แม่พระสะบักสะบอม

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 10:09, 12 มิถุนายน 2557 โดย Wchagkar (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

สังคายนาการล้างบาปใน Central Station และ Breaking the Waves (Exploring Redemption in Central Station and Breaking the Waves)

I ภาพรวม (OVERVIEW OF THE ESSAY)

แม้เรื่องราวจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ Central Station งานค.ศ.1998 ของผู้กำกับวอลเทอร์ ซัลเลส(Walter Salles) และ Breaking the Waves ของผู้กำกับลาร์ส ฟอน ทริเอร์(Lars Von Trier) กลับมีสายแร่แก่นความคิดเรื่องการล้างบาป(redemption)หนาแน่นไม่แพ้กัน โดยมาในรูปของการตีความการล้างบาปด้วยการตั้งข้อสงสัยต่อเนื้อแท้ของการล้างบาปและบทบาทของผู้ไถ่บาป ที่สำคัญคือลำหักลำโค่นการลูบคมและยั่วแย้งแนวคิดเทววิทยาของคริสตศาสนาจักรอันส่อเจตนาท้าท้ายหลักการพื้นฐานว่าด้วยการล้างบาปในหนังทั้งสองเรื่อง

[2] Central Station เป็นหนังแนวคู่หูตะลอนทางหลวงโดยมีถิ่นอีสานของบราซิลเป็นท้องเรื่อง ส่วน Breaking the waves เป็นเรื่องราวในเมืองเล็ก ๆ หมักฝนทั้งปีทั้งชาติแห่งหนึ่งแถบชายฝั่งสก็อตแลนด์ แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นคนละซีกโลก แต่หนังทั้งสองเรื่องต่างมุ่งลูบคมแนวคิดดั้งเดิมว่าด้วยการไถ่บาป พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการทบทวน เนื้อหาของหนังทั้งสองเรื่องใช้เรือนร่างน่วมเน่าของของสตรีเป็นสัญลักษณ์/จุดร่วมสำคัญ และตอกย้ำคติอิตถีนิยมเทววิทยา(feminist theology)ในเรื่องการไถ่/ล้างบาป การไถ่/ล้างบาปในชาติภพปัจจุบันมากกว่าตั้งจิตถึงการพลีชีพขึ้นสวรรค์ แม้ในเส้นทางท้าทายและสังคายนาคติดังกล่าวในหนังสองเรื่องนี้จะมีทั้งส่วนคล้ายคลึงและแตกต่าง


II ปมเรื่อง (PLOT FUNDAMENTALS)

Central Station

[3] หนังขมวดและคลายปมตรงไปตรงมา ผ่านศูนย์กลางเรื่อง คือ ดอรา(ครูเกษียณรับบทโดยนักแสดงละครเวทีระดับหัวกะทิของบราซิล เฟอร์นานดา มอนเตเนโกร - - Fernanda Montenegro) เธอหาลำไพ่ด้วยรับจ้างเขียนจดหมายแก่เหล่าคนแรมทางไม่รู้หนังสือผู้ผ่านมาถึงสถานีรถไฟชุมทางริโอ เดอ จาไนโร อานา และลูกชาย คือ โฮเซ(Josue - รับบทโดยวินิซีอัส ดิ โอลิเวียรา(Vinicious de Oliviera) ทำทีมาว่าจ้างดอราให้เขียนจดหมายถึงเฮซุสพ่อของเด็กชาย แต่จู่ ๆ อานาก็เผ่นขึ้นรถประจำทางหายเข้ากลีบเมฆทิ้งโฮเซไว้กับดอราดื้อ ๆ ดอราขายโฮเซให้กับบ้านเด็กกำพร้าในราคา 1,000 รีล ไอรีนเพื่อนของดอราทราบเรื่องจึงรีบมาบอกดอราว่าบ้านเด็กกำพร้าเป็นกิจการบังหน้าของขบวนการขายอวัยวะ ดอราตามไปช่วยโฮเซออกมาได้ ส่วนที่เหลือหนังเล่าถึงการผจญภัยในแดนอีสานของบราซิลระหว่างออกเสาะหาบิดาบังเกิดเกล้าของโฮเซ พร้อมกับภาพพัฒนาการความสัมพันธ์ของคนทั้งสองในลักษณะคอยเยียวยาและแลกเปลี่ยนความรู้สึกซึ่งกันและกัน


