การสร้างโมเดลการตอบสนองรายข้อแบบพหุมิติ พหุระดับของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรของครู
จาก ChulaPedia
วนิดา ดีแป้น : การสร้างโมเดลการตอบสนองรายข้อแบบพหุมิติ พหุระดับของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรของครู (MULTILEVEL- MULTIDIMENSIONAL ITEM RESPONSE MODELING OF TEACHERS’ ORGANIZATIONAL CITIZENSHIP BEHAVIOR) อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก : รศ. ดร.โชติกา ภาษีผล, อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม : รศ. ดร.ศิริเดช สุชีวะ
พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรของครูมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร ที่ช่วยในการสร้างและส่งเสริมให้เกิดผลทางบวกต่อองค์กรโดยภาพรวม การศึกษาองค์ประกอบ การสร้างโมเดลการวัดและพัฒนาเครื่องมือวัดที่มีคุณภาพจะช่วยให้การวัดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรของครูมีความถูต้องมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างโมเดลการวัดและพัฒนาแบบวัดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรแบบพหุมิติ พหุระดับ ของครูสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ตรวจสอบคุณภาพของแบบวัดโดยใช้ทฤษฎีการตอบสนองรายข้อแบบพหุมิติ (MIRT) และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพหุระดับ (MCFA) และ 3) เพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรและสร้างเกณฑ์ปกติของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กร ของครูสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างในการวิจัย คือ ครูสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,241 คน ที่ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Mplus 7.11 ผลการวิจัยพบว่า 1. โมเดลการวัดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรแบบพหุมิติ พหุระดับของครู แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบุคคลและระดับองค์กร ซึ่งในแต่ละระดับวัดจาก 7 องค์ประกอบ โดยที่ 4 องค์ประกอบแรก ได้แก่ การช่วยเหลือ ความมีน้ำใจนักกีฬา การริเริ่มส่วนบุคคล และการพัฒนาตนเอง แยกการวัดเป็น 3 ด้าน คือ พฤติกรรมของครูต่อนักเรียน พฤติกรรมของครูต่อเพื่อนครู/ทีม และพฤติกรรมของครูต่อโรงเรียนหรือองค์กร ส่วนอีก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความภักดีต่อองค์กร การยินยอมปฏิบัติตามองค์กร และคุณธรรมของพลเมือง วัดเพียงด้านเดียว คือ พฤติกรรมของครูต่อโรงเรียนหรือองค์กร 2. แบบวัดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรของครู มีความเที่ยงเท่ากับ .9606 มีความตรงเชิงโครงสร้างแบบพหุมิติ โดยมีความแตกต่างของค่าไคสแควร์เมื่อเทียบกับโมเดลแบบเอกมิติ เท่ากับ 1,502.333 (df = 21, p = .000) มีค่าพารามิเตอร์ความยากและอำนาจจำแนกแบบพหุมิติเป็นไปตามตามเกณฑ์ คือ มีค่า Threshold แบบเรียงลำดับ (β_4>β_3>β_2>β_1) และค่าอำนาจจำแนกแบบพหุมิติอยู่ระหว่าง 0.362-1.463 3. การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพหุระดับบ่งชี้ความตรงเชิงโครงสร้างของแบบวัดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรของครู โดยมีค่าไคสแควร์ เท่ากับ 174.701 (df = 161, p = 0.2178), CFI = 0.999, TLI = 0.998, RMSEA = 0.010, SRMRw = 0.012 และ SRMRb = 0.048 4. ครูมีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกองค์กรภาพรวมอยู่ในระดับสูง โดยองค์ประกอบที่มีระดับสูงที่สุด คือการยินยอมปฏิบัติตามองค์กร องค์ประกอบที่มีระดับต่ำที่สุด คือ การริเริ่มส่วนบุคคล ส่วนเกณฑ์ปกติระดับชาติมีช่วงคะแนนที ดังนี้ การช่วยเหลือ T17 – T74 (P0.04- P99.07) ความมีน้ำใจนักกีฬา T17 – T71 (P0.04- P98.03) การริเริ่มส่วนบุคคล T17 – T74 (P0.04- P99.19) การพัฒนาตนเอง T17 – T69 (P0.04- P97.18) ความภักดีต่อองค์กร T17 – T65 (P0.04- P93.43) การยินยอมปฏิบัติตามองค์กร T19 – T65 (P0.08- P92.47) คุณธรรมของพลเมือง T17 – T65 (P0.04- P93.39)