พัฒนาการทางด้านหมวดคำและความหมายของคำ "ด้วย"
จาก ChulaPedia
พัฒนาการทางด้านหมวดคำและความหมายของคำ “ด้วย”
“ด้วย” เป็นคำไวยากรณ์ (1) ที่ใช้ในประโยคภาษาไทยมาตั้งแต่ปรากฏหลักฐานตัวเขียน ดังตัวอย่าง
๐ ก่อทั้งมหาพิหารใหญ่ด้วยอิฐเสร็จบริบวรแล้ว จึงไปสืบค้นหาเอาพระพุทธรูปหินเก่าแก่แต่บูราด้วยไกล ชั่วสองสามคืน เอามาประดิษฐานไว้ในมหาพิหาร (กรมศิลปากร, 2527: 74-75)
ช่วงสมัยสุโขทัย “ตำแหน่ง” ของคำ “ด้วย” ที่ปรากฏในประโยคมี 2 ตำแหน่ง คือ 1. ปรากฏอยู่หน้าคำนาม เพื่อทำหน้าที่บอกว่าคำนามที่ตามหลังมีความสัมพันธ์กับคำกริยาของประโยคในแง่ใดแง่หนึ่ง ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งของ “คำบุพบท” 2. ปรากฏอยู่ระหว่างคำนาม 2 คำ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงคำนามทั้งสองคำเข้าไว้ด้วยกัน ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งของ “คำเชื่อมนาม”
ผลการศึกษาตามกรอบทฤษฎีกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ (Grammaticalization) (2) พบว่า คำบุพบท “ด้วย” บอก ‘ผู้ร่วม’ เช่น กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ได้พัฒนาไปเป็นคำเชื่อมนาม “ด้วย” บอก ‘ความคล้อยตาม’ เช่น แล้วจึงอัญเชิญมหาสามีสังฆราชด้วยเถรานุเถระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายขึ้นเมือเถิงราชมนเทียร
ต่อมา ช่วงสมัยอยุธยา “ตำแหน่ง” ของคำ “ด้วย” ปรากฏเพิ่มขึ้นในประโยคอีก 2 ตำแหน่ง คือ 1. ปรากฏอยู่ระหว่างประโยค 2 ประโยค เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงประโยคทั้งสองเข้าไว้ด้วยกัน ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งของ “คำเชื่อมอนุพากย์” 2. ปรากฏอยู่หลังคำกริยา เพื่อทำหน้าที่ขยายกริยา ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งของ “คำกริยาวิเศษณ์”
ผลการศึกษาตามกรอบทฤษฎีกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ พบว่า คำเชื่อมอนุพากย์ “ด้วย” บอก ‘สาเหตุ’ เช่น ไพร่พลทั้งปวงตาย ด้วย อดอาหารเป็นอันมาก มีพัฒนาการมาจากคำบุพบท “ด้วย” บอก ‘สาเหตุ’ ที่ปรากฏใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ในทางตรงกันข้าม พัฒนาการของคำกริยาวิเศษณ์ “ด้วย” นั้น มิได้เป็นไปตามทฤษฎีกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ กล่าวคือ คำกริยาวิเศษณ์ “ด้วย” บอก ‘การเข้าร่วม’ เช่น พระเจ้าหงษาเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าขึ้นไปด้วย มีพัฒนาการมาจากคำบุพบท “ด้วย” บอก ‘ผู้ร่วม’ ที่ปรากฏใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
หากพิจารณาถึง “ระดับความหมายเชิงเนื้อความ” จะพบว่า คำกริยาวิเศษณ์ “ด้วย” มีระดับความหมายภายในตัวเองสูงกว่าคำบุพบท “ด้วย” พัฒนาการที่ย้อนทิศทางเช่นนี้ไม่เป็นไปตามทฤษฎีข้างต้น
ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ “ตำแหน่ง” ของคำ “ด้วย” ปรากฏเพิ่มขึ้นในประโยคอีก 1 ตำแหน่ง คือ ปรากฏอยู่ในส่วนท้ายสุดของประโยค เพื่อทำหน้าที่ลดทอนความเป็นคำสั่งในประโยคคำสั่ง และเพิ่มระดับการขอร้องให้มากขึ้น ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งของ “คำลงท้าย”
ผลการศึกษาตามกรอบทฤษฎีกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ พบว่า คำลงท้าย “ด้วย” บอก ‘การขอร้อง’ เช่น ช่วยดูขนมปังที่ปิ้งด้วยเถิด มีพัฒนาการมาจากคำกริยาวิเศษณ์ “ด้วย” บอก ‘การเข้าร่วม’ ที่ปรากฏใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 คำ “ด้วย” ในตำแหน่ง “คำเชื่อมนาม” เริ่มไม่เป็นที่นิยมใช้ ดังนั้น หมวดคำของคำ “ด้วย” จึงปรากฏใช้เพียง 4 หมวดคำ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงสมัยปัจจุบัน ได้แก่ 1. หมวดคำบุพบท 2. หมวดคำเชื่อมอนุพากย์ 3. หมวดคำกริยาวิเศษณ์ และ 4. หมวดคำลงท้าย
เชิงอรรถ
1. คำไวยากรณ์ คือ คำที่แสดงความสัมพันธ์ทางไวยากรณ์ระหว่างคำหลักหรืออนุพากย์ คำที่แสดงลักษณะทางไวยากรณ์ เช่น แสดงกาล การณ์ลักษณะ พจน์ บุรุษ การก เป็นต้น
มีข้อจำกัดในการปรากฏร่วมกับคำอื่นมาก ไม่สามารถสื่อความหมายได้โดยลำพัง ต้องอาศัยคำอื่นมาช่วยแสดงความหมาย เช่น คำบุพบท, คำเชื่อมอนุพากย์ เป็นต้น (Hopper และ Traugott, 2003: 4, 107)
2. กระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ คือ การกลายเป็นคำไวยากรณ์เป็นการเพิ่มขอบเขตของคำจากคำหลักไปเป็นคำไวยากรณ์ หรือ จากคำไวยากรณ์ที่มีความเป็นไวยากรณ์อยู่แล้วกลายไปเป็นคำที่มีความเป็นไวยากรณ์มากขึ้น (Kurylowicz, 1975)