Central Station สร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการหนังทั่วโลกในค.ศ.1998 ไล่ตั้งแต่คว้ารางวัลหมีทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้แสดงบทนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสองสาขานี้ในการประกวดของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์(หรือออสการ์)อีกด้วย ในอีกด้านหนึ่งมีการนำงานของซัลเลสไปอ้างถึงในมุมมองจิตวิญญาณ(soulful) เนื้อนาบุญของการจาริก(reward of odessey) การเดินทางของความหวังและค้นหาตนเอง รวมไปถึงการปวารณาตนเพื่อจรรโลงศาสนา ซัลเลสในฐานะต้นคิดและผู้กำกับต้องการพิสูจน์แก่นความคิด 2 แก่น คือ การสื่อถึงกันด้วยเจตนาบริสุทธิ์ระหว่างมนุษย์ และการค้นหาตัวตน ซัลเลสเดาทีเล่นทีจริงถึงสาเหตุที่หนังสร้างความสะเทือนใจไปทั่วอาจเพราะแก่ผู้คนว่าอาจเป็นเพราะหนังเชิดชูคุณธรรมน้ำมิตรและการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ท่ามกลางสภาพสังคมมือใครยาวสาวได้สาวเอา เขาเลือกใช้ขนบการเล่าแบบหนังกึ่งผจญภัยกึ่งพลัดที่นาคาที่อยู่เพื่อเสือกไสตัวละครออกไปเผชิญวิบากกรรมในโลกที่ไม่อยู่ในอาณัติ

Breaking the Waves

[5] บทพิสูจน์ศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนาของหญิงชาวสก็อตต์ชื่อเบสใน Breaking the Waves เริ่มต้นหลังจากเธอมีใจให้กับยานนักขุดบ่อน้ำมันจากนอกชายฝั่ง หนังแบ่งออกเป็น 7 ส่วนไม่รวมอารัมภบทและปัจฉิมบท ผู้กำกับฟอน ทริเอร์ปฏิบัติการเล่าหนังในแนวทางบำเพ็ญทุกรกิริยาโดยการใช้กล้องมือถือขนาด 8 มม.เพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ "ตามเนื้อผ้า"มาถ่ายทอดในหนังตามหลักเกณฑ์สำนักด็อกเม หลังดื่มด่ำกับน้ำผึ่งพระจันทร์ได้ยังไม่ทันหนำใจข้าวใหม่ปลามัน ยานก็ต้องกลับออกทะเล ยานกลับเข้าฝั่งอีกครั้งในสภาพเป็นอัมพาตและป่วยหนักหลังประสบอุบัติเหตุรุนแรง ท้ายที่สุดยานก็หายเป็นปกติโดยเบสยอมเอาชีวิตเข้าแลก จะเพราะด้วยความรัก พิษไข้ หรือฤทธิ์ยาก็ตาม ยานเคี่ยวเข็ญให้เบสไปหาชายอื่นและบรรยายความร่านของเธอให้เขาฟังเพื่อต่อลมหายใจและบรรเทาอาการป่วยแก่เขา ส่วนที่เหลือของหนังอัดแน่นด้วยภาพเบสออกปฏิบัติการสนองตัณหาของยาน เบสถือว่าพฤติพิธีกรรมดังกล่าวเป็นการพิสูจน์ให้พระเจ้ารับรู้ถึงความรักที่เธอมีต่อยานและจะทรงปัดเป่าโรคภัยแก่ยาน เบสเชื่อในอานิสงส์ของการเอาตัวเข้าแลกและเสนอเรือนกายเป็นเครื่องบนบานเพื่อชุบฟื้นสามีจากอาการอัมพาต แต่กว่ายานจะหายเป็นปกติเบสก็ไม่เหลือแม้ลมหายใจ


