การศึกษา เรื่องเล่าอาฝานถี ในฐานะนิทานมุขตลกแนวเสียดสี
จาก ChulaPedia
การศึกษา เรื่องเล่าอาฝานถี ในฐานะนิทานมุขตลกแนวเสียดสี A STUDY OF THE STORY OF AFANTI AS SATIRICAL TRICKSTER TALES
วรีสรา จารย์ปัญญา warissara_amp@hotmail.com
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษานิทานพื้นบ้านจีน เรื่องเล่าอาฝานถี ใน 3 ประเด็นหลักคือ ศึกษาอนุภาคที่ปรากฏใน เรื่องเล่าอาฝานถี วิเคราะห์กลวิธีการพลิกความหมายในการนำเสนอ เรื่องเล่าอาฝานถี ในฐานะนิทานมุขตลกแนวเสียดสี และวิเคราะห์นัยทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นใน เรื่องเล่าอาฝานถี ผลการวิจัยพบว่า 1) อนุภาคใน เรื่องเล่าอาฝานถี มี 7 อนุภาค คือ อนุภาคการตีความอย่างเถรตรง อนุภาคการใช้อุบาย อนุภาคการกระทำเรื่องเหลือเชื่อ อนุภาคเกี่ยวกับสิ่งสกปรกและเรื่องเพศ อนุภาคเกี่ยวกับการหลอกลวงความไว้วางใจ อนุภาคเกี่ยวกับการทดสอบความฉลาดหรือความสามารถ อนุภาคเกี่ยวกับบุคคลและสังคม 2)กลวิธีการพลิกความหมายในการนำเสนอ เรื่องเล่าอาฝานถี มี 5 กลวิธี ได้แก่ กลวิธีการเล่นคำ กลวิธีการให้เหตุผล กลวิธีการนำเสนอให้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ กลวิธีการใช้กลอุบายโดยการวางแผน กลวิธีการสอดแทรกคติสอนใจ 3) นัยทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นใน เรื่องเล่าอาฝานถี คือคู่ตรงข้ามที่นำเสนอในนิทานเรื่องนี้ล้วนเป็นบุคคลที่มีอำนาจในสังคม อาทิ จักรพรรดิ นักบวช และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เพื่อผ่อนคลายความกดดันจากปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม เรื่องเล่าอาฝานถี จึงนำเสนอบุคคลเหล่านี้ในฐานะ “ตัวตลก” ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้
คำสำคัญ : เรื่องเล่าอาฝานถี, นิทานมุขตลกแนวเสียดสี, นิทานพื้นบ้านจีน
Abstract
This research aims to study and analyze the main three issues in the Chinese Folklore “The Story of Afanti”, including the motifs illustrated in “The Story of Afanti”, the twist meaning techniques used in “The Story of Afanti” as a satirical trickster tales, and the social significance reflected in “The Story of Afanti”. According to the results of this research, firstly, there are seven motifs found in “The Story of Afanti”, i.e. literal interpretations, tricks, unbelievable performance, uncleanliness and sex, deception into giving false credits, test of cleverness or ability, and persons and society. Secondly, there are five twist meaning techniques that are used to present “The Story of Afanti”, i.e. punning technique, reasoning technique, the technique to suggest doing something that cannot be done, tricking technique by means of planning and the technique of inserting moral perceptive. Finally, regarding the social significance reflected through “The Story of Afanti”, a satirical trickster tales, it is found that the opponent pairs in the tale are usually the powerful people in the society such as emperors, priests and local influential persons. To relieve the pressure from the relationship of unequal power in this society, “The Story of Afanti” illustrates these people as “the fools”, which is impossible in reality.
Keywords : The Story of Afanti , satirical trickster tale , Chinese folklore.
บทนำ
การเล่านิทานมีมานานแล้วและมีอยู่ในทุกสังคม(ประคอง นิมมานเหมินท์, 2551: 1) ผู้คนเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา นิทานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงจิตใจ ผู้คนในสังคมสามารถกำหนดขอบเขตและกฎเกณฑ์ทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีได้ผ่านทางการเล่านิทาน และในขณะเดียวกันก็สามารถหาทางผ่อนคลายความเครียดและความอึดอัดจากการตีกรอบของประเพณี สังคม และวัฒนธรรมได้จากนิทานเช่น นิทานมุขตลก เป็นต้น นิทานมุขตลก จัดเป็นวรรณคดีมุขปาฐะที่เป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ นิทานมุขตลกบางเรื่องในปัจจุบันมีอายุเก่าแก่ประมาณสามถึงสี่พันปีและเป็นที่รู้จักทั่วโลก(Thompson, 1977:10) นิทานเรื่อง เรื่องเล่า อาฝานถี(阿凡提的故事)เป็นนิทานมุขตลกที่เป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่แพร่หลายในสังคมจีน และยังได้รับการแปลไปอีกหลายภาษาด้วยกัน ชาวจีนเป็นชนชาติที่มีโครงสร้างความรู้สึก(structure of feeling) ที่จริงจัง เห็นได้จากนิทานมุขตลกที่เป็นที่แพร่หลายมากที่สุดในประเทศก็ยังหยิบยืมของชนกลุ่มน้อยที่มีชื่อว่าอุยกูร์(维吾尔族)มาใช้ นิทานเรื่องนี้มีประวัติอันยาวนาน แต่เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาฝานถี เป็นบุคคลหลากหลายอาชีพ ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ผู้มีความรู้ จุดมุ่งหมายในการใช้ความเจ้าปัญญาของอาฝานถีเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ อันเป็นจุดกำเนิดของเรื่องราวต่างๆที่ตัวบทนิทานล้วนหลอมรวมเป็นความเชื่อในการยืนหยัดในนัยยะของความถูกต้องที่แฝงอยู่ในการกระทำของตัวละครเอกทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเรื่อง เรื่องเล่าอาฝานถี ในฐานะนิทานมุขตลกแนวเสียดสี
วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. ศึกษาอนุภาคในนิทานพื้นบ้านจีน เรื่องเล่าอาฝานถี 2. วิเคราะห์กลวิธีการพลิกความหมายในการนำเสนอ เรื่องเล่าอาฝานถีในฐานะนิทานมุขตลกแนวเสียดสี 3. วิเคราะห์นัยทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นในนิทานมุขตลกแนวเสียดสี เรื่องเล่าอาฝานถี
แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยนี้ใช้ทฤษฎี ดัชนีอนุภาคนิทาน Motif-index of Folk Literature ของ สติธ ทอมป์สัน (Stith Thompson) ซึ่งเป็นนักคติชนวิทยาชาวอเมริกันผู้ศึกษาวิเคราะห์นิทานจากประเทศต่างๆทั่วโลก แล้วจัดทำเป็นดัชนีอนุภาคของนิทานพื้นบ้าน ไว้จำนวน 6 เล่ม โดยใช้อักษรโรมันตั้งแต่ A-Z เป็นตัวจำแนกหมวดหมู่(Thompson, 1955:12)
วิธีการวิจัย
การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และเสนอผลการวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่องเล่าอาฝานถี จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อค้นหาแนวทางในการทำงานวิจัย
2. แปลตัวบท เรื่องเล่าอาฝานถี จากภาษาจีนเป็นภาษาไทย 3. จัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ อนุภาค กลวิธีการพลิกความหมาย และนัยทางสังคมใน เรื่องเล่าอาฝานถี 4. สรุปผลการวิจัยและรายงานผลการศึกษา
สมมติฐานการวิจัย 1. อนุภาคในนิทานพื้นบ้านจีน เรื่องเล่าอาฝานถี มีลักษณะร่วมกับอนุภาคในนิทานมุขตลกแนวเสียดสีของชาติอื่นๆ อาทิ อนุภาคการตีความแบบเถรตรง อนุภาคการใช้อุบาย และอนุภาคการกระทำเรื่องเหลือเชื่อ
2. กลวิธีการพลิกความหมายในการนำเสนอมุขตลกแนวเสียดสีใน เรื่องเล่าอาฝานถี มี 5 กลวิธีหลัก ได้แก่ กลวิธีการเล่นคำ กลวิธีการให้เหตุผล กลวิธีการนำเสนอให้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ กลวิธีการใช้กลอุบายโดยการวางแผน และกลวิธีการสอดแทรกคติสอนใจ
3. นิทานมุขตลกแนวเสียดสี เรื่องเล่าอาฝานถี มีบทบาทช่วยผ่อนคลายความกดดันจากปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม มีการเลือกนำเสนอกลุ่มคนในสังคมบางกลุ่มให้เป็นตัวตลก อาทิ จักรพรรดิ นักบวช และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งในชีวิตจริงไม่สามารถทำได้
ผลการวิจัย
จากการศึกษา เรื่องเล่าอาฝานถี ในฐานะนิทานมุขตลกแนวเสียดสี ทั้งทางด้าน อนุภาค กลวิธีการพลิกความหมาย และ นัยทางสังคม พบว่า
1. อนุภาคหลักในเรื่อง เรื่องเล่าอาฝานถี ในวรรณกรรมนิทานถือว่าอนุภาคเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดที่มีลักษณะพิเศษ น่าสนใจ ผิดแปลกไปจากธรรมดา โดยส่วนใหญ่อนุภาคมักจะเป็น วัตถุสิ่งของ ตัวละคร พฤติกรรมของตัวละครหรือเหตุการณ์ในนิทาน (ประคอง นิมมานเหมินท์, 2548: 38) ใน เรื่องเล่าอาฝานถี มีอนุภาคที่ตรงกับดัชนีอนุภาคนิทานของ สติธ ทอมสันป์ ทั้งหมด 7 อนุภาค ดังนี้
1.1 อนุภาคการตีความอย่างเถรตรง การตีความอย่างเถรตรงคือ การตีความถ้อยคำหรือคำพูด ให้มีความหมายผิดไป จากความหมายเดิมของภาษา (ศิริพร ศรีวรกานต์, 2542: 43) หรือการปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเถรตรง จนทำให้เกิดผลเสียหรือหายนะภายหลัง ยกตัวอย่างเช่น
(1) อนุภาค J2461.1 Literal following of instructions about actions.การปฏิบัติตามคำสั่งแบบเถรตรง พบในนิทาน เรื่อง คำพูดของภรรยา(妻子的话)ดังนี้
“尊敬的陛下,”阿凡提若无其事,笑微微地说,“看了您的‘告示', 我使回到家里跟妻子扁说要交。您的‘告示'上说丈夫不要听妻子的话,我只能按陛下的‘告示'办事,---没有听妻子的活,把羊交来。”(Zhao, 1963: 47) “ทูลฝ่าบาท”อาฝานถีไม่เดือดเนื้อร้อนใจอันใด เขายิ้มแล้วพูดว่า “หลังจากที่กระหม่อมได้อ่านประกาศของพระองค์ กระหม่อมก็ได้กลับบ้านไปปรึกษาหารือกับภรรยาแล้ว กระหม่อมบอกว่าจะไม่ถวายแพะแก่พระองค์ ภรรยาของกระหม่อมนี่สิเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็จะถวายแพะแก่พระองค์ให้จงได้ แต่ประกาศของพระองค์บอกว่ามิให้สามี ฟังคำพูดของภรรยา กระหม่อมจึงทำใจยอมทำตามประกาศของพระองค์ ไม่ได้ฟังคำพูดของภรรยาที่ว่าให้นำแพะมาถวาย พะย่ะค่ะ”
ในนิทานเรื่องนี้เป็นอุบายที่ อาฝานถี ใช้การตีความแบบเถรตรงเพื่อหลบเลี่ยงพระบรมราชโองการของฮ่องเต้ ที่ประชาชนจะต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ฮ่องเต้ทรงมีรับสั่งภายในสามวันให้ทุกครัวเรือนนำแพะไปถวาย ฮ่องเต้ทรงทราบดีว่า ภรรยาในทุกๆครอบครัวจะต้องสั่งห้ามสามีไม่ให้นำแพะไปถวาย จึงรับสั่งในประกาศว่าสามีมิต้องทำตามคำพูดของภรรยา ทว่าภรรยาของอาฝานถีต้องการให้ถวาย ดังนั้นอาฝานถีจึงมิอาจทำตามคำพูดของภรรยา การที่อาฝานถีทำตามรับสั่งของฮ่องเต้อย่างเถรตรง เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนความขัดแย้งในใจของประชาชนที่ไม่อยากปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมของฮ่องเต้ ซึ่งในชีวิตจริงมิอาจขัดขืนได้ (2) อนุภาค J 2465 Disastrous following of instructions การปฏิบัติตามคำสั่งแต่ส่งผลเสียภายหลัง พบในนิทานเรื่อง แจ้งความจับแมลงวัน(捉蝧告状)ดังนี้
