลของพีจีอี 2