[6] ผู้กำกับฟอนทริเอร์ใช้เวลาถึง 5 ปี ถ่ายทำผลงานที่เขาจำกัดความว่าเป็น "หนังรักพื้น ๆ" เรื่องนี้ ฟอนทริเอร์หยิบยืมเค้าโครงของ Golden Heart นิทานสำหรับเด็กเล่มโปรดของเขามาขยายผลเป็นบทหนัง ในฉบับนิทานนั้น ตัวละครเอกจะถูกปอกลอกจนสิ้นเนื้อประดาตัว เหลือก็แต่เพียงจิตใจอันเด็ดเดี่ยวและเปี่ยมหวัง ฟอนทริเอร์นิยาม Breaking the Waves ว่าเป็น "หนังว่าด้วยความดีงาม"(a film about goodness) ร่องรอยการอ้างอิงโลกทัศน์คริสเตียนตกทอดมาถึงคนดูและนักวิจารณ์ครบครัน นิตยสารทาม(Time Magazine)ขนานนามหนังว่าเป็น "การบำเพ็ญกาเมทุกรกิริยา "(Calvary of Carnality) มีการเปรียบเทียบการเผชิญทุกข์เวทนาของเบสกับพระเยซูโดยเจมส์ เบออาดิเนลลี(James Berardinelli) และเจมส์ วอลล์(James Wall)แห่ง Christian Century มองว่าเรื่องราวในหนังคือการบำเพ็ญทานบารมีด้วยศรัทธาอันแรงกล้าและภาวะไร้เดียงสาของนักบุญร่วมสมัย นักอิตถีนิยมพากันออกมาประณามพฤติกรรมย่ำยี กดขี่เพศหญิงสารพัดขนานของเพศชายในหนังว่าเป็นการแสดงความชิงชังต่อสตรีเพศจนออกนอกหน้า นักวิจารณ์จากสายโลกียวิสัยส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของสัมพันธภาพระหว่างเบสกับพระเจ้าและสถานะของเธอในเทววิทยาภพ


III สังคายนาการไถ่/ล้างบาป: จับความหนังตามหลักเทววิทยา(Rethinking Redemption: A Theological Reading of the Films) ตั้งแง่กับเนื้อแท้ของการไถ่/ล้างบาป (Question Regarding the Nature of Redemption) การไถ่/ล้างบาปคืออะไร

[7] อุปลักษณ์สำคัญที่ประกอบเกี่ยวอยู่ในการล้างบาปตามหลักคริสต์ ตามที่แบรดลีย์ แฮนสัน(Bradley Hanson)สรุปความไว้มี 4 อย่าง ได้แก่ การเสียสละ การพิชิตมาร การผดุงความยุติธรรม และเผื่อแผ่ความรัก จินตภาพว่าด้วยการบำเพ็ญทานบารมี(Lev. 17:11)ด้วยวิธีตั้งจิตอธิษฐานในฐานะทางเลือกนอกเหนือจากการเอาเลือดเนื้อเข้าแลก เริ่มมีบทบาทโดดเด่นในการตีความการเสียสละของเหล่านักเทววิทยาในคริสตศตวรรษ 20 ตัวเยซูเองนั้นเป็นเขตปลอดสารัตถะ(เขาไม่มีคุณลักษณะเข้าข่ายพระเจ้าให้ยึดเหนี่ยว ดูไปเหมือนจุติขึ้นมาเฉย ๆ - - he did not consider equality with God something to be grasped, but made himself nothing - - Ph.2: 6-7) การอธิบายตัวตนและมรณกรรมของเยซูเจึงต้องอนุมานตามหลักความยุติธรรมของพระเจ้า(sense of justice)ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก คำอธิบายเชิงเทววิทยาจากสำนักบำเพ็ญตนชดเชยความผิด(substitutionary atonement theory)ของพอลลีน(Pauline) จนถึงหลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา(compensatory satisfaction)ของแอนเซล์ม(Anselm) ไปจนถึงคำวินิจฉัยตามหลักสางบัญชีแค้น(substitutionary punishment) อันยิ่งยงของคัลวิน(Calvin)ล้วนยังเข้ากับโลกทัศน์ของชาวบ้านได้ไม่สนิททั้งในแง่ความรักต่อพระเจ้าและระบบตุลาการ แนวปฏิบัติของการชำระความยังใช้การไม่ได้ในหลายกรณี ในชั้นหลังนักเทววิทยาบางส่วนตีความว่าเจตนารมณ์ของเยซูอยู่ที่การหาทางปลดปล่อยผู้คนและปวารณาตนเพื่อชำระล้างจิตอันเป็นสาระที่พบได้ทั้งใน Central Station และ Breaking the Waves

[8] หนังทั้งสองเรื่องสร้างมิติใหม่ในการทำความเข้าใจกับการไถ่/ล้างบาปในลักษณะใด ทัศนคติว่าด้วยการไถ่/ล้างบาปใน Central Station นั้นสวนทางกับโลกทัศน์เดิมตามขนบคริสต์โดยสิ้นเชิง ไม่มีการชี้ชวนให้นึกถึงการบำเพ็ญเพียร ตรงกันข้าม มุมมองอันสุดแสนปราดเปรื่องของโบว์แมน(Bowman)ยังชี้ให้เห็นว่า มีการโยนหินถามทางในประเด็นการกอบกู้ แคล้วคลาด ร่องรอยของการชำระบาปตามคติชัดเจนยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการกลับเนื้อกลับตัว การปฏิรูปสังคม การใหชีวิต และการแสวงหาความยุติธรรม ยิ่งเพิ่มน้ำหนักแก่ทฤษฎีการชำระบาปสายที่มองว่าแก่นแท้เยซูคือการสร้างสมานฉันท์และอภัยทาน โฆเซคืนดีกับพี่ชายและมีแววว่าจะขยายไปถึงพ่อของเขาด้วย ดอรารอมชอมกับอดีตของเธอเอง เลือกมองเฉพาะด้านดีของพ่อแม้เขาจะไม่เคยประพฤติตนสมกับเป็นพ่อ และรวบรวมความกล้าตั้งต้นชีวิตใหม่ในวัย 67 เท่ากับว่าตัวละครก้าวพ้นภาวะโดดเดี่ยวแปลกแยก จมปลักและขวางโลก

[9] กลไกการไถ่/ล้างบาปใน Breaking the Waves ซับซ้อนคดเคี้ยวพอ ๆ กับการโยนภาพตัวแทนพระคริสต์ไว้บนบ่าเบส การขายตัวแม้เป็นผลบุญแก่ยาน แต่ก็เป็นการหาบาปใส่ตัว บาปของเบสคือการถือทิฐิ ยึดมั่นถือมั่นกับตัวตน ความข้อนี้ชวนให้นึกถึงบทอภิปรายของวาเลอรี แซแวง(Valerie Saiving) นักอิตถีนิยม-เทววิทยารุ่นบุกเบิกในเรื่องความแตกต่างของผู้หญิงกับผู้ชายในการจำกัดความต่อบาป บาปมหันต์ของผู้หญิงมักเป็นเรื่องของเปลืองตัวเป็นทางผ่านแก่ผู้อื่นในอีหรอบเดียวกับข้อชี้แนะที่เบสได้รับจากผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชน เบสบรรลุจุดมุ่งหมายของการไถ่/ล้างบาปจากเงื่อนไขนี้เอง เนื่องเพราะเธออุทิศชีวิตเพื่อยาน แม้ว่าการฟื้นตัวของยานจะถือเป็นเรื่องทางกาย