阿凡提按照喀孜的话,放了苍蝇。苍蝇飞来飞去,落在喀孜的额头上。阿凡提照准苍蝇狠狠打了一棍子,给苍蝇判了死刑。喀孜的额头上也被打了个拳头大的窟窿,鲜血直流,晕倒在地。“看来我这原告人不该被罚款了。” (Zhao, 1963: 17) อาฝานถีทำตามที่คาจือสั่ง ปล่อยแมลงวันตัวนั้น มันบินไปบินมา บินไปเกาะที่หน้าผากของคาจือ อาฝานถีเล็งไปที่แมลงวันบนหน้าผากของคาจือและตีลงไปอย่างแรง ให้โทษตายแก่แมลงวันตัวนั้น คาจือโดนทุบศรีษะอย่างรุนแรงเลือดไหลนอง เป็นลมล้มพับไป “เห็นทีว่าโจทก์อย่างข้าคงไม่ต้องโดนปรับเป็นทองคำแล้วสินะ”
นิทานเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวระหว่างอาฝานถีกับคาจือ อาฝานถีปฏิบัติตามคำสั่งที่คาจือ บอกให้ปล่อยแมลงวัน หากตีไม่ถูกตัวแมลงวันก็ให้ปรับอาฝานถีเป็นทองคำ อาฝานถีตีไปโดนแมลงวันที่เกาะอยู่บนหน้าผากคาจืออย่างแรง จนคาจือสลบไป
1.2 อนุภาคการใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยม การใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยมเป็นการสร้างสถานการณ์หรือใช้กลลวงเพื่อเป็นการกลั่นแกล้งหรือเพื่อทำให้ตนได้ในสิ่งที่ต้องการ อนุภาคนี้มักปรากฏอยู่ในหมวด K. DECEPTIONS การหลอกลวง การปลอมแปลงเล่ห์เพทุบาย ดังนิทานเรื่อง ถุงใส่ปัญญา(计囊)ดังนี้
“我就能骗了你”阿凡提说“不过得等着,我先回家把计囊取来,才好拿出计策骗你。你要是真不怕我的计囊,就让我骑你着马去拿,好快点回来。”
(Zhao, 1963: 90)
“ข้านี้แหละที่สามารถหลอกท่านได้” อาฝานถีพูด “แต่ท่านจะต้องรอก่อน ข้าจะกลับบ้านไปเอาถุงใส่ปัญญาของข้ามาก่อน ข้าถึงจึงจะสามารถใช้มันออกอุบายหลอกท่านได้ หากท่านไม่กลัวถุงปัญญาของข้าจริง ท่านต้องให้ข้ายืมม้าของท่าน ข้าจะได้เดินทางกลับมาโดยเร็ว”
นิทานเรื่องนี้เกี่ยวกับ กษัตริย์จากประเทศใกล้เคียงมาทดสอบปัญญาของอาฝานถี อาฝานถีลวงให้รอโดยการขอยืมม้าขี่ไปเพื่อจะกลับไปเอาปัญญาที่บ้านมาต่อสู้กับพระองค์ กษัตริย์องค์นี้ทรงหลงเชื่อให้อาฝานถีขี่ม้ากลับไป จนกระทั่งเวลาผ่านไปจึงรู้ว่าตนถูกหลอก อาฝานถีใช้อุบายและเล่ห์เหลี่ยมเพื่อหลอกคู่ตรงข้าม เป็นที่สังเกตว่าการใช้อุบายในเรื่องเล่าอาฝานถี นั้นส่วนใหญ่มักเป็นไปในลักษณะช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นให้รอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนแต่อย่างใด
1.3 อนุภาคการกระทำเรื่องเหลือเชื่อ
การกระทำเรื่องเหลือเชื่อ มักเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้จริงและขัดแย้งกับบริบท หรือไม่เข้ากับหลักการเหตุผลในความเป็นจริง ปรากฏในหมวด H1010. Impossible tasks ดังนิทานเรื่อง ปลูกทอง(种金子)ดังนี้
“胡说八道!我不信你的鬼话!你想骗谁?金子哪有干死的!” “咦,这就奇怪了!”阿凡提说,“您要是不相信金子会干死,怎么又相信金子种上了能长呢?”(Zhao, 1963: 32) “เจ้าพูดจาซี้ซั้ว ข้าไม่เชื่อคำพูดของเจ้า เจ้าคิดจะหลอกใครกัน มีที่ไหนกันทองแห้งตาย” “อี๋ เช่นนั้นก็แปลกแล้วล่ะพะยะค่ะ”อาฝานถีพูด “พระองค์ไม่เชื่อว่าทองแห้งตายได้ เช่นนั้นแล้วพระองค์เชื่อได้อย่างไรว่าทองสามารถปลูกได้ล่ะพะยะค่ะ”
อาฝานถีลวงให้ฮ่องเต้เข้าใจว่าตนสามารถปลูกทองได้ และนำทองที่ได้จากฮ่องเต้มาแจกจ่ายชาวบ้านผู้ยากจน อาฝานถียืมทองจำนวนหนึ่งมาจากชาวบ้านแต่สุดท้ายก็ได้ทองจำนวนมากจากฮ่องเต้แทน เป็นการออกอุบายอันชาญฉลาดโดยการทำเรื่องเหลือเชื่อและใช้ความละโมบโลภมากของฮ่องเต้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการได้สำเร็จ
1.4 อนุภาคเกี่ยวกับสิ่งสกปรกและเรื่องเพศ
อนุภาคเกี่ยวกับสิ่งสกปรกและเรื่องเพศปรากฏน้อยใน เรื่องเล่าอาฝานถี เนื่องจาก อาฝานถีเป็นนักปราชญ์ผู้มีความรู้ที่ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหามากกว่าการเกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรกและเรื่องเพศ จากการวิจัยพบ อนุภาคเกี่ยวกับสิ่งสกปรก C891 Tabu: Uncleanliness เรื่องสกปรกเป็นเรื่องต้องห้าม ใน เรื่องเล่า อาฝานถี เพียงเรื่องเดียวคือ เรื่อง ถ่ายมูลเป็นทอง(拉金币的毛驴)ดังนี้
“快看呀,我的金币就要出来啦!”可是毛驴尾巴往上一翘,只拉出来几个粪蛋。真的,漂亮的地毯上除了这几个粪蛋,什么也没有。(Zhao, 1963: 42) “รีบมาดูเร็วเข้า ทองคำของข้ากำลังจะออกมาแล้ว แต่เมื่อเจ้าลายกหางทันใด ก็มีเพียงมูลอุจจาระออกมาเท่านั้น บนพื้นพรมสวยๆนอกจากอุจจาระของลาแล้วอย่างอื่นก็ไม่มีจริงๆ
อาฝานถีหลอกฮ่องเต้ว่าลาของตนนั้นสามารถถ่ายมูลออกมาเป็นทอง ฮ่องเต้ทรงหลงเชื่อและซื้อลาตัวนั้นไว้ รอให้ลาถ่ายออกมา แต่สิ่งที่ลาถ่ายออกมานั้นเป็นเพียงมูลสัตว์มิใช่ทองคำแต่อย่างใดแสดงถึงความหลงเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถเป็นไปได้ของฮ่องเต้อันเนื่องมาจากความโลภอยากได้ทองนั่นเอง
1.5 อนุภาคเกี่ยวกับการหลอกลวง ความไว้วางใจ
การหลอกลวงและความไว้วางใจ ซึ่งตรงกับอนุภาคหมวด K 455 Ddeception into giving false credit) การหลอกลวง ความไว้วางใจ พบใน เรื่องเล่าอาฝานถี เรื่อง ร้องไห้เสียดายเงิน(哭元宝)ดังนี้ 阿凡提答应了巴依的要求,背过去了一个巴依,得了一个元宝。他背着另一个巴依走到河中心时,故意把脚拐了一下,身子朝后一仰倒在水里,那个巴依使被水冲走了。 (Zhao, 1963: 62) อาฝานถีรับปากคำร้องขอของสองปาอี แบกปาอีคนหนึ่งข้ามแม่น้ำไปแล้วได้รับเงินหนึ่งหยวน เมื่อเขาแบกปาอีคนที่สองไปถึงใจกลางแม่น้ำ อาฝานถีจงใจแกล้งสะดุดลงไปในแม่น้ำ ปาอีคนนั้นจึงถูกน้ำพัดลอยหายไป
เรื่อง ร้องไห้เสียดายเงิน (哭元宝)นี้เป็นตอนที่อาฝานถีนั่งอยู่ริมแม่น้ำคนเดียว มีเศรษฐีปาอีสองคนมาขอให้อาฝานถีช่วยแบกข้ามแม่น้ำ แล้วจะให้เงินเป็นค่าตอบแทน อาฝานถีแบกคนแรกข้ามไปแล้วอย่างปลอดภัย มาถึงคนที่สองอาฝานถีแกล้งสะดุดทำให้ปาอีคนนี้ลอยตามน้ำเชี่ยวหายไป ถือเป็นการหลอกลวงความไว้วางใจ
ในคราแรกอาฝานถีมิได้ตั้งใจจะช่วยปาอีทั้งสองอยู่แล้ว และไม่ได้ต้องการเงิน แต่เนื่องจากปาอีทั้งสองอวดเบ่งว่าตนเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยเงินทองมากที่สุดในเมือง ต้องการใช้งานอาฝานถี โดยคิดว่าคนจนอย่างไรเสียก็ต้องการเงิน จึงเป็นแรงผลักดันให้อาฝานถีหลอกลวง โดยการแกล้งสะดุดกลางแม่น้ำ ปาอีที่ข้ามฝั่งไปแล้วเห็นว่าเพื่อนของตนลอยน้ำไปก็เสียใจร้องไห้ อาฝานถีก็แสร้งร้องไห้บ้าง เงื่อนไขความคิดในกรณีนี้ คืออาฝานถีมิได้ร้องไห้เพราะเสียดายเงิน แต่เพียงต้องการที่จะสั่งสอนให้ปาอีรู้ค่าของชีวิตคนมากกว่าค่าของเงิน เมื่อไม่มีชีวิตอยู่แล้วแม้มีเงินมากมายมหาศาลก็ช่วยอะไรมิได้
1.6 อนุภาคเกี่ยวกับการทดสอบความฉลาดหรือความสามารถ การทดสอบความฉลาดหรือความสามารถ เป็นอนุภาคในหมวด H 500 Test of cleverness or ability การทดสอบความฉลาดหรือความสามารถ พบใน เรื่องเล่าอาฝานถี เรื่อง วิธีการยิงธนูของอาฝานถี (阿凡提的箭法)ดังนี้
又 射了第 三 箭 , 把树射中了。“瞧,陛下!” 阿凡堤行了一个,说, “这才是我----纳尔斯丁 ”“阿凡提的箭发。” (Zhao, 1963: 110)
ในครั้งที่สามนี้อาฝานถียิงเข้าเป้าต้นไม้นั้นอย่างจัง “ทอดพระเนตรพะย่ะค่ะฝ่าบาท”อาฝานถีพูดพร้อมกับโค้งคาราวะครั้งหนึ่งและพูดต่ออีกว่า “ นี่สิถึงจะเป็นวิธีการยิงธนูของข้าพระองค์ น่าเอ่อร์ซือติง อาฝานถี”
นิทานเรื่อง วิธีการยิงธนูของอาฝานถี(阿凡提的箭法)นี้เป็นเรื่องราวที่ฮ่องเต้ทดสอบความสามารถของอาฝานถี โดยการให้ยิงธนู อาฝานถียิงในครั้งแรกไม่เข้าเป้าจึงกล่าวว่านี่เป็นการยิงธนูของพวกขุนนาง ยิงครั้งที่สองก็ยังไม่เข้าเป้า จึงกล่าวว่านี่เป็นการยิงธนูของฮ่องเต้ อาฝานถียิงธนูครั้งที่สามเข้าเป้าอย่างจัง ครั้งนี้จึงกล่าวว่านี่เป็นวิธีการยิงธนูของเขาเอง
1.7 อนุภาคเกี่ยวกับบุคคลและสังคม
อนุภาคเกี่ยวกับบุคคลและสังคม พบเป็นจำนวนมากใน เรื่องเล่าอาฝานถีเพราะเรื่องราวของอาฝานถี นั้นโดยส่วนใหญ่มักเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมโดยเฉพาะผู้คนในชนชั้นสูง เช่น กษัตริย์ ขุนนาง รวมถึงผู้มีอำนาจในสังคมหรือท้องถิ่น โดยอนุภาคเกี่ยวกับบุคคลและสังคมที่ผู้วิจัยพบมี 5 อนุภาคดังนี้ (1) อนุภาค P 12.2.1 Tyrannical king พระราชาที่ปกครองอย่างกดขี่ (2) อนุภาค P 110 Royal ministers ขุนนาง (3) อนุภาค P 120 Church dignitaries นักบวชในศาสนา (4) อนุภาค P 310 Friendship เพื่อน (5) อนุภาค P 320 Hospitality การต้อนรับแขก เนื่องจากบทความนี้มีเนื้อที่จำกัด ผู้วิจัยขอยกตัวอย่างที่ปรากฎ อนุภาค P 320 Hospitality การต้อนรับแขก เพียงตัวอย่างเดียวในเรื่อง ใครตะกละกันแน่(谁的嘴馋)ดังนี้
“朋友们,快看哪,阿凡提跟前有多大的一对瓜皮啊!他比咱们谁都吃得多,他的嘴多馋呀!” “哈,哈哈,哈哈。。。”大家都笑起来。 “哈哈,大家都来看看,究竟是谁是谁的嘴馋吧!”阿凡提也笑着说道,“我吃瓜还留下瓜皮,巴依吃瓜,可连瓜皮都吞下去呀!” (Zhao, 1963: 106)
“เพื่อนๆทั้งหลาย ดูสิ ข้างหน้าอาฝานถีเต็มไปด้วยเปลือกแตงทั้งนั้นเลย เขากินมากกว่าพวกเราทุกคน ดูสิว่าเขาตะกละขนาดไหน” “ฮ่าๆๆๆๆ” ทุกคนหัวเราะขึ้นพร้อมกัน “ฮ่าๆทุกคนลองมาดูนี่เร็ว ที่แท้แล้วใครตะกละกันแน่” อาฝานถีหัวเราะแล้วพูดว่า “ข้ากินแตงยังมีเปลือกเหลือ แต่ปาอีกินแตงแม้แต่เปลือกยังกลืนลงไปด้วยเลย”
ปาอีคนหนึ่งอยากกลั่นแกล้งอาฝานถี เขาซื้อแตงฮามี่กวามาเป็นจำนวนมาก เชิญอาฝานถีและคนอื่นมาทาน ในขณะที่ปาอีเชิญทุกคนไม่ต้องเกรงใจเชิญทานตามสบาย เขาก็วางเปลือกแตงที่ตัวเองกินแล้วไว้หน้าอาฝานถี รอจนทุกคนกินแตงหมดแล้ว ปาอีจึงแสร้งว่าอาฝานถี เพียง เพื่อต้องการจะกลั่นแกล้งให้อาฝานถีอับอาย แต่ถูกเล่นงานกลับ กลายเป็นตนที่อับอายแทน
2. กลวิธีการพลิกความหมายใน เรื่องเล่าอาฝานถี
กลวิธีการพลิกความหมาย หมายถึง การพลิกความหมายของเหตุการณ์ต่างๆ หรือการเปลี่ยนเนื้อหาโดยฉับพลันให้ไปในอีกทิศทางหนึ่งซึ่งไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเนื้อหาที่นำเสนอ กล่าวได้ว่าเป็นการพลิกความคิดของตัวบทเองและของผู้อ่านจึงทำให้เกิดความตลกขบขันขึ้น จากการวิจัย พบว่า กลวิธีการพลิกความหมายใน เรื่องเล่า อาฝานถี มี 5 ประการดังนี้
2.1 การเล่นคำ
การเล่นคำที่ปรากฏใน เรื่องเล่าอาฝานถี มี 6 ชนิด แต่ละชนิดมีการเสียดสี แทรกอยู่ในทุกเนื้อหาเหตุการณ์ทั้งสิ้น อาทิ
(1) การเล่นคำที่ลวงให้เกิดการตีความผิด การนำเสนอตัวบทที่ลวงให้เกิดการตีความเป็นความหมายอย่างอื่น และพลิกความคาดหมายภายหลัง(กาญจนา เจริญเกียรติบวร, 2548: 91) เช่น เรื่อง ค่าตัวของฮ่องเต้ (皇帝的身价) ดังนี้
“阿凡提,凭我这摸样,到巴扎上当奴隶卖,能指几个元宝?”“最多是个元宝!”阿凡提说。皇帝大怒,骂道:“胡说!不提别的,光是我身上这条绣花围巾,就值十个元宝了。”“正是啊!,聪明的陛下!”阿凡提指着围巾说,“我说值十个元宝的,就是指的这条东西呀!” (Zhao, 1963: 21) “อาฝานถี ดูจากหน่วยก้านของข้าแล้ว หากนำไปขายเป็นทาสในตลาดจะได้เงินหยวนป่าวสักกี่ก้อน”“มากที่สุดแค่สิบก้อนหยวนป่าว” อาฝานถีพูด ฮ่องเต้โกรธจัด ด่าอาฝานถีว่า “พูดไร้สาระ ไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่น แค่ผ้าขนหนูปักลายบนตัวข้าก็มีราคาสิบหยวนป่าวแล้ว” “ใช่แล้วพะย่ะค่ะ ฝ่าบาทผู้ชาญฉลาด” อาฝานถีชี้ไปที่ผ้าผืนนั้นพูดพลางว่า “ที่ข้าพระองค์พูดว่าราคาสิบหยวนป่าวนี่ก็คือผ้าผืนนี้แหละ พะย่ะค่ะ” การนำเสนอเนื้อหานิทานในช่วงแรกให้ผู้อ่านมุ่งประเด็นไปที่ราคาค่าตัวของฮ่องเต้ ว่าเป็นจำนวนเท่าไร ผู้อ่านจึงคิดไปก่อนแล้วว่า อาฝานถี จะกล่าวถึงค่าตัวของฮ่องเต้ ครั้นผู้อ่านอ่านจบจึงมีการพลิกความหมาย ว่าแท้จริงแล้วเป็นผ้าเช็ดตัวที่มีค่ามีราคา เป็นการเสียดสีว่าตัวฮ่องเต้เองนั้นไม่มีคุณค่าใดๆแม้แต่จะนำไปขายเป็นทาสยังไม่สามารถเทียบกับผ้าผืนหนึ่งได้
(2) การเล่นคำที่มีการตอกย้ำความกำกวม ความกำกวมของภาษามักปรากฏในกลวิธีการนำเสนอในนิทานมุขตลกแนวเสียดสี การเล่นคำที่มีการตอกย้ำความกำกวมเป็น การเล่นคำที่ตัวบทเผยให้เห็นถึงความกำกวมหรือความขัดแย้งทางความหมายในตัวบทตั้งแต่ต้น มิใช่เป็นการเก็บงำข้อมูลนั้นไว้เผยในตอนท้ายเรื่อง(กาญจนา เจริญเกียรติบวร, 2548: 103) เช่น เรื่อง ซุปเนื้อของซุปเนื้อของซุปเนื้อ(肉汤的肉汤的肉汤)ดังนี้
第三天,远方的几个陌生人骑着大马来到阿凡提家,自我介绍说:“阿凡提,不认识我们吧!我们几位都是巴依是你的朋友的朋友的朋友。听说你打来一只野山羊,还挺肥哩!请你不要吝啬,招待招待我们吧!”阿凡提请巴依做到屋里,在洗衣服的大木盆里喝了一盆泥糊糊,端到巴依们面前,又给每人手里递了一把小木勺儿,说道:“高贵的巴依们,喝呀,喝呀!这是肉汤的肉汤的肉汤” (Zhao, 1963: 64) วันที่สามมีพวกแปลกหน้าสามสี่คนขี่ม้าตัวใหญ่เดินทางมาไกล แนะนำตัวว่า“อาฝานถี ท่านคงจะไม่รู้จักพวกข้า พวกเราล้วนแต่เป็นปาอี เป็นเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนท่าน ได้ยินมาว่าท่านล่าสัตว์ได้แพะป่าอวบอ้วนมาตัวหนึ่ง ขอท่านอย่าตระหนี่ไปเลย ต้อนรับพวกเราสักหน่อยเถิด”อาฝานถีเชิญปาอีเข้าไปในบ้าน จากนั้นก็เอาโคลนข้นๆผสมลงในอ่างซักผ้าไม้ใบใหญ่แล้วยกมาวางไว้ตรงหน้าปาอี จากนั้นแจกช้อนให้คนละอัน พร้อมกับพูดขึ้นว่า“ท่านปาอีผู้สูงศักดิ์ทุกท่าน เชิญทาน เชิญทาน นี่คือซุปเนื้อของซุปเนื้อของซุปเนื้อ”
อาฝานถีตอบกลับปาอีผู้มาขอเนื้อรับประทานโดยใช้ความกำกวมที่ผู้ส่งสารส่งมาตอกย้ำความกำกวมกลับไป จากประโยคที่ว่า เพื่อนของเพื่อนของเพื่อน (朋友的朋友的朋友) คนเหล่านี้อ้างความเป็นเพื่อนที่ห่างไกลมากของอาฝานถีเพื่อขอรับประทานซุปเนื้อแพะ อาฝานถีจึงเล่นคำ ซุปเนื้อของซุปเนื้อของซุปเนื้อ(肉汤的肉汤的肉汤) เพื่อตอกย้ำความกำกวมกลับไป
(3) การตีความความหมายของคำใหม่ การเล่นคำแบบตีความความหมายของคำใหม่ เป็นการตีความคำสำคัญบางคำในประโยคที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อสารให้ต่างไปจากการตีความความหมายโดยปกติ เป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่ อาฝานถี ใช้ สะท้อนให้เห็นถึงความคิดนอกกรอบที่ทำให้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น อาทิ เรื่อง ทำผมให้อาฮง(给大阿訇理发)ดังนี้
“阿訇你要眉毛吗?”“当然要!这不用问!”阿訇说。“好,你要我就给你!”阿凡提说着,颼飕几刀,就把阿訇的两道眉毛刮下来,递到他手里。大阿訇气得说不出话,谁叫自己说过“要”呢。 (Zhao, 1963: 63) “อาฮงท่านต้องการคิ้วหรือไม่”“ก็ต้องการอยู่แล้วน่ะสิ ไม่น่าถาม” อาฮงพูด“ได้ หากท่านต้องการ ข้าก็จะให้ท่าน”อาฝานถีพูดพลางสะบัดปลายมีดโกนสองสามครั้ง เสร็จแล้วยื่นใส่มือให้กับอาฮง อาฮงโกรธจนพูดไม่ออก ใครให้ตัวเองพูดว่า “ต้องการ” กันล่ะ“
การเล่นคำว่า “ต้องการ (要) ” อาฝานถีถามอาฮงว่า “ต้องการ” คิ้วหรือไม่ “ต้องการ”ในความหมายของอาฮง คือ ต้องการที่จะเอาไว้เช่นนั้นไม่ต้องการให้โกนทิ้ง แต่อาฝานถีเล่นคำและพลิกความหมายของประโยคของคำว่า “ต้องการ” เป็นอาฮงต้องการที่จะเก็บไว้เองโดยการโกนทิ้ง อาฝานถีจึงโกนคิ้วของอาฮงทิ้งและยื่นให้อาฮง อาฝานถีเล่นคำว่า “ต้องการ”โดยตีความหมายต่างไปจากความหมายที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อสาร
(4) การเล่นคำประชด
การเล่นคำประชด มี 2 ชนิดคือ การประชดแบบตรงไปตรงมา และการประชดแบบความหมายตรงข้าม การประชดที่เด่นชัดที่สุดใน เรื่องเล่าอาฝานถี คือ การประชดแบบตรงไปตรงมา บุคคลที่ อาฝานถี เล่นคำประชดมากที่สุดคือ ชนชั้นปกครองและขุนนาง เช่น เรื่อง ขุนนางด้านนโยบาย(谋士)ดังนี้
"陛下,明智的措施是有,就看您实行不实行了。阿凡提认认真真地说,把您盘剥来的粮食,搜刮来的金钱,统统归还给人民,人民不就会丰衣足食了吗?" (Zhao, 1963: 11) “ฝ่าบาท นโยบายที่ชาญฉลาดนั้นมีอย่างแน่นอนพะยะค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระองค์แล้วว่าจะทรงทำจริงหรือไม่ อาฝานถีพูดอย่างจริงจัง หากพระองค์จะทรงคืนพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ขูดรีดประชาชน เงินทองที่ขูดรีดมา คืนให้แก่ประชาชน เช่นนี้จะไม่ทำให้ราษฎรอยู่อย่างมั่งมีศรีสุขหรือพะยะค่ะ”
ฮ่องเต้ต้องการให้อาฝานถีอยู่ข้างกายจึงทรงแต่งตั้งอาฝานถีให้ดำรงตำแหน่ง ขุนนางด้านนโยบาย ฮ่องเต้ถามอาฝานถีเกี่ยวกับนโยบายที่ชาญฉลาดนั้นควรเป็นเช่นไร อาฝานถีต้องการเสียดสีการปกครองอันไม่เป็นธรรมของฮ่องเต้ จึงใช้การประชดแบบตรงไปตรงมาเพื่อแสดงออกถึงความอัดอั้นภายในใจซึ่งในชีวิตจริงไม่สามารถทำได้
(5) การเล่นคำอนุนามนัย การเล่นคำอนุนามนัยเป็นการเปรียบเทียบโดย การใช้คุณสมบัติเด่นๆส่วนหนึ่งเพื่อแทนความหมายทั้งหมด(ตรีศิลป์ บุญขจร, 2526: 736) อาฝานถี เล่นคำอนุนามนัยโดยการปฏิบัติตามคำสั่งแบบเถรตรง และเป็นการเสียดสีคู่ตรงข้ามไปด้วย อาทิ เรื่อง เชิญพบบั้นท้าย(请见屁股)ดังนี้
阿凡提来到皇宫门口,便扭转身子,又把屁股朝着皇帝,倒着走上殿去。皇帝看见,骂道:“你这是干什么?阿凡提,还不转过身来呢?”阿凡提说,“上次您说过,再也不要见我的面了。那有什么法子?今天,只好请您见见我的屁股吧!” (Zhao, 1963: 65) เมื่ออาฝานถีมาถึงหน้าประตูวัง เขาหันหลังกลับยื่นบั้นท้ายมุ่งไปทางฮ่องเต้ และหันหลังเดินเข้าไปในพระตำหนัก ฮ่องเต้เห็นเช่นนั้นจึงต่อว่าอาฝานถีว่า “อาฝานถีนี่เจ้าทำอะไรยังไม่หันหน้ามาอีก” อาฝานถีกล่าวว่า “เมื่อครั้งที่แล้วฝ่าบาทตรัสกับข้าพระองค์ว่า ต่อไปนี้ไม่อยากเห็นหน้าข้าพระองค์อีก เช่นนั้นแล้วจะมีวิธีอันใด วันนี้ได้เพียงแต่เชิญพระองค์ทอดเนตรบั้นท้ายของข้าพระองค์เถิด”
การที่ฮ่องเต้ตรัสว่าไม่อยากเห็นหน้า อาฝานถีอีก นั่นหมายถึงไม่อยากพบอาฝานถีอีก มิได้หมายความถึงเฉพาะอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อฮ่องเต้รับสั่งให้อาฝานถีเข้าเฝ้าอีกครั้ง อาฝานถีจึงหันอวัยวะส่วนบั้นท้ายเข้าเฝ้าแทน
(6) การเล่นคำสัญลักษณ์ การเล่นคำสัญลักษณ์ เป็นการใช้สัญลักษณ์ที่มีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อพลิกความหมายของประโยคหรือเหตุการณ์นั้นๆ เช่น เรื่อง เจ้าอ่านเองก็แล้วกัน(你自己念吧)ดังนี้
“可敬的学者,求您给我念念这封信吧!”“我一个字都不认识呀!”阿凡提叫道。“您别客气了,您头上缠着那么大的散蓝,怎么会没有学问呢?”阿凡提听了,顺手取下散蓝,戴在那个人头上,说道:“好,好!要是散蓝有学问,我给你戴上它,你自己念吧!” (Zhao, 1963: 99) “ท่านนักปราชญ์ที่เคารพ ท่านกรุณาช่วยอ่านจดหมายนี้ให้ข้าฟังด้วยเถิด” “ ตัวหนังสือสักตัวข้าก็ไม่รู้จักหรอกท่าน” อาฝานถีพูด “ท่านอย่าถ่อมตนเลย ท่านสวมซ่านหลาน ใหญ่โตถึงเพียงนี้ท่านจะ ไม่มีความรู้ได้อย่างไร” อาฝานถีฟังแล้วจึงหยิบซ่านหลานไปสวมให้กับชายคนนั้นพร้อมกับพูดว่า “ดี ดี หากซ่านหลานมีความรู้ดี ข้าสวมมันให้เจ้า แล้วเจ้าอ่านเองก็แล้วกัน” ชายในเรื่องเห็นว่าอาฝานถีสวมใส่ซ่านหลาน เขายึดมั่นว่าอาฝานถีต้องเป็นนักปราชญ์ผู้ที่มีความรู้อย่างแน่นอน ทว่าความหมายโดยแท้จริงมิได้อยู่ที่ซ่านหลาน แต่อยู่ที่ตัวบุคคลเป็นผู้มีความรู้ อาฝานถีเสียดสีการยึดติดสัญลักษณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งตายตัว โดยให้ข้อคิดว่าการเข้าใจถึงความหมายของสัญลักษณ์มิได้อยู่ที่การมองเพียงภายนอกเท่านั้น หากอยู่ที่การพิจารณาถึงคุณค่าอันแท้จริงของความหมายนั้นๆเป็นสำคัญ
2.2 กลวิธีการให้เหตุผล การให้เหตุผล เป็นกลวิธีหนึ่งที่แสดงถึงความเฉลียวฉลาดและไหวพริบทางปัญญาของ อาฝานถี กลวิธีการให้เหตุผลมีดังนี้
(1) การให้เหตุผลที่เป็นจริง การพลิกความหมายของประโยคจากการให้เหตุผลที่เป็นจริง เป็นการแทรกความคาดไม่ถึงแฝงไว้ในประโยคที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ทำให้ผู้อ่านต้องย้อนกลับไปคิดตาม และเห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าว อาฝานถี มักให้เหตุผลที่เป็นจริงที่ผู้คนคิดไม่ถึงเสมอ แต่เมื่อฟังเหตุผลของอาฝานถีแล้ว ส่วนใหญ่ไม่สามารถโต้แย้งได้ เช่น เรื่อง เงินทองกับความซื่อสัตย์(金钱和正义)ดังนี้
“阿凡提,要是你面前一边是金钱,一边是正义,你选择哪一样呢?”“我愿意选择金钱。”阿凡提回答。“你怎么了,阿凡提?”皇帝说,“要是我呀,一定要正义,绝不是金钱。金钱有什么稀奇?正义可是不容易找到的啊!”“谁缺什么就想要什么,我的陛下。”阿凡提说,“您想要的东西就是您最缺少的呀!” (Zhao, 1963: 26) “อาฝานถีถ้าหากว่าเบื้องหน้าเจ้าด้านหนึ่งเป็นเงินทอง อีกด้านหนึ่งเป็นความยุติธรรม เจ้าจะเลือกอย่างไหน”“ข้าพระองค์เลือกเงินทองพระเจ้าข้า” อาฝานถีทูลตอบ“อะไรกัน อาฝานถี” ฮ่องเต้พูด “หากเป็นข้านะ ข้าจะต้องเลือกความยุติธรรมอย่างไม่เลือกเงินทองอย่างแน่นอน เงินทองจะมีคุณค่าน่าเสียดายอะไร เท่ากับความยุติธรรมที่หาได้ยากกันเล่า”“ใครขาดสิ่งใดย่อมอยากได้สิ่งนั้นพะย่ะค่ะฝ่าบาท” อาฝานถีพูด “สิ่งที่พระองค์อยากได้จึงเป็นสิ่งที่พระองค์ขาดพะย่ะค่ะ”
อาฝานถีให้เหตุผลที่เป็นจริงว่า “ใครขาดสิ่งใดย่อมอยากได้สิ่งนั้น” (谁缺什么就想要什么) อาฝานถีใช้หัวข้อที่ฮ่องเต้ถามเป็นเครื่องมือในการหยิบยื่นความจริงที่พลิกความคาดหมายให้ฮ่องเต้ โดยการกล่าวถึง เงินทอง(金钱)และ ความซื่อสัตย์(正义)อาฝานถีให้เหตุผลที่เป็นจริงที่สามารถใช้ได้จริง กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้อ่านได้ย้อนคิดตามไปด้วย
(2) การให้เหตุผลผิดที่
การให้เหตุผลผิดที่ คือ การนำเอาเหตุผลที่เป็นจริงไปใช้ในเหตุการณ์อื่นที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของเรื่อง และเหตุผลนั้นเป็นเหตุผลที่ยอมรับโดยทั่วไป เช่น เรื่อง กลืนแมวเป็นๆทั้งตัว(吞只活猫)ดังนี้
“阿凡提,昨天晚上我正睡得香甜,一只老鼠从我的嘴里钻到肚子里去了。这怎么治疗啊?” “看你笨的,治疗者容易极啦!”阿凡提说,“你马上抓一只猫儿把她活活吞下去,猫儿不就会把老鼠吃了吗!除此,在没有其他办法啦。”(Zhao, 1963: 118) “อาฝานถี เมื่อคืนวานนี้ข้ากำลังนอนหลับอยู่ดีๆ หนูตัวหนึ่งวิ่งเข้าไปในปากลงไปในท้องของข้าจะรักษาอย่างไรดีท่าน” “เจ้านี่โง่จริงเชียว วิธีรักษาง่ายนิดเดียว” อาฝานถีพูด “เจ้าก็รีบกลืนแมวเป็นๆทั้งตัวลงไป แมวก็จะได้จับหนูกินอย่างไรเล่า นอกจากนี้ก็ไม่มีวิธีอื่นอีกแล้วล่ะ”
อาฝานถีแนะนำวิธีการรักษาชายคนที่กลืนหนูลงท้อง โดยการให้กลืนแมวเป็นๆทั้งตัวลงไป แมวจะจับหนูกินและชายผู้นั้นจะสามารถหายจากโรคได้ ในเหตุผลที่เป็นจริงนั้นธรรมชาติของแมวคือการไล่จับหนู และโดยทั่วไปการรักษาโรคต่างๆต้องใช้ยาในการรักษา อาฝานถีนำหลักความเป็นจริงทั่วไปของเหตุผลอื่นมาใช้แทน ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลที่ผิดสถานการณ์
2.3 กลวิธีการนำเสนอให้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้
การนำเสนอให้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เป็นการใช้ไหวพริบของอาฝานถี เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่ไม่สามารถเป็นไปได้โดยการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระที่มีอยู่พลิกแพลงเป็นเรื่องราวที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง อาฝานถี ใช้กลวิธีนี้เป็นเครื่องมือในการเอาชนะการประทะคารมกับคู่ตรงข้ามเช่นเรื่อง ยากไม่เกินเขา(再也难不倒他)
จากเนื้อเรื่องสามารถสรุปคำถาม คำตอบ และสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ ได้ดังต่อไปนี้
ฮ่องเต้ทรงถามคำถามที่ยากจนกระทั่งไม่สามารถตอบได้กับอาฝานถี อาฝานถีจึงตอบคำถามฮ่องเต้ด้วยเรื่องราวที่ไม่สามารถเป็นไปได้หรือไม่อาจทำได้จริง ทำให้ฮ่องเต้ไม่ทรงเชื่อและโกรธมาก เหตุเพราะทรงคิดว่าไม่มีใครสามารถตอบคำถามของตนได้ ท้ายสุดทรงต้องจนมุมอาฝานถี
2.4 กลวิธีการใช้กลอุบายโดยการวางแผน
กลวิธีการใช้กลอุบายโดยการวางแผน เป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้นิทานมุขตลกประเภทนี้มีความน่าสนใจ เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขำขันอยู่ที่กลอุบายที่ใช้ในการดำเนินเรื่องและตัวละครที่หลงกลอุบายนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดและสติปัญญาที่ไม่มีผู้ใดเหมือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลวิธีเด่นอีกกลวิธีหนึ่งของ เรื่องเล่าอาฝานถี เช่น เรื่อง ม้าแก่ตัวหนึ่ง(一匹老马)ดังนี้
“这我得谢谢您了。您给我骑的是一匹飞马呀!那会儿你们一跑,雨就紧跟着你们屁股后面追去了。这匹马却飞起来,把我带到了一处最美丽的花园。我享了好一阵的福,怕您着急,才回来了” (Zhao, 1963: 106) “เรื่องนี้ต้องขอบพระทัยฝ่าบาทที่ให้ม้าตัวนั้นกับข้าพระองค์ ครานั้นฝ่าบาทควบม้าไปทันใด ฝนก็ตกไล่ตามหลังฝ่าบาทไปติดๆ แต่ม้าตัวนี้กลับบินพาข้าพระองค์ไปยังสวนดอกไม้ที่สวยงามแห่งหนึ่ง ข้าพระองค์ชื่นชมความงามอยู่พักหนึ่ง เกรงว่าฝ่าบาทจะทรงรอนาน ข้าพระองค์จึงรีบกลับมาพะย่ะค่ะ”
ในครั้งที่อาฝานถีไปล่าสัตว์กับฮ่องเต้และพวกขุนนางทั้งหลาย อาฝานถีถูกฮ่องเต้กลั่นแกล้งให้ใช้ม้าแก่ไร้เรี่ยวแรงตัวหนึ่ง ในขณะที่คนอื่นๆได้ใช้ม้าดีแข็งแรง อาฝานถีหลอกฮ่องเต้ว่าม้าของตนนั้นเป็นม้าบินได้ และพาเขาไปยังสวนดอกไม้สวยงามแห่งหนึ่ง ฮ่องเต้หลงเชื่อจึงคิดอยากจะแย่งม้าแก่ของอาฝานถี ด้วยความโลภอยากได้ของผู้อื่นและความไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีของฮ่องเต้ จึงทำให้การใช้กลอุบายโดยการวางแผนของอาฝานถีเป็นผลสำเร็จ
2.5 กลวิธีการสอดแทรกคติสอนใจ
กลวิธีสอดแทรกคติสอนใจ เป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่มีความพิเศษในนิทานมุขตลกแนวเสียดสี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การเสียดสีเป็นประเด็นหลักในการทำให้เกิดความขำขัน ความกลมกลืนของคำสอนที่ต้องการสอดแทรกให้ผู้อ่านได้ร่วมวิเคราะห์ เป็นการตอกย้ำบริบทความเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้ของอาฝานถี เช่น เรื่อง สิ่งใดควรจำสิ่งใดควรลืม (记住什么?忘掉什么?)ดังนี้
“请您告诉我,可尊敬的阿凡提!什么事情必须牢牢地记住在心上;什么事情应该把它永远忘掉?”阿凡提想了想,回答说:“要是别人对你做了一件好事,你必须把他牢牢记在心里;要是你自己对别人做了一件好事,你就应该把它永远忘掉!” (Zhao, 1963: 74) ท่านช่วยบอกข้าทีเถิดท่านอาฝานถีที่เคารพ เรื่องอันใดที่เราควรจดจำให้ขึ้นใจและเรื่องอันใดที่ควรลืมไปตลอดกาล อาฝานถีคิดสักครู่แล้วตอบว่า หากว่ามีคนทำดีกับท่านท่านจงจดจำไว้ในใจตลอดกาล หากว่าท่านทำดีกับผู้อื่นท่านจงลืมมันไปตลอดกาลเช่นกัน
อาฝานถีต้องการสอดแทรกคติสอนใจในเรื่องของการปฏิบัติตนต่อผู้อื่น ข้อคิดที่อาฝานถีสอดแทรกไว้นั้น คือ เมื่อมีผู้กระทำความดีต่อเรา เราควรจดจำไว้และหาทางตอบแทน แต่หากเราทำดีต่อผู้อื่นจงลืมเสียไม่ทวงบุญคุณ เป็นการเตือนใจให้ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
3. อาฝานถี: วีรบุรุษชายขอบในสังคมกระแสหลัก คนชายขอบ( maginal people) หมายถึงบุคคลหรือกลุ่มคนที่สังคมไม่สนใจเหลียวแล เช่น คนยากจน ชนส่วนน้อย คนพิการ เป็นต้น ความเป็นชายขอบนี้คือความเป็นอื่น ( otherness ) ที่ถูกให้ความหมายโดยสังคมกระแสหลัก ( mainstream society) ที่มองว่าบุคคลในกลุ่มทางสังคมเหล่านี้มีความด้วยกว่าตนเอง คนชายขอบจึงมักมีชีวิตอยู่กับการถูกดูแคลน และถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้ต้องดิ้นรน ต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ นิทานมุขตลกแนวเสียดสี เรื่องเล่าอาฝานถี จึงเข้ามามีบทบาทผ่อนคลายความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันโดยนำเสนอ อาฝานถีในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้
3.1 อาฝานถี กับการเมืองการปกครอง
