รูปแบบการฝึกอบรมสำหรับนิสิตนักศึกษาครู
จาก ChulaPedia
รูปแบบการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างความรู้และเพื่อนผู้เชี่ยวชาญผ่านวิกิสำหรับนิสิตนักศึกษาครู
การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด คุณธรรมของเด็กและเยาวชน ให้เป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ แต่ในปัจจุบันคุณภาพการศึกษาลดต่ำลง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายการศึกษาที่ตั้งไว้ ซึ่งเห็นได้จากผลคะแนนการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ปี พ.ศ. 2553 และโครงการประเมินนักเรียนระหว่างชาติ PISA ปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบันประเทศของเรากำลังก้าวเข้าสู่การปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 (พ.ศ. 2553-2563) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเป็นพลเมืองโลกที่สมบูรณ์ แต่ในสภาพจริงครูจำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวได้ การเตรียมความพร้อมให้กับครูผู้สอนจึงถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 49 กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพ คือครูต้องมีความรู้ ประสบการณ์ และต้องมีความชำนาญในการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ แบ่งออกเป็นสมรรถนะในด้านต่างๆ ซึ่งสมรรถนะหลักที่สำคัญ คือสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กำหนดเกณฑ์การประเมินสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ของนิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู (ปช.5.8-1) ไว้ดังนี้ 1) การเตรียมแผนการจัดการเรียนรู้ 2) การดำเนินการจัดการเรียนรู้ 3) การวัดและประเมินผลผู้เรียน สมรรถนะการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวกำหนดเพื่อให้นิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้และปฏิบัติหน้าที่ครูฝึกสอนอย่างมีคุณภาพ
ผู้วิจัยจึงได้คิดค้นการวิจัยในครั้งนี้ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างความรู้และเพื่อนผู้เชี่ยวชาญผ่านวิกิ สำหรับนิสิตนักศึกษาครู 2) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการฝึกอบรม และ 3) นำเสนอรูปแบบการฝึกอบรม โดยผลการวิจัยพบว่า ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการฝึกอบรม มี 10 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) วัตถุประสงค์ 2) ชนิดของการเรียนรู้ 3) หลักสูตรการฝึกอบรม 4) ลักษณะการทำงาน 5) บทบาทผู้เข้ารับการฝึกอบรม 6) บทบาทผู้ดำเนินการฝึกอบรม 7) บทบาทของเพื่อนผู้เชี่ยวชาญ 8) การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้บนวิกิ 9) ปัจจัยสนับสนุนการฝึกอบรม 10) การประเมินผล และมีขั้นตอนการฝึกอบรม ดังนี้ 1) ขั้นเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกอบรม 2) ขั้นฝึกอบรม ซึ่งมีกระบวนการฝึกอบรมมี 4 ขั้น ได้แก่ สื่อสารสัมพันธ์ (Socialization) แบ่งปันความคิด (Externalization) พิชิตความรู้ (Combination) สู่การนำไปใช้ (Internalization) และขั้นสุดท้ายคือ 3) ขั้นหลังการฝึกอบรม ผลของการทดลองใช้รูปแบบการฝึกอบรม พบว่าคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะการจัดการเรียนรู้หลังการฝึกอบรมสูงกว่าก่อนการฝึกอบรม และผลของการนำเสนอรูปแบบการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างความรู้และเพื่อนผู้เชี่ยวชาญผ่านวิกิสำหรับนิสิตนักศึกษาครู มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก หากมีการนำรูปแบบการฝึกอบรมนี้ไปใช้จะเป็นการช่วยพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาครูได้อีกทางหนึ่ง อันจะส่งผลให้มีครูที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
โดย นางสาวอรญา อำนาจเจริญพร รหัสนิสิต 5483469127 อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา