สมบัติต้านแบคทีเรียและการแข็งตัวของเลือดของผ้าฝ้ายกอซคาร์บอกซีเมทิลเลตเคลือบซิลเวอร์
จาก ChulaPedia
สมบัติต้านแบคทีเรียและการแข็งตัวของเลือดของผ้าฝ้ายกอซคาร์บอกซีเมทิลเลตเคลือบซิลเวอร์
ANTIBACTERIAL AND HEMOSTATIC PROPERTIES OF SILVER-COATED CARBOXYMETHYLATED COTTON GAUZE
นางสาววรรณพร พินดวง : นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ประยุกต์และเทคโนโลยีสิ่งทอ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริวรรณ กิตติเนาวรัตน์ : อาจารย์ประจำภาควิชาว้สดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
ในงานวิจัยนี้ได้ตกแต่งอนุภาคซิลเวอร์คลอไรด์โดยอาศัยหลักการเปลี่ยนรูปทางเคมีโดยแสงลงบนพื้นผิวผ้าฝ้ายกอซและบนผ้าฝ้ายกอซที่ดัดแปรด้วยวิธีคาร์บอกซีเมทิลเลชันแบบวิธีการดูดซับที่ระดับการแทนที่แตกต่างกัน เพื่อศึกษาการต้านแบคทีเรียและการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งสมบัติทางกายภาพ เช่น การดูดซับน้ำเกลือ ความต้านทานต่อแรงดันทะลุ และความขาว จากการศึกษาพบว่าผ้าฝ้ายกอซที่ผ่านการดัดแปรด้วยวิธี คาร์บอกซีเมทิลเลชันที่ระดับการแทนที่สูงขึ้น มีผลทำให้การยึดจับซิลเวอร์ไอออนได้มากขึ้น เมื่อนำมาผ่านการเคลือบด้วยสารซิลเวอร์และฉายแสงยูวีที่ความเข้มแสงแตกต่างกัน พบว่าเมื่อเพิ่มความเข้มแสงยูวีมากขึ้น มีผลทำให้ซิลเวอร์ไอออนเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งในผ้าฝ้ายกอซและผ้าฝ้ายกอซดัดแปรที่เคลือบด้วยสารซิลเวอร์สามารถต้านแบคทีเรียได้ทั้ง E. coli และ S. aureus ผ้าฝ้ายกอซดัดแปรที่มีระดับการแทนที่สูงขึ้นช่วยให้ การแข็งตัวของเลือดเร็วขึ้น นอกจากนี้ผ้าฝ้ายกอซที่ดัดแปรด้วยวิธีคาร์บอกซีเมทิลเลชันมีความสามารถในการดูดซับน้ำเกลือและความต้านทานต่อแรงดันทะลุมากกว่าผ้าฝ้ายกอซที่ไม่ได้ผ่านการดัดแปร แต่ค่าดัชนีความขาวของผ้าฝ้ายกอซดัดแปรที่เคลือบสารซิลเวอร์จะลดลงมากขึ้นเมื่อฉายแสงยูวีที่ความเข้มแสงสูงขึ้น
คำสำคัญ: ผ้าฝ้ายกอซ การต้านแบคทีเรีย คาร์บอกซีเมทิลเลชัน ซิลเวอร์ การแข็งตัวของเลือด
Abstract
This research was to modify cotton gauze by carboxymethylation to obtain the different degrees of substitution (DS), and then treated with silver agent and dried under UV irradiation at different intensities. After that, antibacterial activity, blood clotting and physical properties, e.g. saline absorption, bursting strength and whiteness, were examined. The results showed that carboxymethylated cotton gauze are able to attract sliver ion higher than unmodified cotton gauze. And the content of silver ion increased when exposed to higher intensity UV irradiation. For antibacterial results, cotton gauze and carboxymethylated cotton gauze treated with silver agent showed good antibacterial activity against S. aureus and E. coli. For blood clotting results, carboxymethylated cotton gauze with a higher DS value showed faster blood clotting, compared to the unmodified cotton gauze. The carboxymethylated cotton gauzes showed better saline absorption and higher bursting strength than the unmodified cotton gauze. For the whiteness result, the unmodified cotton gauze had the highest whiteness index compared with the carboxymethylated cotton gauze and silver treated carboxymethylated cotton gauze.
Keywords: COTTON GAUZE, ANTIBACTERIAL, CARBOXYMETHYLATION, SILVER, BLOOD CLOTTING