ข้อถกเถียงว่าด้วยบทบาทของผู้ไถ่/ล้างบาป (QUESTIONING THE ROLE OF THE REDEEMER)

ใครทรงสิทธิ์ในการไถ่/ล้างบาป (Who has the power to redeem?) กระบวนการไถ่/ล้างบาปให้ถือว่าแปรผันตามสัมพันธภาพระหว่างผู้ไถ่/ล้าง และผู้ขอรับการไถ่/ล้างกระนั้นหรือ(Might redemption be a dynamic process that involves both redeemer and the redeemed?) แล้วในการไถ่/ล้างบาปนั้นจำเป็นต้องกระทำการโดยบุคคลที่สองเสมอไปหรือไม่ พระคริสต์รายใหม่ต้องมีคุณสมบัติเช่นไร (Need we have an exterior redeemer figure at all? What are the parameters for re-conceiving a Christic figure?)

[10] Central Station โดดเด่นมากในแง่นี้ ผิดกับเรื่องราวการไถ่/ล้างบาปโดยส่วนใหญ่ตรงที่ไม่มีอุโฆษชนหรือผู้ปวารณาตนเพื่อไถ่/ล้างบาป ตรงกันข้าม โฆเซและดอราต่างบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้แก่อีกฝ่าย ยิ่งพเนจรด้วยกันนานออกไป ดอราก็ยิ่งมีใจเอื้ออาทรและเอ็นดูโฆเซเหมือนลูกเข้าไปทุกที เธอยื้อโฆเซจากเงื้อมมือมัจจุราชไว้ถึง 2 ครั้ง ส่วนโฆเซก็ตอบแทนเธอด้วยการปรนนิบัติพัดวี หลังจากดอราคว่ำไม่เป็นท่าที่ House of Miracle ชื่อของเขาไม่ได้ตั้งมาส่งเดช โจชัวเป็นผู้นำชาวอิสราเอลรอนแรมอยู่ในทะเลทรายนาน 40 ปีเพื่อมุ่งสู่ดินแดนแห่งพันธะสัญญา เขาคือสัญลักษณ์ของศรัทธาอันแรงกล้ารวมไปถึงการมีลางสังหรณ์ชั้นยอด (จำเหตุการณ์ประหลาดที่เจอริโกได้หรือไม่) ชื่อเดิมของเขาคือโอเชีย(Hoshea) หมายถึงการไถ่บาป อย่างไรก็ตามโมเสส(Moses)เปลี่ยนชื่อให้ว่าโจชัว(Joshua)อันหมายถึงพระคุ้มครองหรือพระเจ้าอวยชัย (The Lord saves or the Lord gives victory) Joshua ในพากย์ฮิบรูมีความหมายเท่ากับ "Jesus" ในพากย์กรีก ประวัติศาสตร์ของศาสดาพยากรณ์เสร็จสิ้นบริบูรณ์พร้อมกับความเชื่อที่ว่าพระเจ้าทรงไถ่บาปแก่ชาวอิสราเอล ภายหลังโจชัวเข้าพิชิตดินแดนคานาอัน(Canan)ในค.ศ.1250 บทบาทของเด็กกำพร้าใจเด็ดและศิลปินขี้เบื่อแม้แตกต่างแต่ก็มีประสิทธิภาพยิ่งในการแบกรับภาระผู้ไถ่/ล้างบาปในเรื่องเล่าและให้ผู้เสพไตร่ตรองถึงความเป็นได้ที่ผู้ไถ่/ล้างบาปไม่จำเป็นต้องประเสริฐเลิศเลอมาจากไหน

[11] ใครต่อใครพากันชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อยับยั้งการมอบสถานภาพเสี้ยวปางพระผู้ไถ่แก่เบส ปกาศิตในการไถ่/ล้างบาปใน Breaking the Waves อยู่ในมือใครกันแน่?

นักอิตถีนิยมกลุ่มใหญ่ถือว่าลักษณะเอกบุคคลของเบสยังไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะมองจากมุมใด เบสในสายตาอิตถีนิยมเป็นเครื่องเช่นสังเวยในระบบปิตุลาธิปไตยด้วยน้ำมือของสามีวิปลาสและพระผู้เป็นเจ้าใจไม้ไส้ระกำ แต่ก็ยังมีเสียงข้างน้อยในหมู่นักอิตถีศาสตร์ที่มองว่าเบสมีอำนาจและเป็นเอกเทศ บ้างมองถึงขั้นว่าเบสทรงอำนาจเหนือคนทั้งปวงด้วยซ้ำ ในที่นี้หมายถึงเธอมีอำนาจมหาศาลในการเลือก แม้ว่าทางเลือกเหล่านั้นจะกำหนดไว้โดยหัวขบวนของระบบปิตุลาธิปไตย เบสเลือกไขว่คว้าสิ่งที่เลอค่าสูงสุดสำหรับเธอ นั่นคือ ความรัก เบื้องต้นเธอไม่เอาด้วยกับความปรารถนาของยานโดยอ้างว่าตนเองไม่มีกรรมสิทธิ เพิ่งจะในภายหลังที่เบสกล้ายอมรับเต็มปากเต็มคำว่าเธอยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามดำริของยาน เหล่านักวิจารณ์ผู้คว่ำบาตรอนุสติความเป็นเอกเทศของเบสสำคัญผิดต่ออุดมการณ์ปิตุลาธิปไตยเช่นเดียวกับท่าทีของทางโบสถ์ในตอนต้นเรื่อง


เบสมีอำนาจจริงหรือ (Does Bess have any real power?)

[12] ไม่มีฉากใดประกาศเอกเทศของเบสได้ชัดเจนยิ่งกว่าฉากเสนอขายนาผืนน้อยให้ดร.ริชาร์ดสัน เบสนอนล่อนจ้อนอยู่บนเตียงและนำเสนอสรรพคุณสินค้า(ด้วยน้ำเสียงเหมือนคุณครู) ว่า มาล่อฉันได้แล้ว

[13] ในคราวอยู่ร่วมฉากกันหนแรก เบสสารภาพว่าเธอรู้สึกว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบอุบัติเหตุที่แท่นขุดเจาะ ดร.ริชาร์ดสันตอบทีเล่นทีจริงว่า เธอทรงอิทธิฤทธิ์ขนาดนั้นเชียวรึ เขาไม่เข้าใจโลกทัศน์ทางศาสนาของเบส เบสเชื่อในพลังของการอธิษฐาน หลักการทำงานของแรงสวดนั้นสุดแสนเรียบง่ายตามหลักเหตุผล กล่าวคือ เธออธิษฐานและพระเจ้าก็สนองตอบ ดังนั้น ในความคิดของเบสเธอจึงมีอำนาจต่อรองอยู่ในมือจริง ๆ เพียงแต่ไม่อาจแจกแจงให้คนรอบข้างเห็นตรงกัน [14] หนังลองดีกับธาตุทรหดของเบสตลอดเรื่อง และเบสก็อึดเหลือเชื่อจนเป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งยานและบาทหลวงเจ้าประจำของเบส ยานสำรากโดโรธี(โดโด)ที่เปรยถึงความอ่อนแอของเบสแถมยังแก้ต่างว่าเบสเข้มแข็งกว่าเขาและโดโรธีเสียด้วยซ้ำ บาทหลวงเจ้าประจำของเบสให้สติเบสว่า เธอมีความแข็งแกร่งที่พระเจ้าทรงประทานไว้