เชื่อกันว่าอาฝานถีเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในยุคศตวรรษที่ 13 ช่วงปี ค.ศ.1208-1285(Wang, Lei, 1986: 119) หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของอาฝานถีนั้นเป็นเรื่องราวแห่งความขัดแย้งกับระบบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ชนชั้นปกครอง ประชาชนไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตนเอง ทำให้ชาวจีนที่เป็นชนชั้นชาวนาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อดยาก ขาดความรู้ อาฝานถี เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ดังก้องในสังคมที่ต่อต้านความล้มเหลวของการปกครองประเทศ และแสดงให้เห็นว่าความสุขบนความทุกข์ของชาวบ้านที่เจ้าขุนมูลนายทั้งหลายได้กระทำนั้นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมที่รุนแรง ซึ่งในบางครั้งไม่สามารถแสดงออกแบบตรงไปตรงมา ผู้คนส่วนใหญ่จึงใช้วรรณคดีนิทานมุขตลกแนวเสียดสีเป็นตัวกลางสื่อถึงความ “ไม่ยอม” ที่ต้องการแสดงออก การกระทำอันต่อต้านความไม่เป็นธรรมของระบบการเมืองการปกครอง ส่งผลทำให้ อาฝานถี ได้รับการยอมรับด้านความเฉลียวฉลาดและความกล้าหาญ เปรียบเสมือน “วีรบุรุษชายขอบ” ที่อยู่ในจิตใจของชาวบ้านผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทุกคน
3.2 อาฝานถี กับคู่ตรงข้าม
อาฝานถีมักตกอยู่ในสถานการณ์ที่คู่ตรงข้ามสร้างขึ้น “กับดักคู่ตรงข้าม”นี้เองทำให้เกิดเป็น“กับดักวาทะ” อันปราดเปรื่องของอาฝานถี ในหลายๆเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้เสียเปรียบ แต่อาฝานถีสามารถพลิกสถานการณ์โดยใช้ปัญญาต่อกรกับคู่ตรงข้ามได้ทุกครั้ง อาฝานถีให้น้ำหนักการประชดเสียดสีอย่างรุนแรงกับคู่ตรงข้ามที่เป็นกษัตริย์และขุนนาง คู่ตรงข้ามที่เป็นนักบวชและพ่อค้ายังคงไม่ปรากฏเด่นชัดนัก คู่ตรงข้ามในประเภทของเพื่อน อาฝานถีสอดแทรกความเจ็บปวดจากการกระทำของเพื่อนและให้แง่คิดของการคบเพื่อนไว้ในเนื้อเรื่องด้วย คู่ตรงข้ามในประเภทของบุคคลทั่วไปเป็นคู่ตรงข้ามที่อาฝานถีใช้น้ำหนักการเสียดสีไม่รุนแรง เป็นไปในลักษณะยั่วล้อและไม่ได้เสียดสีจริงจังนัก
3.3 อาฝานถี กับจุดยืนของความยุติธรรม อาฝานถี เรียกร้องสังคมที่ปัจเจกชนทุกคนมีเหตุผลและเห็นคุณค่าของผู้อื่น สังคมที่มีพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม มีอิสระทางความคิดและการกระทำที่ตนพึงกระทำได้ การเสียดสีในแต่ละครั้งของอาฝานถีนั้นแสดงออกชัดเจนว่าชนชั้นปกครองเบียดบังความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด กดขี่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสด้อยความรู้ อาฝานถี เป็นสัญลักษณ์ของตัวละครเจ้าปัญญา(机智人物)ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบตราชั่งแห่งความยุติธรรม วรรณคดีนิทานมุขตลกแนวเสียดสีเปรียบเสมือนเป็นยาบรรเทาความ คับข้องใจของผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม และนำความเบิกบานใจมาให้กับชีวิตที่ยุ่งยาก ให้มีช่วงเวลาที่ได้แง่คิดและความสุขจากเสียงหัวเราะไปพร้อมๆกัน
4. บทสรุป
การศึกษานิทานมุขตลกแนวเสียดสี เรื่องเล่าอาฝานถี นี้ผู้วิจัยพบว่าไม่เพียงผู้อ่านแต่จะได้รับความเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาที่มีความสนุกสนานแล้ว นิทานมุขตลกแนวเสียดสี เรื่องเล่าอาฝานถี ยังเป็นดั่งกระจกสะท้อนสังคมที่ทำให้สามารถศึกษาได้ถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในบริบทต่างๆ อีกทั้ง เรื่องเล่าอาฝานถี นำเสนอความขัดแย้งทางสังคมอันมีพื้นฐานจากสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การทำให้ผู้มีอำนาจในสังคมกลายเป็น”ตัวตลก” เป็น “เครื่องมือต่อต้าน” เพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถทำได้ของผู้ด้อยอำนาจกว่า นอกจากนี้จากการปรากฏอนุภาคสำคัญจำนวนไม่น้อยในดัชนีอนุภาคนิทาน ของ สติธ ทอมป์สัน(Stith Thompson) จึงกล่าวได้ว่า นิทานมุขตลกแนวเสียดสีเรื่อง เรื่องเล่าอาฝานถี นี้เป็นผลผลิตทางปัญญาที่มีความเป็นสากล
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณทุนอุดหนุนวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา (CU.GRADUATE SCHOOL THESIS GRANT) จากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ดร. พัชนี ตั้งยืนยง อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย กาญจนา เจริญเกียรติบวร. การวิเคราะห์วาทกรรมเรื่องตลกภาษาไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต,ภาควิชา ภาษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549. ตรีศิลป์ บุญขจร. การใช้ภาษาไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2526. ประคอง นิมมานเหมินท์. นิทานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. ศิริพร ศรีวรกานต์. การศึกษาเปรียบเทียบทิลล์ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยในฐานะนิทานมุขตลก.วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542.
ภาษาอังกฤษ Thompson,S. Motif-Index of Folk-Literrature. Bloomington: Indiana University Press, 1955. Thompson,S. The Folktale. California:University of California Press, 1977.
ภาษาจีน Wáng Bǎo王堡,Léi Màokuí雷茂奎. Xīnjiāng Mínzú Mínjiān Wénxué Yánjiū新疆民族民间 文学研究(วรรณคดีนิทานพื้นบ้านชนกลุ่มน้อยมณฑลซินเจียง).Xīnjiāng新疆:Xīnjiāng Rénmín Chūbǎnshè新疆人民出版社, 1979. Zhào Shìjié赵世杰. Āfántí de Gùshì阿凡提的故事(เรื่องเล่าอาฝานถี). Běijīng 北京: Běijīng Zhōngguó Shàonián Chūbǎnshè北京中国少年出版社, 1963.