การเปรียบเทียบคุณสมบัติทางจิตมิติระหว่างแบบวัดฉบับสั้นที่พัฒนาจากวิธีที่ต่างกัน

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 08:14, 28 ตุลาคม 2556 โดย Msupawa1 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การเปรียบเทียบคุณสมบัติทางจิตมิติระหว่างแบบวัดฉบับสั้นที่พัฒนาจากวิธีที่ต่างกัน: การศึกษาแบบวัดความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค


การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาแบบวัดฉบับสั้นของแบบวัดความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคชนิดแบบวัดสถานการณ์สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความยาวและวิธีการคัดเลือกที่ต่างกัน และ 2) เพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติทางจิตมิติของแบบวัดฉบับสั้นที่พัฒนาจากวิธีที่ต่างกัน กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 จำนวน 675 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคที่สร้างตามแนวคิดทฤษฎีของ Stoltz มีองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ด้านการควบคุมสถานการณ์ องค์ประกอบที่ 2 ด้านการรับรู้ต้นเหตุของอุปสรรคและความรับผิดชอบต่อปัญหา องค์ประกอบที่ 3 ด้านการรับรู้ผลกระทบของอุปสรรค และองค์ประกอบที่ 4 ด้านความอดทนต่ออุปสรรค แต่ละองค์ประกอบมีข้อคำถาม 6 ข้อ รวมทั้งฉบับมีทั้งหมด 24 ข้อ เป็นแบบวัดต้นฉบับที่นำไปใช้เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง แบบวัดที่ใช้เป็นแบบวัดชนิดสถานการณ์ 3 ตัวเลือก ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS เพื่อวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน หาค่าน้ำหนักองค์ประกอบ หาค่าดัชนีจำแนกรายข้อตามทฤษฎีการทดสอบแบบดั้งเดิม และวิเคราะห์ค่าความเที่ยง โปรแกรม LISREL เพื่อวิเคราะห์ค่าความตรงเชิงโครงสร้างของโมเดลการวัดด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สอง และ โปรแกรม MULTILOG เพื่อหาค่าดัชนีจำแนกรายข้อตามทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ และหาค่าฟังก์ชันสารสนเทศ


ผลการวิจัยพบว่า แบบวัดฉบับสั้นพัฒนาโดยใช้วิธีการคัดเลือกข้อคำถาม 3 วิธี ได้แก่ การพิจารณาน้ำหนักองค์ประกอบ การพิจารณาค่า a (ดัชนีจำแนกรายข้อตาม IRT) และการพิจารณาค่า corrected item-total correlation (ดัชนีจำแนกรายข้อตาม CTT) แต่ละวิธีการคัดเลือกมีความยาว 3 รูปแบบได้แก่ 8, 12 และ 16 ข้อ ได้แบบวัดฉบับสั้นที่พัฒนาด้วยวิธีต่างกัน 9 ฉบับ ซึ่งมีค่าความเที่ยงอยู่ระหว่าง 0.71 ถึง 0.79 โมเดลการวัดมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ดี (GFI มีค่าระหว่าง 0.98 ถึง 1.00, AGFI มีค่าระหว่าง 0.97 ถึง 0.99 และค่าไค-สแควร์สัมพัทธ์ (X2/df) มีค่าตั้งแต่ 0.72 ถึง 1.30) และมีค่าฟังก์ชันสารสนเทศรายข้อสูงสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค (-2.00≤θ≤0)


สำหรับผลการเปรียบเทียบคุณภาพ สำหรับแบบวัดฉบับสั้นความยาว 8 ข้อ พบว่า วิธีพิจารณาค่า corrected item total correlation แบบวัดมีคุณภาพสูงสุด (ความเที่ยงสูงสุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด) สำหรับแบบวัดฉบับสั้นความยาว 12 ข้อ พบว่า วิธีพิจารณาค่า a และวิธีพิจารณาค่า corrected item-total correlation แบบวัดมีคุณภาพสูงสุด (ความเที่ยงสูง โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด) และสำหรับแบบวัดฉบับสั้นความยาว 16 ข้อ พบว่า วิธีพิจารณาค่า a และวิธีพิจารณาค่า corrected item-total correlation แบบวัดมีคุณภาพสูงสุด (ความเที่ยงสูงสุด โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด)


น.ส.กรรณ์ชลิกา ชัยสุวรรณ

เครื่องมือส่วนตัว