พุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์
จาก ChulaPedia
ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์ : พุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์ในพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติของไทย : กรณีศึกษาวัดในจังหวัดนครปฐม. (SUPERSTITIOUS AND BUDDHIST COMMERCIALS IN THAI PRACTICAL BUDDHISM : CASE STUDIES OF TEMPLES IN NAKHON PATHOM PROVINCE) อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก : อ.ดร.พินิจ ลาภธนานนท์.
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผสมกลมกลืนของพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ในวิถีชีวิตและวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนไทย กับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม “บุญพาณิชย์” กับพุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์ในพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติของไทย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เจาะลึกด้วยแนวคำถามการสัมภาษณ์ (Interview Guides) กับกลุ่มประชากรที่มีความเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับ
พุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์ ทั้งกลุ่มพระสงฆ์และฆราวาส ในพื้นที่วัดไร่ขิง พระอารามหลวง และวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม รวมทั้งการค้นคว้าจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ พื้นฐานความเชื่อความศรัทธาต่างๆ รวมถึงวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนไทยบนพื้นฐานแนวคิด “พุทธศาสนาเชิงปฏิบัติ” ภายใต้บริบทสังคมไทย เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ตามประเด็นการวิจัย และนำมาเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับใช้ประกอบกับการศึกษาและตีความข้อมูลจากการวิจัยสนาม
ผลการวิจัย พบว่า วิถีชีวิตของคนไทยประกอบไปด้วยความเชื่อพื้นฐานที่เป็นไปตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ทั้งความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และ
พุทธศาสนาตามลำดับ โดยเฉพาะพุทธศาสนาในประเทศไทย มีลักษณะที่ผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์และคติความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผีสางเทวดา อำนาจลึกลับ จนเป็นแหล่งที่มาของไสยศาสตร์ โดยผสมกลมกลืนไปกับพิธีกรรมหรือวิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนไทย และเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปด้วยอิทธิพลของทุนนิยมและบริโภคนิยม ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติทางศาสนาของคนไทย เกิดการผันแปรความเชื่อและการปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาแตกต่างไปจากเดิม ส่งผลถึงการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ด้วย เป็นสภาพการณ์ในวิถีปฏิบัติที่มีเรื่องของผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง การทำบุญที่เป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนไทย จากสิ่งที่เป็นนามธรรมก็สามารถแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านปรากฏการณ์พฤติกรรมที่เรียกว่า “บุญพาณิชย์” ในวิถีปฏิบัติแบบพุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์ได้ โดยพฤติกรรมบุญพาณิชย์เป็นเงื่อนไขและพฤติกรรมสำคัญที่เชื่อมโยงและเกื้อหนุนกระบวนการพุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์เข้าด้วยกัน เป็นทั้งเหตุและผลของวิถีปฏิบัติพุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์อีกทั้งมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะของแบบแผนวิถีการได้มาซึ่งบุญ โดยแสดงออกผ่านปัจจัยสนับสนุนส่งเสริมชี้วัดความเป็นพาณิชย์ที่สำคัญ 5 ประการ คือ (1) กิจกรรมหรือพิธีกรรม (2) สถานที่ประกอบกิจกรรม (3) บุคคลในกิจกรรม (4) ราคา ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม และ (5) แผนการตลาด ซึ่งวิถีปฏิบัติภายใต้ ความเชื่อความศรัทธาดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาย่อมไม่สามารถหาคำอธิบายได้อย่างชัดเจน ดังนั้นการอธิบายด้วยแนวคิด “พุทธศาสนาเชิงปฏิบัติ” จึงเป็นแนวทางที่สามารถเชื่อมโยงถึงวิถีปฏิบัติทางศาสนาและปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ที่มีรากฐานสำคัญมาจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากวิถีการดำเนินชีวิตทางโลกแบบท้องถิ่นที่ไม่ได้ตรงตามตำราคำสอนทางพุทธศาสนา แต่เป็นวิถีปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางความเชื่อ ความศรัทธาต่างๆ ภายใต้บริบทของวิถีชีวิตประจำวันของพุทธศาสนิกชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำผลการวิจัยในประเด็นพุทธพาณิชย์ ไสยพาณิชย์ และบุญพาณิชย์ ที่กลุ่มพระสงฆ์และฆราวาสได้ให้ความหมายไว้มาประกอบการตรวจสอบกับข้อเท็จจริงและวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนไทยที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถสรุปรวมเพื่อหาความแตกต่างหรือจุดแยกระหว่างกันของแนวคิดต่างๆ ได้ ดังนี้ 1. พุทธพาณิชย์ คือ กระบวนการค้าขายความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาโดยใช้วัตถุหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาหรือพระรัตนตรัย มาเป็นเครื่องมือสร้างรายได้แสวงหาผลประโยชน์ในทางพาณิชย์ กล่าวคือ เป็นการใช้เงินเพื่อแสดงออกซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนกับพุทธศาสนา ที่บ่งบอกถึงความใกล้ชิดและลักษณะความสัมพันธ์ที่มีร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การเช่าบูชาพระเครื่อง พระบูชา การทำบุญพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด การสักการะพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ทอง ที่ทางวัดจัดบริการไว้ให้ เป็นต้น 2. ไสยพาณิชย์ คือ กระบวนการค้าขายความเชื่อความศรัทธาทางไสยศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับชีวิต เช่น การใช้เงินเพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมการลงนะหน้าทองจันทร์มหาเสน่ห์ การเจิมแป้งนะเมตตามหามงคล การอาบน้ำคืนเพ็ญ การสวดนพเคราะห์ สะเดาะเคราะห์เสริมชะตา บารมี หรือแม้กระทั่งการใช้เงินซื้อเครื่องรางของขลัง วัตถุหรือสัญลักษณ์ทางไสยศาสตร์ เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี แคล้วคลาดปลอดภัย เสริมสิริมงคล เมตตามหานิยม เจริญรุ่งเรือง เช่น กุมารทอง วัวธนูตำรับหลวงพ่อพูล มงคลวัตถุสิงห์เมตตามหาบารมี เป็นต้น
3. บุญพาณิชย์ คือ กระบวนการค้าบุญหรือการใช้เงินเพื่อเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายบุญ สะสมบุญ อุทิศผลบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ ภายใต้รูปแบบและเจตนาทางธุรกิจ โดยกระทำการผ่านผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ (บุญ) ที่ต่างยอมรับปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุญตามความเชื่อนั้น
จุดต่างของแนวคิดทั้ง 3 ที่แบ่งแยกความชัดเจนสำหรับผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ โดยเฉพาะพุทธพาณิชย์และบุญพาณิชย์นั้น คือ ประเด็นความแตกต่างในเชิงสัญลักษณ์ อันสอดคล้องกับหลักเกณฑ์พื้นฐานความแตกต่างระหว่างกิจกรรมพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ในวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนไทย ที่ผู้วิจัยได้นำเรื่องวัตถุหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องโดยบ่งบอกถึงความเป็นพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ในเชิงสื่อตัวแทน มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยกวิถีปฏิบัติในแต่ละกิจกรรมหรือพิธีกรรม ซึ่งในบริบทของการจำแนกความต่างนี้ “บุญพาณิชย์” จึงหมายถึง การใช้เงินทำบุญซื้อบุญในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ความเป็นพุทธศาสนา เช่น การทำบุญไถ่ชีวิตโค-กระบือของวัดไร่ขิง โดยการหยอดเงินลงไปในรูปปั้นโคกระบือ เป็นต้น โดยรูปปั้นโคกระบือ คือ ตัวแทนของบุญในเชิงสัญลักษณ์ ที่ผู้ให้บริการ (วัด) และผู้ใช้บริการ (พุทธศาสนิกชน) มีความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน การได้มาของบุญในลักษณะนี้จึงเป็นการกระทำผ่านสัญลักษณ์ที่วัดได้จัดทำขึ้น ซึ่งในที่นี้คือ รูปปั้นวัวควาย พุทธศาสนิกชนสามารถใช้เงินในการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายบุญ โดยการหยอดเงินใส่รูปปั้นนั้น โดยที่ตนเองไม่จำเป็นต้องดำเนินการไถ่ชีวิตโคกระบือเอง เพียงแค่หยอดเงินทำบุญลงไปที่รูปปั้น แล้วให้วัดเป็นผู้ดำเนินการแทน ก็เสมือนหนึ่งตนเองได้เป็นผู้กระทำการไถ่ชีวิตโคกระบือนั้นตามเจตนารมณ์แห่งบุญที่คาดหวังไว้ เช่นเดียวกับประเด็นพุทธพาณิชย์ ที่เป็นการใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาอันหมายถึง พระพุทธรูป
รอยพระพุทธบาท พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น มาเป็นเครื่องมือแสวงหารายได้ เช่น การเช่าบูชาพระเครื่อง พระบูชา การทำบุญพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด การสักการะพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ทอง ฯลฯ ดังนั้นพุทธพาณิชย์กับ บุญพาณิชย์จึงต่างกันในเชิงของการใช้สัญลักษณ์ความเป็นพุทธและสัญลักษณ์การได้มาซึ่งบุญ (ที่มีหลากหลายรูปแบบ) เป็นเกณฑ์แบ่งแยก โดยต่างกระทำการภายใต้ฐานคิดของการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทางความเชื่อความศรัทธาด้วยเงินตราเป็นสำคัญ สะท้อนภาพความเป็นพาณิชย์ในสังคมวัฒนธรรมพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติของไทยที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง