เจีย
จาก ChulaPedia
บทคัดย่อ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดตัวบทจากนวนิยายจีน เจีย สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ผลการวิจัยพบว่าประการแรกในด้านโครงสร้างทางภาษาทั้งระดับคำและระดับประโยคมีการเพิ่มเติม ตัดทอน ปรับคำหรือข้อความนั้นให้สอดคล้องกับบริบทและการถ่ายทอดตัวบทที่ตรงเกินไป ประการที่สองกลวิธีทางภาษาที่โดดเด่นในนวนิยายจีน เจีย นั้นเป็นการใช้ภาษาภาพพจน์ (figurative language) มีหลายวิธีด้วยกัน อาทิ อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน สัญลักษณ์ สัทพจน์และอติพจน์ ซึ่งสามารถอธิบายตามความหมายและโครงสร้างภาษาจีน หรือการปรับเปลี่ยนคำหรือโครงสร้างใหม่โดยให้สอดคล้องกับภาษาไทย ประการที่สามภูมิหลังทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละชาติมีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดความหมายหรือที่เรียกว่า “เอกลักษณ์” ทางภาษา
บทนำ การแปลคือการถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญประการหนึ่งคือการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ในสมัยอดีตมีการแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาจากภาษาบาลีสันสกฤตเป็นภาษาจีน แสดงให้เห็นการเปิดรับเอาพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดียเข้าสู่ประเทศจีน ยิ่งมีการแปลมากขึ้นเท่าใดยิ่งมีการถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมกันมากขึ้น จากประวัติศาสตร์การแปลของประเทศไทยพบว่าการแปลวรรณกรรมระดับชาติมีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยพระองค์โปรดเกล้าฯให้มีการแปลวรรณคดีจีน 2 เรื่องคือ ไซ่ฮั่นและสามก๊ก ซึ่งในขณะนั้นทฤษฎีการแปลยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดความหมาย ประกอบทั้งผู้รู้ภาษาจีนมีไม่มาก ดังนั้นการแปลหนังสือในสมัยก่อนจึงค่อนข้างลำบากภาษาจึงไม่สละสลวยดังเช่นปัจจุบัน เห็นได้ว่าวรรณกรรมแปลในสมัยอดีตล้วนเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น นวนิยายเรื่อง เจีย(家 บ้าน) ของ ปาจิน (巴金) ซึ่งเป็น นวนิยายสมัยใหม่ขนาดยาวของปาจินที่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านอย่างกว้างขวาง ปาจินเริ่มประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้เมื่ออายุ 27 ปีคือในช่วงค.ศ.1931 ซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปีพ.ศ.2475 นับถึงปีค.ศ.1949 เป็นช่วงที่ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือแม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วนวนิยาย เจีย ก็ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้ผู้ประพันธ์พยายามสอดแทรกเนื้อหาสะท้อนสังคมจีนในขณะนั้นซึ่งเป็นสังคม ศักดินา เต็มไปด้วยความอยุติธรรม การกดขี่ต่างๆนานามาเป็นเนื้อหาในนวนิยาย เจีย เรื่องนี้ เพื่อตีแผ่ความจริงออกมาให้สังคมภายนอกได้รับรู้ และเนื่องจากเหตุผลข้างต้นจึงทำให้นวนิยายเรื่อง บ้าน ถูกรัฐบาลจีนในสมัยนั้นตีตราว่าเป็น “หนังสือต้องห้าม” แต่เนื่องจากเนื้อหาที่มีความเป็นสัจนิยมจึงทำให้นวนิยายเรื่องนี้กลับมาได้รับความนิยมในวงวรรณกรรมได้อีกครั้งหนึ่ง การกลับมาของนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากจะปลุกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนจีนแล้ว ยังเป็นบทประพันธ์อมตะเล่มหนึ่งที่มีความล้ำค่าและได้รับการส่งชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมอีกด้วย เนื่องจากนวนิยายเรื่อง เจีย นี้มีชื่อเสียงมากจนได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา แต่ในประเทศไทยกลับมีฉบับแปลเพียงสองสำนวนเท่านั้น คือ สำนวนที่แปลจากต้นฉบับจริงแปลโดย อนิวรรตน์ และสำนวนที่เป็นหนังสือภาพที่บรรยายเหตุการณ์โดยสังเขป ซึ่งแปลโดยวิภา อุตมฉันท์ และเนื่องจากฉบับแปลของอนิวรรตน์นั้นตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2523 ซึ่งในช่วงนั้นวิวัฒนาการการแปลและเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า จึงย่อมมีอิทธิพลต่อสำนวนการแปลที่ถ่ายทอดออกมาจากต้นฉบับภาษาจีน เจีย สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ของอนิวรรตน์ไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ผู้วิจัยใคร่สนใจศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดความหมายนวนิยายจีน เจีย สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน พร้อมทั้งวิเคราะห์สาเหตุและเหตุผลในการแปล รวมทั้งรูปแบบการถ่ายทอดความหมายทั้งเหมือนและต่างที่ปรากฏในฉบับแปลด้วย
วัตถุประสงค์การวิจัย 1. เพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดตัวบทจากนวนิยายจีน เจีย สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ในด้านโครงสร้างทางภาษาทั้งระดับคำและระดับประโยค 2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดความหมายโดยการใช้กลวิธีทางภาษาของภาษาต้นฉบับและภาษาปลายทางของนวนิยายจีน เจีย กับฉบับแปลภาษาไทย บ้าน
วิธีการวิจัย 1.ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนวนิยายจีน เจีย และทฤษฎีการแปลจากหนังสือและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อค้นหาแนวทางในการทำงานวิจัย 2.แปลและเปรียบเทียบข้อมูลตัวบทนวนิยายจีน เจีย กับฉบับแปลภาษาไทย บ้าน 3.จัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ความแตกต่างในกระบวนการการแปลโดยพิจารณาการถ่ายทอดตัวบทด้านโครงสร้างภาษาทั้งระดับคำ ระดับประโยคและด้านการใช้กลวิธีทางภาษา 4. สรุปผลการวิจัยและรายงานผลการศึกษา
ผลการวิจัย จากการศึกษาพบว่าการถ่ายทอดความหมายจากต้นฉบับภาษาจีน เจีย สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน สามารถจำแนกออกเป็นสองประเด็นหลักคือ 1) ความเหมือนและความต่างด้านการถ่ายทอดความหมายระดับคำ ข้อความและระดับประโยค 2) ความเหมือนและความต่างด้านการถ่ายทอดกลวิธีทางภาษาที่ปรากฏในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การถ่ายทอดความหมายในระดับคำ จากการศึกษาพบว่าการถ่ายทอดความหมายในระดับคำในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน สามารถแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆต่อไปนี้ 1.1 การถ่ายทอดคำสรรพนาม มีการปรับเปลี่ยนการถ่ายทอดคำสรรพนามในฉบับแปลแตกต่างจากภาษาจีน เพราะผู้แปลต้องการถ่ายทอดภาษาแปลให้สอดคล้องกับความรู้สึกของตัวละครหรือให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย เช่น ต้นฉบับ : 小的在街口上等了好久。 คำแปล : ข้าน้อยไปยืนรอที่หัวมุมถนนเป็นเวลานาน ฉบับแปล : บ่าวไปยืนรออยู่ที่หัวถนนเป็นเวลานาน “บ่าว” เป็นคำสรรพนามบุรุษที่หนึ่งที่แสดงออกถึงความเป็นผู้รับใช้เพศชายในสมัยอดีต
ต้นฉบับ : “又是他,”觉慧冷笑道。 คำแปล : เขาคนนี้อีกแล้ว เจี้ยฮุ่ยยิ้มอย่างดูแคลน ฉบับแปล : “ไอ้เฒ่าคนนี้อีกแล้ว” เจี้ยฮุ่ยหัวเราะอย่างดูแคลน “ไอ้เฒ่า” ที่ผู้แปลเลือกใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สามเพื่อแสดงออกถึงความเกลียดชังและเพื่อความสมจริงของความรู้สึกตัวละคร จากการศึกษาพบว่าการถ่ายทอดบุรุษสรรพนามขึ้นอยู่กับบริบทและความรู้สึกของตัวละคร หรือ “ความสมจริง” ในเนื้อหานั่นเอง
1.2 การถ่ายทอดคำวิสามานยนามหรือชื่อเฉพาะ เนื่องจากชื่อเฉพาะในนวนิยายเรื่องนี้มีคำที่มาจากภาษาต่างประเทศและชื่อเฉพาะที่มีอยู่ในภาษาต้นทางเท่านั้น จากการศึกษาพบว่าหากเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ผู้แปลเลือกวิธีการทับศัพท์เพื่อความเป็นสากลและเข้าใจได้ทั่วถึงในหมู่ผู้อ่านชาวไทย ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : “我们这学期读完了《宝岛》,下学期就要读托尔斯泰的《复活》” คำแปล : เทอมนี้พวกเราเรียนเรื่อง เกาะล้ำค่า จบแล้ว เทอมหน้าเราก็จะเริ่มเรียนเรื่อง ฟื้นคืนชีพ ของ ตอลสตอย ฉบับแปล : “เทอมนี้เราเรียนเรื่อง เกาะมหาสมบัติ จบ เทอมหน้าก็จะเริ่มเรียนเรื่อง ฟื้นชีพ ของตอลสตอยอีก” “托尔斯泰”เป็นนักเขียนชาวรัสเซีย ชื่อเต็มคือ เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ผู้แปลเลือกแปลโดยใช้เสียงภาษาอังกฤษเพื่อความเป็นสากล
หากเป็นชื่อเฉพาะที่มีอยู่ในภาษาจีนแต่ไม่มีในภาษาไทย ผู้แปลเลือกปรับชื่อเฉพาะนั้นให้มีความหมายครอบคลุมและกะทัดรัดมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : “作揖主义”和“无抵抗主义”对他的确有很大的用处。 คำแปล : “ลัทธิโค้งคำนับ” กับ “ลัทธิไม่ต่อต้าน” มีประโยชน์ต่อเขามากจริงๆ ฉบับแปล : “ลัทธิเกล้าก้มประนมกร” กับ “ลัทธิไม่ต่อต้าน” มีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับเขาจริงๆ
นอกจากนี้ยังพบชื่อเฉพาะที่ผู้แปลเลือกแปลเพื่อความสอดคล้องกับสังคมไทย เช่น ต้นฉบับ : 后天就是中秋了。 คำแปล : วันมะรืนนี้ก็จะเป็นวันไหว้พระจันทร์แล้ว ฉบับแปล : วันมะรืนก็เป็นวันสารทพระจันทร์แล้ว “สารท” เป็นชื่อฤดูในระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาวคือฤดูใบไม้ผลิ ราวปลายเดือน 10 ซึ่งเรียกว่า ฤดูสารท ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทย ผู้แปลจึงเลือกถ่ายทอดชื่อเฉพาะนี้ว่า “วันสารทพระจันทร์” จากการศึกษาพบว่าการถ่ายทอดชื่อเฉพาะในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้นมีทั้งการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ การปรับความหมายใหม่และการปรับคำเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทย
1.3 การถ่ายทอดคำวิเศษณ์ พบว่าในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน มีการถ่ายทอดคำวิเศษณ์ที่มีความบกพร่องทางความหมายและสื่อความหมายไม่ตรงกับต้นฉบับ ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 他不时用苦恼的眼光看觉新。 คำแปล : เขาใช้สายตาที่กลัดกลุ้มมองมาที่เจี้ยซินบ่อยๆ ฉบับแปล : บางครั้งก็หันมาเหลือบมองเจี้ยซินอย่างกลัดกลุ้ม
“不时 (คุณศัพท์) ทุกเมื่อ ; (วิเศษณ์) บ่อยๆ”
แต่ฉบับแปลกลับใช้คำว่า “บางครั้ง” ซึ่งมีความบกพร่องทางความหมาย
นอกจากนี้ยังพบว่ามีความบกพร่องในการถ่ายทอดความหมายคำวิเศษณ์ในภาษาจีน โดยผิดพลาดทางด้านโครงสร้างที่ไม่ปรากฏในภาษาไทย ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : “大哥,你究竟肯不肯给二哥帮忙?” คำแปล : “พี่ใหญ่ สุดท้ายแล้วพี่จะยอมช่วยพี่เจี้ยหมินหรือเปล่า?” ฉบับแปล : “พี่ใหญ่ พี่ยินดีช่วยพี่เจี้ยหมินหรือเปล่ากันแน่?”
“究竟 (นาม) ผลสุดท้าย ; (วิเศษณ์) ...กันแน่ ; โดยแท้จริงแล้ว”
ฉบับแปลใช้คำถามซ้อนคำถามซึ่งทำให้ข้อความไม่กะทัดรัดและมีข้อบกพร่องด้านโครงสร้าง จากการศึกษาพบว่าข้อบกพร่องของการถ่ายทอดคำวิเศษณ์ในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้นคือด้านความหมายที่ไม่ตรงกับความหมายเดิมในต้นฉบับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีข้อบกพร่องด้านโครงสร้างอีกด้วย
1.4 การเพิ่มคำ การละคำ การปรับคำและการแปลความหมายคำตรงเกินไป ในหมวดนี้ผู้วิจัยมุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดความหมายโดยการเพิ่มคำ ละคำ ปรับคำและการแปลความหมายคำตรงเกินไป จากการศึกษาพบว่า (1) การเพิ่มคำ ผู้วิจัยพบว่าการเพิ่มคำนั้นมาจากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้ (1.1) การเพิ่มคำเข้ามาเพื่อให้เสริมความหมายให้มีมิติ ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 她在被窝里哭起来。 คำแปล : หล่อนร้องไห้อยู่ในผ้าห่ม ฉบับแปล : หล่อนร้องไห้กระซิกอยู่ในผ้าห่ม เพิ่ม “กระซิก” เพื่อเสริมบริบทให้มีมิติและเพิ่มอรรถรสมากขึ้น
(1.2) การเพิ่มคำแล้วที่ทำให้ความหมายในประโยคหรือข้อความมีจุดบกพร่องคือข้อความไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 他看见了这一切,满意地微笑了。 คำแปล : เขามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ยิ้มด้วยความพอใจ ฉบับแปล : ท่านมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต่อหน้าท่าน แต่ท่านกลับยิ้มด้วยความพอใจ เหตุการณ์ในประโยคย่อยมีความเป็นเหตุเป็นผลกัน แต่กลับมีการเพิ่มคำ “แต่...กลับ” ซึ่งเป็นความขัดแย้งกัน ถือว่าเป็นจุดบกพร่องอย่างหนึ่งในข้อความ จากการศึกษาพบว่าการเพิ่มคำในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน มีเป้าหมายเพื่อเสริมความหมายให้มีมิติและยังพบข้อบกพร่องหลังจากการเพิ่มคำอีกด้วย
(2) การละคำ ในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน พบว่าเมื่อละคำแล้วเกิดอิทธิพลต่อความหมายดังต่อไปนี้ (2.1) ละคำแล้วความหมายในบริบทคลาดเคลื่อน เช่น ต้นฉบับ : “我晓得,我先前看见张升私下递信给你。” คำแปล : “ฉันรู้ ก่อนหน้านี้ฉันเห็นจางเซิงลอบส่งจดหมายให้คุณ” ฉบับแปล : “พี่รู้ พี่เห็นจางเซิงส่งจดหมายให้น้อง” ผู้แปลละคำว่า “先前”และ “私下”ทั้งๆที่เป็นคำบอกเวลาและคำบอกอาการซึ่งถือว่าเป็นคำสำคัญของข้อความนี้
(2.2) การละคำที่พบในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน มีจุดประสงค์เพื่อความกะทัดรัดของข้อความ ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 他并不看觉新,却望着窗外的景物。 คำแปล : เขาไม่มองเจี้ยซิน แต่กลับมองทิวทัศน์นอกหน้าต่าง ฉบับแปล : เขาไม่มองหน้าเจี้ยซิน กลับหันมองไปยังนอกหน้าต่าง ฉบับแปลละคำว่า “ทิวทัศน์” แต่ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อบริบท การละคำในต้นฉบับภาษาไทย บ้าน พบว่ามีการละคำแล้วส่งผลให้บริบทคลาดเคลื่อนและการละคำเพื่อความกะทัดรัดของข้อความ
(3) การปรับคำ รูปแบบการปรับคำที่พบในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน มีดังต่อไปนี้ (3.1) การปรับคำแล้วความหมายไม่เหมาะสมกับบริบท ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : “大哥,你说得不错,”剑云露出感激的样子说,“我自己也晓得。” คำแปล : “พี่ใหญ่ พี่พูดถูก” เจี้ยนหยุนพูดด้วยน้ำเสียงที่แสดงความขอบคุณ “ผมก็รู้ตัวผมดี” ฉบับแปล : “ครับ ผมไม่สู้จะแข็งแรงอย่างพี่ว่า” เจี้ยนหยุนพูดด้วยน้ำเสียงส่อความขอบคุณ “ผมรู้ตัวดีครับ” “ส่อ” เป็นความหมายลบแต่กลับเอามาใช้ในประโยคที่มีความหมายบวก ดังนั้นจึงไม่เหมาะสม
(3.2) การปรับโดยใช้กลวิธีทางภาษาหรือวิธีการทางภาษาเพื่อทำให้เกิดภาพพจน์ ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 望着小天井里的青草和野花出神。 คำแปล : มองดูหญ้าเขียวและดอกไม้ป่าที่ลานบ้านอย่างเหม่อลอย ฉบับแปล : มองดูหญ้าเขียวและดอกไม้ป่าที่ลานบ้านเหมือนตกอยู่ในภวังค์ ผู้แปลเลือกปรับคำว่า “出神”ว่า “เหมือนตกอยู่ในภวังค์” เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจตัวละครมากขึ้น
(3.3) การปรับคำเพื่ออิงตามบริบท ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 我才可以放心.。 คำแปล : ฉันถึงจะวางใจ ฉบับแปล : แม่จะได้นอนตาหลับ “放心”หมายถึง วางใจ แต่ผู้แปลเลือกปรับความหมายของคำให้เข้ากับบริบทโดยใช้คำว่า “นอนตาหลับ” ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า “วางใจ” เช่นเดียวกัน
(4) การแปลความหมายคำตรงเกินไป คือการถ่ายทอดความหมายของคำตรงเกินไปและทำให้ความหมายบริบทไม่สละสลวย เช่น ต้นฉบับ : 那时候恐怕也说不上爱。 คำแปล : ในตอนนั้นเกรงว่าจะไม่ใช่ความรัก ฉบับแปล : ในตอนนั้นน่ากลัวว่าจะยังไม่ใช่ความรัก คำว่า “恐怕”แปลตรงตัวคือ “น่ากลัว” แต่ในบริบทนี้ควรใช้ความหมาย “เกรงว่า” จึงจะเหมาะสมกว่า การแปลความหมายของคำที่ตรงเกินไปหรือการเลือกใช้ความหมายของคำที่ไม่ตรงกับบริบท ย่อมจะทำให้เกิดการสะดุดในขณะรับสาร ซึ่งส่งผลต่อไปในการรับอรรถรส
2. การถ่ายทอดความหมายระดับประโยคหรือข้อความ ซึ่งหัวข้อนี้ผู้วิจัยได้แบ่งออกมาเป็นประเด็นคือเพิ่มข้อความ ละข้อความ ปรับข้อความและการถ่ายทอดความหมายข้อความที่ตรงเกินไปซึ่งสามารถแบ่งย่อยเป็นหัวข้อย่อยได้ดังต่อไปนี้
2.1 การเพิ่มข้อความ ในประเด็นการเพิ่มข้อความนี้ได้แยกออกมาเป็นประเด็นย่อยๆได้อีกคือ (1) การเพิ่มข้อความเพื่อเพิ่มภาพพจน์แก่ผู้อ่าน ต้นฉบับ : 钱嫂说:“三少爷,老太爷喊你。你快去。” คำแปล : เฉียนส่าวบอกว่า “คุณเจี้ยฮุ่ยคะ ท่านใหญ่เรียกหาคุณค่ะ คุณรีบไปเถอะค่ะ” ฉบับแปล : เฉียนส่าวบอกว่า “คุณเจี้ยฮุ่ยคะ ท่านใหญ่เรียกหาฉันมาตามหาคุณแทบตาย คุณรีบไปเถอะค่ะ” ผู้แปลเพิ่มภาพพจน์ “แทบตาย” เข้ามาเพื่อเสริมจินตนาการให้ผู้อ่าน
(2) การเพิ่มข้อความเข้ามาเพื่ออธิบายประโยคให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยการเพิ่มวลีในข้อความนั้น เช่น ต้นฉบับ : 到处都是硫磺气味。 คำแปล : กลิ่นกำมะถันฟุ้งไปทั่วบริเวณ ฉบับแปล : กลิ่นกำมะถันฟุ้งไปทุกหนทุกแห่ง บนท้องถนนเต็มไปด้วยซากของประทัด ผู้แปลเพิ่มข้อความเข้ามาเพื่ออธิบายและขยายประโยคหลักให้ชัดเจนและเห็นภาพมากขึ้น
(3) การเพิ่มข้อความเพื่อให้สอดคล้องกับความรู้สึกของตัวละคร เช่น ต้นฉบับ :觉新摊开两只手说 คำแปล : เจี้ยซินแบมือทั้งสองออกแล้วพูดว่า ฉบับแปล : เจี้ยซินแบมือทั้งสองออกอย่างจนปัญญา เพิ่มวลี “อย่างจนปัญญา” เพื่อให้สอดคล้องกับความรู้สึกของตัวละครในขณะนั้นว่ามีความรู้สึกต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร
(4) การเพิ่มข้อความเพื่อให้ข้อความในประโยคหรือวลีสมบูรณ์ขึ้น เช่น
ต้นฉบับ : “我想到演戏的事情,我就紧张”。
คำแปล : ผมนึกถึงเรื่องแสดงละคร ผมก็เครียด
ฉบับแปล : หมู่นี้ผมคิดถึงเรื่องแสดงละครทีไร ก็รู้สึกตึงเครียดไปหมด
เพิ่มข้อความ “หมู่นี้...ทีไร” และ “รู้สึก” เข้ามาเพื่อเป็นส่วนเติมเต็มให้ประโยคสมบูรณ์ขึ้น
2.2 การละข้อความ คือการทำให้ข้อความสั้นและกะทัดรัดมากขึ้น เป็นการตัดส่วนไม่จำเป็นหรือส่วนขยายที่ไม่รบกวนบริบทออกไปแต่ยังคงรักษาความหมายในบริบทเดิมได้ครบถ้วน เช่น ต้นฉบับ : 她的哭声止了。她还在抽泣。最后她连抽泣也止住了。 คำแปล : เสียงร้องไห้หล่อนหยุดไปแล้ว หล่อนยังคงสะอื้น สุดท้ายแม้แต่เสียงสะอื้นของหล่อนก็หยุดไปแล้ว ฉบับแปล : เสียงร้องไห้ของหล่อนหยุดไปแล้ว และหยุดสะอื้นไปในที่สุด ผู้แปลละข้อความ “他还在抽泣”ออกไป เพราะประโยคหน้ากล่าวถึงเสียงร้องไห้ได้หยุดลงไปแล้ว ประโยคหลังสื่อว่าหยุดร้องไห้แล้ว แม้แต่เสียงสะอื้นก็ไม่มี ดังนั้นเพื่อลดความยืดเยื้อของข้อความ จึงตัดข้อความ “หล่อนกำลังสะอื้น” ออก เพราะประโยคนี้หลักๆแล้วต้องการจะสื่อว่า “หยุดร้องไห้แล้ว”
2.3 การปรับข้อความ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการถ่ายทอดข้อความโดยการปรับเปลี่ยน ขัดเกลาข้อความใหม่โดยยังคงความหมายเดิม จากการศึกษาพบว่าการถ่ายทอดความหมายโดยการปรับข้อความนั้นพบมากที่สุด ซึ่งมีปัจจัยจากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้ (1) การปรับข้อความให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคมของภาษาต้นฉบับ เป็นการปรับข้อความภาษาไทยให้สอดคล้องกับความคิดของคนไทย โดยไม่ยึดติดในบริบทในภาษาจีน เช่น ต้นฉบับ : “鸣凤,什么客?” 觉慧也踏上了石阶站在门槛上问。 คำแปล : “หมิงฝ้ง แขกที่ไหนหรอ” เจี้ยฮุ่ยถามเมื่อก้าวขึ้นไปบนบันไดหินยืนอยู่บนธรณีประตู ฉบับแปล : “หมิงฝ้ง แขกที่ไหนกัน?” เจี้ยฮุ่ยถามเมื่อก้าวขึ้นบันไดหินไปยืนอยู่ที่หน้าธรณีประตู ต้นฉบับแปลภาษาจีนแปลว่า “เหยียบบนธรณีประตู” แต่สำหรับคนไทยแล้วการเหยียบธรณีประตูถือเป็นสิ่งไม่ควร ดังนั้นผู้แปลจึงปรับข้อความใหม่เป็น “ยืนอยู่หน้าธรณีประตู” แทน
(2) การปรับและแปลข้อความผิด คือการถ่ายทอดความหมายออกมาไม่ตรงกับข้อความต้นฉบับภาษาจีน เช่น ต้นฉบับ : 我索来在梦里很容易惊醒。 คำแปล : แต่ไหนแต่ไรมาผมฝันแล้วตื่นง่ายมาก ฉบับแปล : แต่ไหนแต่ไรมาผมเป็นคนนอนไว หากแปลตามต้นฉบับภาษาจีนจะได้ความว่า “ตื่นง่ายมาก” แต่ฉบับแปลกลับแปลว่า “เป็นคนนอนไว” ซึ่งหากจะมองตามบริบทแล้วจะพบว่ามีความบกพร่องทางความหมายชัดเจน
(3) การปรับและแปลข้อความที่มีปัญหาด้านโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีในโครงสร้างฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ต้นฉบับ : 大雨就要来了。 คำแปล : ฝนใหญ่กำลังจะมาแล้ว ฉบับแปล : ฝนจะตกใหญ่แล้ว ในฉบับแปลภาษาไทยเรียบเรียงว่า “ฝนจะตกใหญ่แล้ว” ซึ่งเชื่อว่าผู้แปลจะสื่อความหมายตามต้นฉบับ แต่เกิดข้อผิดพลาดในการเรียงประโยค ดังนั้นจึงควรจะเรียบเรียงข้อความใหม่เป็น “ฝนใหญ่กำลังจะมาแล้ว” จะทำให้ไหลลื่นสละสลวยมากกว่า
(4) การปรับและแปลข้อความโดยใช้ภาพพจน์และวิธีการทางภาษาต่างๆเพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการและภาพพจน์ขึ้น ทั้งนี้เป็นการเสริมอรรถรสอีกวิธีหนึ่ง เช่น ต้นฉบับ : 端公把爷爷吓成了那个样子。 คำแปล : หมอผีทำให้คุณปู่ตกใจจนกลายเป็นอย่างนั้นไปแล้ว ฉบับแปล : ไอ้หมอผีมันทำให้คุณปู่ตกใจกลัวจนแทบสิ้นสติไปแล้ว ผู้แปลปรับข้อความเป็น “แทบสิ้นสติไปแล้ว” เพื่อบ่งบอกให้ผู้อ่านทราบถึงอากัปกิริยาของตัวละครในขณะนั้นชัดเจนมากขึ้น
(5) การปรับข้อความโดยไม่ยึดโครงสร้างของประโยคเดิม คือการที่ผู้แปลไม่ยึดติดโครงสร้างในประโยคต้นฉบับภาษาจีน เจีย แต่ผู้แปลอาศัยการ “ผละ” จากบริบทแล้วปรับโครงสร้างประโยคใหม่ให้สละสลวยและเหมาะสมกับภาษาไทย เช่น ต้นฉบับ : 经过几次的要求,居然都得到了母亲的许可。 คำแปล : ผ่านการขอร้องหลายต่อหลายครั้ง สุดท้ายก็ได้รับอนุญาตจากมารดามาจริงๆ ฉบับแปล : แต่กว่าจะได้รับอนุญาตจากมารดาสมความตั้งใจก็ต้องขอร้องอ้อนวอนกันหลายต่อหลายครั้ง ผู้แปลเลือกถ่ายทอดข้อความโดยการสลับข้อความก่อนหลังจากภาษาจีน ซึ่งโครงสร้างภาษาจีนเป็นโครงสร้างตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จริงๆแล้วประโยคนี้เป็นข้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน ในภาษาไทยจะเลือกเหตุหรือผลขึ้นก่อนก็ได้ขึ้นอยู่กับคำเชื่อมที่ต้องเปลี่ยนไปตามบริบทด้วย ผู้แปลเลือกแปลตามโครงสร้างภาษาไทยแบบหนึ่งแล้วใช้วิธีการปรับคำเชื่อมให้เหมาะสมแทน
(6) การปรับข้อความโดยไม่ยึดโครงสร้างของข้อความเดิม คือการที่ผู้แปลเลือกที่จะปรับข้อความให้เหมาะสมกับภาษาไทย สถานการณ์ ความรู้สึกของตัวละครโดยไม่ยึดติดรูปแบบข้อความเดิมในภาษาต้นฉบับ เช่น ต้นฉบับ : 那般男客人真不害羞,总是点些污眼睛的戏。 คำแปล : แขกผู้ชายพวกนั้นไม่อายกันจริงๆ สั่งดูแต่งิ้วที่เป็นเสนียดลูกตา ฉบับแปล : แขกผู้ชายพวกนั้นหน้าด้านจริงๆ ชอบดูแต่งิ้วที่เป็นเสนียดแก่ลูกตา ผู้แปลเลือกปรับข้อความ “真不害羞”ซึ่งหมายถึง “ไม่อายจริงๆ” ในต้นฉบับภาษาจีนปรับเป็น “หน้าด้านจริงๆ” เพื่อให้สอดคล้องกับความรู้สึกของตัวละครในขณะนั้นที่กำลังสบถด้วยความโทสะ
2.4 การถ่ายทอดความหมายข้อความที่ตรงเกินไป คือการถ่ายทอดความหมายออกมาตรงตามต้นฉบับเกินไปโดยไม่มีการเกลาความหมาย ซึ่งการถ่ายทอดความหมายลักษณะนี้จะทำให้เกิดความบกพร่องในการรับสาร ขาดความสละสลวยจนทำให้เสียอรรถรสได้ เช่น ต้นฉบับ : 你们也看得起我,从来没有骂过我一句半句。 คำแปล : พวกคุณไม่เคยดูหมิ่นป้า แต่ไหนแต่ไรไม่เคยด่าป้าเลยแม้แต่คำเดียว ฉบับแปล : พวกคุณไม่เคยดูหมิ่นป้า ไม่เคยด่าป้าเลยแม้สักคำหรือครึ่งคำ ผู้แปลเลือกถ่ายทอดความหมายออกมาตรงตามต้นฉบับ ซึ่งจริงๆแล้วน่าจะบอกว่า “แม้แต่คำเดียว” น่าจะเหมาะสมกว่า
จากการศึกษาการถ่ายทอดข้อความพบว่า ในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน มีทั้งการเพิ่มข้อความ ละข้อความและการปรับข้อความ โดยเฉพาะการปรับข้อความที่พบมากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม ลด หรือปรับล้วนมีเหตุผลแตกต่างกันตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ขึ้นอยู่กับว่าบริบทต้องการจะสื่อความออกมาแบบไหน แล้วความหมายมีในภาษาไทยหรือไม่ หรือหากถ่ายทอดตรงเกินไปจะเสียอรรถรสหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้แปลที่ต้องรักษาความหมายเดิมไว้ รวมทั้งลีลาการเขียนและความสละสลวยของข้อความ เพราะเหตุนี้จึงต้องการปรับแต่ง โยกย้ายหรือเพิ่มลดข้อความตามความเหมาะสม นอกจากนี้จะเห็นว่าการแปลที่ตรงตามต้นฉบับมากเกินไป จะทำให้เสียอรรถรสในการอ่านได้
3. การถ่ายทอดสำนวน ซึ่งเป็นสำนวนจีนที่ปรากฏในต้นฉบับภาษาจีน เจีย ซึ่งผู้วิจัยได้จำแนกออกเป็นหมวดหมู่ดังต่อไปนี้ 3.1 การถ่ายทอดสำนวนจีนที่มีโครงสร้างและความหมายตรงกับภาษาไทย ในหัวข้อนี้พบสำนวนจีนที่มีโครงสร้างและความหมายตรงกันกับภาษาไทย เช่น ต้นฉบับ : 刮着这样的风,打伞很吃力。 คำแปล : ลมพัดแบบนี้ กางร่มมันกินแรงเหลือเกิน ฉบับแปล : ลมพัดแรงยังงี้ กางร่มเดินมันกินแรงเหลือเกิน สำนวน “กินแรง” ในความหมายสำนวนจีนและไทยตรงกันทั้งโครงสร้างและความหมาย
3.2 การถ่ายทอดสำนวนจีนที่มีความหมายคล้ายกับภาษาไทย จากการศึกษาพบว่านอกจากจะพบสำนวนจีนที่มีโครงสร้างและความตรงกับภาษาไทยแล้ว ยังมีบางสำนวนที่ลักษณะคล้ายคลึงกับสำนวนไทยเช่นกัน เช่น ต้นฉบับ : 我平常相信‘有志者,事竟成’的话。 คำแปล : ปกติแล้วฉันเชื่อคำพูดที่ว่า ผู้มีความมุ่งมั่น งานการจะสำเร็จ ฉบับแปล : ทุกวันนี้พี่เชื่อสุภาษิตบทหนึ่งที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ผู้แปลเลือกใช้สำนวน “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” มาอธิบายสำนวนของต้นฉบับภาษาจีนที่มีลักษณะคล้ายกัน
3.3 การถ่ายทอดสำนวนจีนที่มีตัวเลข พบว่าในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ถ่ายทอดความหมายออกมาโดยไม่ได้ยึดติดตัวเลขที่มีอยู่ในสำนวนจีนนั้นๆแต่ถ่ายทอดโดยยึดความหมายหลักของสำนวนนั้นโดยใช้วิธีการปรับข้อความในภาษาไทยแทน เช่น ต้นฉบับ : 但他自己也并不是一无所得。 คำแปล : แต่ตัวเขาเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้อะไรเลย (ไม่ได้แม้แต่หนึ่ง) ฉบับแปล : แต่เขาเองก็มิใช่ว่าจะไม่ได้อะไรเลย สำนวน 一无所得 ถึงแม้จะมีคำว่า 一 ซึ่งแปลว่า “หนึ่ง” แต่ผู้แปลเลือกถ่ายทอดข้อความออกมาโดยการปรับข้อความโดยคำนึงถึงความหมายที่แท้จริงแทน
3.4 การถ่ายทอดสำนวนจีนที่มีโครงสร้างคู่ขนาน เป็นลักษณะการสร้างสำนวนที่นำชนิดของคำที่เหมือนกันหรือนำคำซ้อนในภาษาจีนมาประกอบกันเป็นสำนวน เช่น ต้นฉบับ : 左思右想地挨到了天明。 คำแปล : คิดวกไปวนมาด้วยความทุกข์จนฟ้าสาง ฉบับแปล : นอนคิดโน่นคิดนี่อยู่บนเตียง กระสับกระส่ายไปมาจนฟ้าสาง ผู้แปลเลือกอธิบายสำนวน 左思右想 โดยการอธิบายใหม่แต่ความหมายยังคงตรงกับบริบทที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อ อาจเป็นเพราะภาษาไทยไม่มีสำนวนที่มีความหมายตรงกับสำนวนจีนสำนวนนี้
3.5 การถ่ายทอดสำนวนจีนที่มีโครงสร้างอื่นๆ เป็นสำนวนที่สร้างมาจากคำโดดในภาษาจีนมาเรียงกันทีละคำ ซึ่งผู้อ่านสามารถเดาความหมายได้โดยสังเกตจากคำโดดที่นำมาประกอบ ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 如果你母亲要把你嫁给一个目不识丁的俗商。 คำแปล : ถ้าหากว่าแม่ของเธอจะให้เธอสมรสกับพ่อค้าที่ไม่มีความรู้อะไรเลยคนหนึ่ง ฉบับแปล : ถ้าหากคุณแม่ของเธอจะให้เธอสมรสกับพ่อค้าทึ่มๆคนหนึ่ง สำนวนในต้นฉบับ “目不识丁”หมายความว่า “คนเขลาที่ไม่รู้ตัวอักษร” ในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ให้ความหมายว่า “ทึ่มๆ” ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายทอดความหมายโดยการปรับข้อความใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภาษาไทย นอกจากนี้ยังเป็นภาษาไม่เป็นทางการ เหมาะสมกับบริบทที่สนทนากันระหว่างเพื่อน
สามารถสรุปได้ว่าการถ่ายทอดสำนวนจากต้นฉบับภาษาจีน เจีย สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้น หากในภาษาไทยมีสำนวนที่ตรงกับสำนวนจีนนั้นๆ ผู้แปลก็เลือกถ่ายทอดความหมายผ่านสำนวนไทย แต่หากในภาษาไทยไม่มีสำนวนที่มีความหมายตรงกันกับสำนวนจีน ผู้แปลจึงจะเลือกวิธีถ่ายทอดความหมายโดยการปรับข้อความในภาษาไทยเพื่อให้ความหมายในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน สอดคล้องกับต้นฉบับมากที่สุด
4. การถ่ายทอดเครื่องหมายวรรคตอน ผู้วิจัยเลือกวิเคราะห์เครื่องหมายปรัศนี (?) กับเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) เป็นหลัก พบว่าหากข้อความที่ถ่ายทอดออกมามีลักษณะเป็นคำถาม ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ก็จะกำกับโดยใช้เครื่องหมายปรัศนีทันที ในขณะที่ต้นฉบับภาษาจีน เจีย จะคำนึงว่าคำพูดนั้นมีนัยยะการประชดประชัน เสียดสีหรือไม่ หากมีนัยยะดังกล่าวต้นฉบับภาษาจีน เจีย จะกำกับเครื่องหมายอัศเจรีย์แทน ดังตัวอย่างเช่น
ต้นฉบับ : 哪个高兴给人家做小老婆! คำแปล : ใครที่ไหนจะยินดีไปเป็นเมียน้อยคนอื่นเล่า! ฉบับแปล : มีใครชอบแต่งไปเป็นเมียน้อยเขาที่ไหนกัน? จะเห็นว่าในต้นฉบับภาษาจีนถึงแม้จะมีคำแสดงคำถาม “哪”แต่เนื่องจากเป็นประโยคย้อนถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เพราะคำตอบเป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้ว ดังนั้นในต้นฉบับจึงใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ขณะที่ฉบับแปลภาษาไทยใช้เครื่องเหมายปรัศนีเพราะมีคำที่บ่งบอกถึงคำถาม
5. การเปรียบเทียบกระบวนการถ่ายทอดความหมายผ่านกลวิธีการใช้ภาษา คือการศึกษาเปรียบเทียบกลวิธีการใช้ภาษาระหว่างต้นฉบับภาษาจีน เจีย กับฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ซึ่งพบว่าในต้นฉบับภาษาจีนนั้นมีกลวิธีทางภาษาที่โดดเด่นมากมาย ซึ่งในฉบับแปลภาษาไทยนั้นก็ได้ถ่ายทอดความหมายออกมาหลายวิธีตามแต่ความเหมาะสม ซึ่งผู้วิจัยได้สรุปกลวิธีที่น่าสนใจและโดดเด่นจากต้นฉบับภาษาจีน เจีย ออกมาได้ดังต่อไปนี้
5.1 กลวิธีอุปมา คือการสร้างภาพพจน์ด้วยการเปรียบเทียบโดยมีจุดมุ่งหมายจะชี้แจงอธิบาย พูดพาดพิงถึงหรือเสริมให้งดงามขึ้นตามบริบท โดยส่วนมากใช้คำเปรียบว่า ดุจ ราว เหมือน ราวกับ เป็นต้นซึ่งพบว่ากลวิธีการอุปมาที่ปรากฏในต้นฉบับภาษาจีน เจีย นั้นมีการถ่ายทอดออกมาในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ดังต่อไปนี้ (1) ในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน มีการถ่ายทอดกลวิธีอุปมาตรงตามต้นฉบับภาษาจีน เจีย ทั้งโครงสร้างและคำเปรียบ เช่น ต้นฉบับ : 灯烛燃得跟白天一样地明亮。 คำแปล : เปลวเทียนส่องสว่างราวกับกลางวัน ฉบับแปล : แสงไฟสว่างไสวราวกับกลางวัน จะเห็นว่าในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ถ่ายทอดความหมายทั้งโครงสร้างและคำเปรียบตรงกับต้นฉบับภาษาจีน เจีย ซึ่งสามารถบอกได้ว่าลักษณะการอุปมาในภาษาจีนและไทยนั้นมีส่วนที่เหมือนกัน
(2) การเปรียบเทียบตามความหมายของคำ คือการอุปมาผ่านความหมายของคำศัพท์ในภาษาจีน ซึ่งไม่ใช่โครงสร้าง ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 酒令严如军令。 คำแปล : คำสั่งเหล้าเข้มงวดเหมือนคำสั่งทหาร ฉบับแปล : คำสั่งเหล้าเข้มงวดเหมือนคำสั่งทหาร พบว่าในขณะที่ภาษาจีนใช้คำศัพท์มาเป็นกลวิธีการเปรียบ ซึ่งในภาษาไทยก็ใช้คำศัพท์ว่า “เหมือน” เช่นเดียวกัน แต่ในภาษาไทยจะใช้คำเปรียบลักษณะเดียวกันนี้บ่อยๆ ซึ่งไม่หลากหลายเช่นในภาษาจีน
(3) การเปรียบเทียบที่เป็นเอกลักษณ์ คือการอุปมาที่มีคำเปรียบเป็นเอกลักษณ์ตามสังคมของตัวเอง เช่น ต้นฉบับ : 像你这样花钱如水,坐吃山空,我问你,还有几年好花? คำแปล : คนที่ใช้เงินเหมือนน้ำ ถลุงจนฉิบหายแบบแกเช่นนี้ ฉันถามแกหน่อยว่า จะใช้ไปได้ซักกี่ปี? ฉบับแปล : แกใช้เงินเป็นเบี้ย ถลุงจนฉิบหายหมดอย่างนี้ ข้าขอถามหน่อยว่า จะใช้ไปได้สักกี่น้ำ? พบว่าหากมีการเปรียบเทียบที่เป็นเอกลักษณ์ในต้นฉบับภาษาจีน ผู้แปลเลือกถ่ายทอดความหมายโดยการใช้ คำเปรียบอื่นที่เหมาะสมกับภาษาไทยแทน ดังตัวอย่างข้างต้นที่ในต้นฉบับภาษาจีนบอกว่า “ใช้เงินเหมือนน้ำ” แต่ในภาษาไทยใช้ข้อความว่า “ใช้เงินเป็นเบี้ย” แทน เพราะคนไทยจะคุ้นเคยกับ “เบี้ย” มากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตรากันมาตั้งแต่สมัยโบราณเพียงแต่หาง่ายกว่าเงินในปัจจุบันเท่านั้น
จากการศึกษากลวิธีอุปมาพบว่า ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ส่วนมากจะใช้การเปรียบเทียบผ่านความหมายของคำเช่น เหมือน ราวกับ เป็นต้น ในขณะที่ต้นฉบับภาษาจีนมีการอุปมาที่หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นการอุปมาผ่านโครงสร้างหรือความหมายของคำ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้แปลเลือกปรับการถ่ายทอดความหมายการอุปมาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในอดีตอีกด้วยเช่น ใช้เงินเป็นเบี้ย เป็นต้น
5.2 กลวิธีอุปลักษณ์ คือการเปรียบเทียบความหมายของสองสิ่งโดยนำความเหมือนและไม่เหมือนของสิ่งที่จะเปรียบเทียบมากล่าว ส่วนมากมักจะใช้คำว่า “คือ” หรือ “เป็น” ในการเปรียบเทียบ เช่น ต้นฉบับ : “譬如二哥,他几乎因为你的屈服就做了牺牲品。” คำแปล : “อย่างเช่นเจี้ยหมิน เขาเกือบจะกลายเป็นเครื่องสังเวยเพราะการยอมจำนนของของเธอ” ฉบับแปล : “ดูอย่างพี่เจี้ยหมินซิ เขาเกือบกลายเป็นเครื่องสังเวยสูญสิ้นอนาคตของเขาไปเพราะการยอมจำนนของพี่” จากการศึกษาพบว่ากลวิธีอุปลักษณ์ในภาษาจีนกับภาษาไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เนื่องจากมีคำเปรียบ “คือ” หรือ “เป็น” เหมือนกัน เป็นการเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏในต้นฉบับและฉบับแปล
5.3 กลวิธีบุคลาธิษฐาน คือการนำสิ่งต่างๆที่ไม่มีชีวิตรวมทั้งความคิดการกระทำ และนามธรรมอื่นๆมากล่าวเสมือนเป็นบุคคล ที่ปรากฏในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้นพบว่า (1) ถ่ายทอดความหมายตรงกับต้นฉบับภาษาจีน เจีย คือการที่ผู้แปลถ่ายทอดความหมายออกมาตรงกับต้นฉบับภาษาจีนทุกประการ ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 风在空中怒吼。 คำแปล : ลมคำรามอยู่ในอากาศ ฉบับแปล : ลมคำรามอยู่ในอากาศ จะเห็นว่าในฉบับแปลภาษาไทยแปลกริยา “คำราม” ตรงตัวตามความหมายของคำในต้นฉบับ
(2) การถ่ายทอดความหมายโดยการปรับข้อความ คือกลวิธีบุคลาธิษฐานที่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ปรับข้อความจากต้นฉบับภาษาจีน เจีย ซึ่งทั้งสองฉบับมีลักษณะการเป็นบุคลาธิษฐานเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 湖水吞下她的身体以后为什么还能够这样平静? คำแปล : หลังจากน้ำในบึงกลืนร่างหล่อนลงไปแล้วทำไมยังทำเป็นเงียบสงบอยู่ได้อย่างไรกัน? ฉบับแปล : น้ำในบึงกลืนร่างหล่อนไปแล้วยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อนได้อย่างไรกัน จากตัวอย่างข้างต้นเห็นว่าต้นฉบับภาษาจีน เจีย ใช้คำว่า “平静”หมายความว่า สงบ ซึ่งในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ปรับข้อความใหม่เป็น “ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน” ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันและไม่ทำให้บริบทเสียหายแต่อย่างใด
