แนวทางการปรับปรุงระบบการสัญจรเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเมืองตรัง

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 06:07, 29 เมษายน 2557 โดย Msupawa1 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

แนวทางการปรับปรุงระบบการสัญจรเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเมืองตรัง. (GUIDELINES FOR TRANSPORT SYSTEM IMPROVEMENT FOR PROMOTING PHYSICAL ACTIVITIES OF TRANG CITY)

การศึกษานี้มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดเมืองสุขภาวะขององค์การอนามัยโลกที่ต้องการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมืองให้เหมาะสมต่อการประกอบกิจกรรมทางกายซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้การสัญจรที่ใช้แรงกายด้วยการเดินหรือขี่จักรยานไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในชีวิตประจำวันแทนการใช้ยานพาหนะแบบมีเครื่องยนต์ การประกอบกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันสามารถช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและยังสามารถช่วยลดปัญหาการจราจรของเมืองได้อีกด้วย แนวคิดเมืองสุขภาวะได้กลายเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับการสัญจรที่ใช้แรงกายด้วยการเดิน ขี่จักรยาน รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการใช้ยานพาหนะแบบมีเครื่องยนต์

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยและองค์ประกอบของระบบทางเท้า ทางจักรยาน และสภาพแวดล้อมกายภาพของเส้นทางจากการทบทวนวรรณกรรม เพื่อนำไปสู่การกำหนดเกณฑ์ในการออกแบบระบบการสัญจรและสภาพแวดล้อมกายภาพเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ซึ่งประกอบไปด้วยเกณฑ์ด้านการเชื่อมต่อ ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกและความน่าสนใจของเส้นทาง ทำการเก็บข้อมูลระบบทางเท้า ทางจักรยานของพื้นที่ศึกษาทั้งจากเอกสารและการสำรวจพื้นที่ภาคสนามแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการประเมินระดับความพึงพอใจของระบบทางเท้า ทางจักรยานจากการตอบแบบสอบถามของคนในพื้นที่ศึกษา สรุปผลการการศึกษาและเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงระบบการสัญจรและสภาพแวดล้อมกายภาพเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

ในการศึกษานี้ได้เลือกเทศบาลนครตรังเป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากโครงสร้างของเมืองเป็นเมืองขนาดเล็กมีความหนาแน่นบริเวณศูนย์กลางเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน การจราจรไม่หนาแน่นและมีการสร้างสภาพแวดล้อมของเมืองที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายของประชาชน เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา ทางเท้า ทางจักรยานและระบบขนส่งสาธารณะ ผลการศึกษาระบบการสัญจรทางเท้า ทางจักรยานและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเส้นทางในเขตเทศบาลนครตรังทั้งจากผลการประเมินข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้และผลการประเมินระดับความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ศึกษาจากข้อมูลแบบสอบถาม สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ระบบทางเท้าในเขตเทศบาลนครตรังมีศักยภาพด้านการเชื่อมต่ออยู่ในเกณฑ์ที่ดี ด้านความปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีและด้านความน่าสนใจของเส้นทางอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ส่วนระบบทางจักรยานในเขตเทศบาลนครตรังมีศักยภาพด้านการเชื่อมต่ออยู่ในเกณฑ์ที่ดี ด้านความปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและด้านความน่าสนใจของเส้นทางอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงระบบทางเท้า ทางจักรยาน และสภาพแวดล้อมกายภาพของเส้นทางเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเขตเทศบาลนครตรัง ควรมีการปรับปรุงด้านความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกและความน่าสนใจ เช่น สิ่งกีดขวางการมองเห็น ไฟฟ้าส่องสว่าง รูปแบบการข้ามถนน ขนาดทางเท้า ทางจักรยาน สิ่งกีดขวางการสัญจร ทางลาด ระยะถอยร่น ร่มเงา ที่จอดจักรยาน ควบคู่กับมาตราการด้านการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้การสัญจรที่ใช้แรงกายด้วยการเดินและขี่จักรยานไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในชีวิตประจำวัน


สมพงษ์ กฤตธรรมากุล นิสิตหลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

เครื่องมือส่วนตัว