ยีนSCN1AและEPHX1

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 08:28, 5 กรกฎาคม 2557 โดย Msupawa1 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ความสัมพันธ์ของความผันแปรในยีน SCN1A และ EPHX1 กับการตอบสนองต่อยาคาร์บามาซีพีนในผู้ป่วยโรคลมชักชาวไทย

ยาคาร์บามาซีพีนเป็นยากันชักที่เป็นยาเลือกตัวแรกในการรักษาโรคลมชักหลายชนิด ซึ่งพบว่าการตอบสนองต่อยามีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคลมชักที่ได้รับยา คาร์บามาซีพีนอย่างเหมาะสมแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ ก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ ซึ่งการตอบสนองต่อยาคาร์บามาซีพีนที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายนั้น เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางคลินิกและปัจจัยทางพันธุกรรมของผู้ป่วย การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความผันแปรในยีน SCN1A และ EPHX1 และปัจจัยทางคลินิกต่างๆ กับการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาคาร์บามาซีพีนในผู้ป่วยโรคลมชักชาวไทย โดยผู้ป่วยโรคลมชักจำนวน 79 คนได้ถูกคัดเลือกเข้าสู่งานวิจัย เก็บข้อมูลทางคลินิกและตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจลักษณะจีโนไทป์ของ SCN1A IVS5N+5 G>A, EPHX1 c.337T>C และ EPHX1 c.416A>G และประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยคาร์บามาซีพีน โดยแบ่งผู้ป่วย เป็น 2 กลุ่ม คือผู้ป่วยโรคลมชักที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาคาร์บามาซีพีน และผู้ป่วยโรคลมชักที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาคาร์บามาซีพีน จากนั้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองต่อยาคาร์บามาซีพีน กับความผันแปรในยีน SCN1A และ EPHX1 และปัจจัยทางคลินิกต่างๆ ด้วย Multiple Logistic Regression ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็น symptomatic epilepsy ความถี่อัลลีลของ SCN1A IVS5N+5 G>A, EPHX1 c.337T>C และ EPHX1 c.416A>G ในผู้ป่วยโรคลมชักชาวไทย เท่ากับ 64, 47 และ 14% ตามลำดับ และผลการวิเคราะห์ด้วย Multiple Logistic Regression พบความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองต่อยาคาร์บามาซีพีน กับความผันแปรทางพันธุกรรม EPHX1 c.337T>C และปัจจัยทางคลินิก คือ อายุที่เริ่มเป็นโรคลมชัก และประเภทของอาการชัก โดยผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาคาร์บามาซีพีนนั้น สัมพันธ์กับลักษณะจีโนไทป์ของ EPHX1 c.337T>C แบบ CC และ CT มากกว่าผู้ป่วยโรคลมชักที่ตอบสนองต่อยาคาร์บามาซีพีน (OR 5.466 [95% CI: 1.109-26.942] และ adjusted OR = adjusted OR 4.113 [95% CI: 1.079-15.685] ตามลำดับ) โมเดลทางเภสัชพันธุศาสตร์นี้ สามารถอธิบายความแปรปรวนของการตอบสนองต่อการรักษาด้วยคาร์บามาซีพีนได้ร้อยละ 29.2 (R2 = 0.292) ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบว่าความผันแปรทางพันธุกรรม EPHX1 c.337T>C และปัจจัยทางคลินิก ได้แก่ อายุที่เริ่มเป็นโรคลมชัก และ ประเภทของอาการชักนั้น มีความสัมพันธ์กับการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาคาร์บามาซีพีนในผู้ป่วยโรคลมชักชาวไทย ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษานี้อาจสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาเลือกใช้ยาคาร์บามาซีพีนในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

เครื่องมือส่วนตัว