(3) การถ่ายทอดความหมายที่ไม่ตรงตามความหมายต้นฉบับ คือการถ่ายทอดความหมายจากต้นฉบับภาษาจีน เจีย สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ที่มีความบกพร่องทางความหมายของคำ กล่าวคือถ่ายทอดความหมายออกมาไม่ตรงกับต้นฉบับภาษาจีน ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 风开始在外面怒吼,猛烈地摇撼着窗户,把窗格上糊的纸吹打得凄惨地叫。 คำแปล : ลมเริ่มคำรามอยู่ด้านนอก ซัดเขย่าบานหน้าต่างอย่างรุนแรง กระดาษที่ปิดอยู่บนกรอบหน้าต่างถูก กระหน่ำจนส่งเสียงร้องอย่างน่าเวทนา ฉบับแปล : ลมเริ่มส่งเสียงคำรามอยู่ข้างนอก มันซัดสั่นหน้าต่างอย่างรุนแรง กระดาษที่ปิดอยู่บนกรอบหน้าต่างถูกกระหน่ำเสียจนต้องส่งเสียงโอดครวญอย่างน่าสมเพช ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน เลือกใช้คำว่า “สมเพช” ซึ่งในภาษาไทยมักจะใช้เป็นคำสบถมากกว่า ดังนั้นควรจะปรับใหม่เป็น “เวทนา” หรือ “อย่างโหยหวน” น่าจะเหมาะสมกว่า
กลวิธีบุคลาธิษฐานนั้นสามารถสรุปรวมได้ว่า ในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้นมีการถ่ายทอดตรงตามต้นฉบับภาษาจีน เจีย ทั้งโครงสร้างและกริยา และยังมีการปรับข้อความโดยให้สอดคล้องและเป็นการเพิ่มอรรถรสมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้คำในกลวิธีบุคลาธิษฐานที่ไม่ค่อยเหมาะสม แต่เนื่องจากความคล้ายคลึงด้านความหมายทางภาษาและบริบท จึงไม่ส่งผลกระทบต่อบริบทมากนัก
5.4 กลวิธีสัญลักษณ์ คือกลวิธีที่นำสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตซึ่งเป็นตัวแทนหรือสิ่งแทนของอีกสิ่งหนึ่ง พบประเด็นน่าสนใจดังต่อไปนี้ (1) การถ่ายทอดความหมายตรงตามต้นฉบับ คือการที่ผู้แปลถ่ายทอดคำสัญลักษณ์ตรงกับต้นฉบับภาษาจีน ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 人们躺下来,取下他们白天里戴的面具。 คำแปล : ผู้คนลงตัวลงนอน ถอดหน้ากากที่พวกเขาสวมใส่ในทิวากาลออก ฉบับแปล : คนทั้งหลายล้มตัวลงนอน ถอดหน้ากากที่พวกเขาสวมใส่ในทิวากาลออก ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน แปลตรงตามต้นฉบับภาษาจีน เจีย ว่า “หน้ากาก”ซึ่งความหมายแฝงเชิงสัญลักษณ์ของทั้งสองภาษาเหมือนกัน
(2) การถ่ายทอดความหมายโดยการปรับข้อความ กล่าวคือในฉบับแปลภาษาไทยมีการปรับข้อความที่เป็นสัญลักษณ์เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 你现在就要脱离苦海了。 คำแปล : ตอนนี้เธอก็ใกล้จะหลุดพ้นจากทะเลทุกข์ไปแล้ว ฉบับแปล : ตอนนี้น้องก็ใกล้จะจากขุมนรกไปแล้ว จะเห็นได้ว่าฉบับแปลภาษาไทยเลือกปรับข้อความสัญลักษณ์นั้น ซึ่งต้นฉบับภาษาจีนใช้คำว่า “苦海”แปลตรงตัวหมายความว่า “ทะเลทุกข์” ซึ่งในความเชื่อคนไทยส่วนมากจะสื่อถึงการเวียนว่ายตายเกิด ดังนั้นจึงปรับข้อความใหม่เป็น “ขุมนรก” ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของคนไทยที่เชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ ซึ่งมีอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ
พบว่ากลวิธีสัญลักษณ์ที่ปรากฏในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้นมีการถ่ายทอดความหมายตรงตามต้นฉบับภาษาจีน นอกจากนี้ยังมีการปรับข้อความใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะสังคมไทยอีกด้วย
5.5 กลวิธีสัทพจน์ คือการใช้รูปแบบและคำเพื่อเลียนเสียงต่างๆ พบประเด็นน่าสนใจดังต่อไปนี้ (1) การถ่ายทอดความหมายที่เป็นเอกลักษณ์ คือฉบับแปลภาษาไทยเลือกใช้คำเลียนเสียงที่มีอยู่ในภาษาไทย โดยไม่ยึดติดกับเสียงเดิมของภาษาต้นฉบับ ดังตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 钟摆有规律地在摇动,“滴答”“滴答”的声音好像就在她的心上敲打一样。 คำแปล : ลูกตุ้มนาฬิกาแกว่งไปมาอย่างมีจังหวะ เสียง“ติ๊กต๊อก” “ติ๊กต๊อก”ราวกับจะตอกลงไปในหัวใจของหล่อน ฉบับแปล : ลูกตุ้มนาฬิกาแกว่งไปมาอย่างมีจังหวะ เสียง “ติ๊กต๊อก” ของมันราวกับจะตอกลงไปในหัวใจของหล่อน จากตัวอย่างข้างต้นเห็นว่าในต้นฉบับภาษาจีนใช้คำเลียนเสียงการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกาว่า “ตีตา 滴答”ซึ่งตรงกับคำว่า “ติ๊กต๊อก” ในภาษาไทย ซึ่งวิธีการนี้เป็นการเลือกใช้คำเลียนเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภาษา
(2) การถ่ายทอดความหมายโดยการปรับข้อความ คือผู้แปลเลือกถ่ายทอดคำเลียนเสียงในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน โดยใช้กฎการเลียนเสียงของภาษาจีนถ่ายทอดออกมาในฉบับแปล ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : “轰”,“哗啦”,“哗啦”,……大炮接连放了三次。 คำแปล : “ตูม” “ตูม ตูม” เสียงระเบิดดังติดต่อกันถึง 3 ครั้ง ฉบับแปล : “ตูม” “ซ่า...ซ่า” ... ปืนใหญ่ดังติดต่อกันถึง 3 ครั้ง คำเลียนเสียงในฉบับแปลภาษาไทย “ตูม” “ซ่า...ซ่า” ซึ่งกำลังเลียนเสียงปืนใหญ่ในต้นฉบับ แต่เสียง “ซ่า” ในภาษาไทยส่วนมากจะเป็นคำเลียนเสียงน้ำหรือสิ่งของเสียดสีกัน ไม่นิยมนำมาเลียนเสียงระเบิดหรือเสียงปืน แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางภาษาจีนของคำว่า “哗啦”ที่สามารถเป็นทั้งคำเลียนเสียงน้ำและของกระทบกัน ดังนั้นฉบับแปลภาษาไทยจึงอาศัยเงื่อนไขนี้ถ่ายทอดเสียงออกมาโดยให้ตรงกับเงื่อนไขของภาษาจีน
พบว่าการถ่ายทอดคำเลียนเสียงในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้นมีการเลือกใช้คำเลียนเสียงที่มีอยู่ในภาษาไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้พบว่าบางส่วนยังอาศัยเงื่อนไขกฎการเลียนเสียงจากภาษาจีนร่วมในการถ่ายทอดความหมายอีกด้วย
