ประสบการณ์การยอมรับตนเองด้านความโน้มเอียงทางเพศที่สอดคล้องกลมกลืนในตนของชายรักชาย
จาก ChulaPedia
ประสบการณ์การยอมรับตนเองด้านความโน้มเอียงทางเพศที่สอดคล้องกลมกลืนในตนของชายรักชาย ภาคภูมิ เดชะอนันต์วงศ์ รศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ และ และ รศ. สุภาพรรณ โคตรจรัส คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การยอมรับตนเอง(Self-acceptance) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองตามความเป็นจริงอย่างสมเหตุสมผล ไม่บิดเบือน รับรู้ถึงข้อดี ยอมรับและข้อจำกัด อันจะส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มความสามารถ ตลอดจนสามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์1 งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า “การยอมรับตนเอง” เป็นกระบวนที่มีความสำคัญในกลุ่มชายรักชาย คนแต่ละคนอาจประสบกับความยากลำบากและใช้เวลายาวนานตลอดทั้งชีวิต การยอมรับตนเองนี้ยังเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศของชายรักชายด้วย2 การศึกษาของ ภาคภูมิ เดชะอนันต์วงศ์3 นิสิตปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ประสบการณ์การยอมรับตนเองด้านความโน้มเอียงทางเพศของชายรักชาย” โดยมี รศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ และ รศ. สุภาพรรณ โคตรจรัส เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภาคภูมิ เดชะอนันต์วงศ์ สัมภาษณ์เชิงลึกชายรักชายจำนวน 10 คน ที่มีคะแนนแบบประเมินการยอมรับตนเอง ระหว่าง 4.5-5.00 คะแนน (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) ผลการศึกษา พบว่า 6 ประสบการณ์สำคัญในการก้าวไปสู่การยอมรับตนเอง กล่าวคือ (1) การเริ่มสัมผัสรสนิยมทางเพศแบบเกย์รวมทั้งความพยายามปฏิเสธความรู้สึกชอบเพศเดียวกันที่เกิดขึ้น (2) การก้าวไปสู่ความชัดเจนในการเป็นเกย์ด้วยการมีประสบการณ์ทางเพศและความสัมพันธ์แบบคู่รักกับผู้ชาย รวมทั้งการเริ่มยอมรับความรู้สึกชอบเพศเดียวกัน (3)การยอมรับตัวตนที่เป็นเกย์และการเข้าไปสู่สังคมเกย์ (4) การเปิดเผยตัวตนที่เป็นเกย์ต่อครอบครัวและสังคมรอบข้าง (5) การรับรู้ความยากลำบากในการใช้ชีวิตแบบเกย์ให้ลงตัวกับการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ และ (6) การบูรณาการตัวตนทางเพศแบบเกย์เข้าตัวตนด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นการที่ชายรักชายมีความเชื่อถือเสียงจากภายในของตนและเปิดใจรับความโน้มเอียงทางเพศว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจะช่วยให้พวกเขามีการยอมรับตัวตนที่เป็นเกย์และนำไปสู่การหลอมรวมตัวตนด้านเพศเข้ากับตัวตนด้านอื่นๆ อย่างมีความสอดคล้องกลมกลืนในตนเองและมีบูรณภาพ ผลจากงานวิจัยนี้ได้สะท้อนถึงขั้นตอนของประสบการณ์การยอมรับตนเองจากตนเริ่มต้นที่ยังไม่แน่ใจ ไม่กลมกลืนกับชีวิตด้านอื่นๆ มาเป็นความลงตัว ไม่มีความรู้สึกขัดแย้งในตนเอง มีความสุขกับสิ่งที่ตนเองเป็นของชายรักชาย
อ้างอิง 1. Rogers, C.R. (1951). Client-centered therapy: Its current practice, implications, and theory. Boston: Houghton Mifflin. 2. Cass, V.C. (1979). Homosexual identity formation: A theoretical model. Journal of homosexuality, 4(3), 219-35. 3. ภาคภูมิ เดชะอนันต์วงศ์. (2555).ประสบการณ์การยอมรับตนเองด้านความโน้มเอียงทางเพศของชายรักชาย: การวิจัยเชิงคุณภาพแบบทีมผู้วิจัยเห็นชอบร่วมกัน. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา จิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.