[15] ในฉาก ดร.ริชาร์ดสันขอเข้าใช้บริการเบสหลังจากเบสประกาศเปิดกิจการเป็นล่ำเป็นสัน เบสกลับเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าขึ้นมาดื้อ ๆ แม่ของเธอเอาแต่ว่ากล่าวสาดเสียเทเสียและขู่ว่าเธอจะกลายเป็นตัวเสนียด "เธอเหยาะแหยะ หาดีไม่ได้" จากนั้นดร.ริชาร์ดสันก็เข้าไปคุยกับเบสสองต่อสอง

ดร.ริชาร์ดสัน: "เอาน่า เธอไม่ใช่เด็ก ๆ แล้วนี่"เบส: "ฉันช่วยชีวิตยาน บางทีเราก็สื่อถึงกันด้วยพลังเหนือธรรมชาติ ฉันไม่ต้องเอื้อนเอ่ยแก่เขา พระเจ้าประทานพรแก่ทุกคนไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง และพระองค์ก็บันดาลให้ฉันเอาดีทางนี้ ดร.ริชาร์ดสัน: ไหน ๆ ของดีของเธออยู่ไหน อ้าขาซิ" เบส: ฉันมีดีที่รู้จักเชื่อ

ต่อมาเขาก็สิ้นท่า ยอมสารภาพว่ารักเบสเข้าให้แล้ว ตัวแทนของโลกฝ่ายวิทยาการแปรพักตร์เป็นผู้ศรัทธาเพราะความประเสริฐของเบสโดยแท้ เบสเสือกไสใจทมิฬหินชาติและปลุกฟื้นความเป็นมนุษย์แก่เขา บารมีของเบสเอิบอาบไปทั้งฉาก จากเด็กสาวใจเสาะขี้หงอเธอกลายเป็นหญิงแกร่งใจเด็ดถึงขนาดกล้าตะเพิดหมอมากบารมีออกจากบ้านเธอ

พระเจ้า เธอ และยานสุมสถิตย์และต่างไหลเวียนสารถึงกันอยู่ในตัวเบสสถาปนาตรีเอกานุภาพเฉพาะกิจเพื่อไถ่-ล้างบาปแก่ยาน

[16] เบสสำเหนียกดีว่ายากจะมีมนุษย์หน้าไหนเข้าใจพลังของเธอ ดังนั้นจึงป่วยการจะแจกแจง พระเจ้า ยาน และเธอ ต่างสุมสถิตย์อยู่ในร่างเธอ พระเจ้ารับรู้ความเป็นไปของยานผ่านเธอ Breaking the Waves มีรักสามเส้าอยู่หลายวงจร วงจรสำคัญที่สุดคือรักสามเส้าระหว่างพระเจ้า เบส และยาน


กุมสภาพตราบจนสิ้นกรรม (In Control Until the End)

[17] หลังจากตกเป็นเป้าขว้างหิน ถูกแม่ตัดหางปล่อยวัด และถูกกลาสีแทง เบสก็สะสมทุนรอนมากพอจะเอาชนะใจโดโด(Dodo)และยอมรับช่วงภารกิจร้องทุกข์ให้พระเจ้าเยียวยายาน สัมพันธภาพระหว่างเธอกับพระเจ้ามาในรอยเดียวกับพันธสัญญาของเยซูที่ปรากฏในปกรณัมบทลูค 18:1-8(ว่าด้วยความแพ้พ่ายของตุลาการกังฉินต่อหญิงหม้ายใจเด็ด) เบสแจงสี่เบี้ยแก่โดโดในอาการสุขุม เบส: "ฉันขอให้เธออธิษฐานให้ยานหายป่วย ลุกจากเตียง เดินเหินได้" โดโดน้อมรับคำสั่งเสียนั้นเป็นลายลักษณ์อักษร อันที่จริง โดโดทรุดกายลงคุกเข่าขณะที่เบสถูกทุบตีปางตายอยู่บนเรือ แต่เบสวางหมากไว้หมดแล้ว โดโดคือไพ่ตายใบสำรองในกรณีการพลีตนของเธอไม่เป็นมรรคผล