5.6 กลวิธีอติพจน์ คือโวหารภาพพจน์ซึ่งมีข้อความที่กล่าวเกินจริงสำหรับเน้นความ ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับ : 时间过得非常慢, 一分钟就像一年那样地长久。 คำแปล : เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน หนึ่งนาทียาวนานเหมือนหนึ่งปี ฉบับแปล : เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า นาทีหนึ่งนานเหมือนปี จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าการสื่อความหมายโดยกลวิธีอติพจน์หรือการกล่าวเกินจริงปรากฏทั้งในต้นฉบับภาษาจีนและฉบับแปลภาษาไทย นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้อความในลักษณะเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลักษณะของกลวิธีชนิดนี้ของทั้งสองภาษามีความคล้ายคลึงกัน
อภิปรายและสรุปผลการวิจัย การถ่ายทอดความหมายชนิดของคำนั้นผู้แปลอาศัยวิธีการผละออกจากบริบท (Deverbalization) และมีการปรับการแปลบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องและสมจริงกับบริบทที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่อ ในส่วนของคำศัพท์ที่เป็นชื่อเฉพาะนั้นผู้แปลอาศัยการทับศัพท์โดยใช้เสียงภาษาอังกฤษโดยสะกดตัวอักษรเป็นภาษาไทย และยังพบว่ามีการแปลโดยการนำชื่อเฉพาะในภาษาจีนมาบัญญัติใหม่โดยให้คงความหมายเดิมและกะทัดรัดมากที่สุด บางส่วนยังพบว่ามีการบัญญัติศัพท์ใหม่โดยใช้เงื่อนไขทางประเพณีของไทยอีกด้วย รูปแบบการถ่ายทอดความหมายในระดับคำนั้นพบว่ามีการเพิ่มคำ ตัดทอน ปรับเปลี่ยนความหมายใหม่จากต้นฉบับภาษาจีนและการแปลความหมายคำตรงเกินไป ซึ่งรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นนั้นส่งผลให้บริบทมีความชัดเจนขึ้น กะทัดรัดมากขึ้นและทำให้ผู้อ่านสามารถซึมซับในบริบทมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพบข้อผิดพลาดในการถ่ายทอดความหมายผ่านรูปแบบทั้งสี่ประการข้างต้นอยู่บ้างซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบริบท แต่โดยรวมแล้วผู้วิจัยพบว่าผู้แปลมีความประสงค์จะรักษาบริบทเดิม รูปแบบการถ่ายทอดความหมายในระดับประโยคหรือข้อความนั้นพบว่ามีการเพิ่มข้อความ ตัดทอนข้อความ การปรับข้อความและการถ่ายทอดความหมายข้อความที่ตรงเกินไปเช่นเดียวกันกับระดับคำ ผู้วิจัยพบว่าจากรูปแบบที่กล่าวมานั้น การปรับข้อความเป็นรูปแบบที่ปรากฏมากที่สุด อาจเป็นเพราะโครงสร้างประโยคในภาษาจีนและไทยมีส่วนที่แตกต่างกัน การใช้ภาษาที่มีเฉพาะในวัฒนธรรม ความสามารถในการรับรู้ความหมายของแต่ละภาษามีไม่เท่ากันจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนข้อความนั้นให้เหมาะสมกับผู้อ่านชาวไทย นอกจากนี้ยังพบว่าการเพิ่มและตัดทอนข้อความนั้นก็ทำให้ข้อความชัดเจน ลดการคลาดเคลื่อนความหมายของผู้อ่านและทำให้เกิดภาพพจน์แก่ผู้อ่านได้ ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนั้นในเนื้อเรื่องได้ นอกจากนี้การตัดทอนข้อความก็สามารถช่วยให้เนื้อหากระชับ รวบรัดเข้าใจง่ายอีกด้วย การถ่ายทอดสำนวนจีนพบว่ามีทั้งการแปลโดยการใช้สำนวนไทยโดยตรงและการปรับข้อความโดยให้ความหมายตรงกับสำนวนจีนที่ต้นฉบับต้องการจะสื่อ และในหัวข้อการถ่ายทอดเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) กับเครื่องหมายปรัศนี (?) นั้นพบว่าหากในฉบับแปลภาษาไทยมีคำหรือข้อความที่มีลักษณะเป็นคำถาม ก็จะใช้เครื่องหมายปรัศนีกำกับไว้ท้ายประโยคทันที แตกต่างจากต้นฉบับภาษาจีนซึ่งใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์กำกับประโยคที่ถึงแม้จะมีคำสำคัญ (Keyword) เป็นคำถามแต่มีเนื้อหาเสียดสีหรือการประชดประชัน การถ่ายทอดความหมายผ่านกลวิธีการใช้ภาษาไทยในฉบับแปลภาษาไทย บ้าน นั้น ผู้แปลมีทั้งการแปลโดยตรงทั้งโครงสร้างและข้อความตามภาษาจีน และยังพบว่ามีการปรับข้อความใหม่ให้ตรงกับความคุ้นชินในสังคมไทย ซึ่งมีเงื่อนไข เช่น ศาสนา ความเชื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่าถึงแม้บางประโยคหรือข้อความที่ผู้แปลถ่ายทอดความหมายออกมาไม่ตรงกับบริบทภาษาจีน แต่อย่างไรก็ตามผู้แปลยังคงมีเจตนามุ่งรักษาความหมายต้นฉบับอย่างเต็มที่ เพราะเนื้อหาที่บกพร่องนั้นไม่ได้บิดเบือนบริบทจากต้นฉบับมากนัก
เอกสารอ้างอิง ภาษาไทย เจ้าพระยาพระคลัง(หน). ตำนานสามก๊ก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ศิลปาบรรณาคาร, 2515. ปาจิน, บ้าน. แปลโดย วิภา อุตมฉันท์. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิมพ์วาด, 2532. ประภาศรี สีหอำไพ. วัฒนธรรมทางภาษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538. เผย์ เสี่ยวรุ่ย. พจนานุกรมจีน-ไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทฤษฎี บริษัทตถาตาพับลิเคชั่น จำกัด, 2549. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย . กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2545. วรรัตน์ พิริยานสรณ์. การเปรียบเทียบเฉ้อเตียวอิงสฺยงจฺว้านกับมังกรหยก. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542. ศศรักษ์ เพชรเชิดชู. การแปลจีน-ไทยเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552. สิทธา พินิจภูวดล. คู่มือนักแปลอาชีพ. กรุงเทพฯ: บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, 2542. สุพล เตชะธาดา. ศิลปะการแปลไทยเป็นอังกฤษ. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด, 2545.
ภาษาจีน Zhōu Lìgāng 周立刚. 2008. “Jiā de Jiēshòu Yánjiū《家》的接受研究 (การศึกษาการเป็นที่ยอมรับของนวนิยายเรื่อง บ้าน)”. Master’s Thesis, Graduate School, Hebei University, 2008.