"ยานเป็นไทแล้ว"เบสรำพึงออกมาเป็นถ้อยความสุดท้ายบนเตียงรถเข็น ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวสยดสยองและขลังในระดับเดียวกับเมื่อครั้งเยซูในสภาพสะบักสะบอมแหลกเหลวเปล่งปัจฉิมวาทะ"เรียบร้อย"(It is done.) ตอนต้นยานตั้งปณิธานจะปลดพันธนาการของคริสตจักรปลายแถวออกจากชีวิตเบส ในตอนท้ายหลังจากหายสนิท ยานบ่ายหน้ากลับทะเลไปสู่อิสรภาพ ในอีกด้านหนึ่งถือได้ว่าปฏิบัติการล้างบาง ฉีกกฎ และปฏิวัติทัศนคติผู้คน ของนักบุญสตรี เป็นมรรคผล


IV บทสรุป (CONCLUSION)

[19] การเปิดใจรับหนังเหล่านี้ย่อมยังความสำราญด้วยลำหักลำโค่นใหม่ ๆ จากแนวรบของการนิยามทฤษฎีการไถ่/ล้างบาปสร้างไม่ว่าจะเป็น: หัวใจของการไถ่/ล้างบาปคืออะไรโดยการเปิดใจกว้างเสพ การชำระบาปจำต้องมีการเสียสละเลือดเนื้อเสมอไปหรือไม่ หนังหลังสมัยใหม่เหล่านี้มีแนวทางเช่นไรในการนำเสนอ ตั้งทฤษฎีไถ่/ชำระบาปใหม่ ๆ และการวิพากษ์การไถ่/ล้างบาปของโลกทัศน์คริสเตียน หนังทั้งสองเรื่องที่ยกมาต้อนคนดูเข้าสู่สังเวียนการวิพากษ์มโนคติดั้งเดิมว่าด้วยการไถ่/ล้างบาปและสำรวจประเมินทางเลือก คนดูได้สัมผัสกับรูปจำลองผู้ไถ่บาปที่ไม่ได้มีแววจะเอาดีในทางนี้ได้แต่กลับบรรลุพันธกิจได้ คือ โฆเซ ดอรา และเบส คนเหล่านี้คอยเยียวยา ความทุกข์ทรมานทางกายของผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์และชนวนเหตุสำคัญของเรื่องราวทั้งมวลในหนังสองเรื่องดังกล่าว สังขารน่วมเน่าของอิสตรียังให้น้ำหนักกับศรัทธาต่อการไถ่/ล้างบาปในชาติภพปัจจุบันตามแนวทางของสำนักเทววิทยาอิตถีนิยมมากกว่าแนวทางที่ยึดมั่นกับการได้ขึ้นสวรรค์ไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในภพหน้า ทุกฝ่ายยกเว้นเบสได้รับการเยียวยาในชาติภพนี้ ท้ายที่สุดหนังทั้งสองเรื่องต่างฉายภาพความสมานฉันท์และพลังพยศของอิสรภาพ หนังทิ้งคนดูดื่มด่ำไปกับภาพความเป็นไปทั้งหลายทั้งปวงของความเป็นเอกภาพและการเยียวยาอันเป็นจุดมุ่งหมายพื้นฐานของการไถ่/ล้างบาปไม่ว่าจะของสำนักคิดใด จะว่าไปก็เหมือนหนังเหล่านี้กำลังกู่ตะโกนปุจฉาว่าแล้วพ่อลูกจะมีทางคืนดีกันไหม ครอบครัวกับปัจเจกจะมีทางปรองดองกันได้ไหม เสียงระฆังของปาฏิหาริย์จะยังกังวานไปอีกนานเพียงใด


แปลจาก Solano, Jeanette Reedy. "Blessed Broken Bodies: Exploring Redemption in Central Station and Breaking the Waves". http://www.unomaha.edu/jrf/Vol8No1/BlessedBroken.htm

เครื่องมือส่วนตัว