การพัฒนาวิธีการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบโดยการตัดสินของผู้เชี่ยวชาญ

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 05:29, 19 สิงหาคม 2557 โดย 52842144 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการสำหรับการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบโดยการตัดสินของผู้เชี่ยวชาญและประการที่สองเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบในด้านอัตราความถูกต้อง และอัตราความคลาดเคลื่อนของผลการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบกับข้อสอบที่คัดสรรมาสำหรับการทดลองเมื่อใช้วิธีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เนื้อหาข้อสอบอย่างเป็นอิสระ วิธีผู้เชี่ยวชาญร่วมสนทนากลุ่ม และวิธีการประยุกต์ใช้เทคนิคโปรโตคอลอะลาว์ด ตัวอย่างวิจัย คือ ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 21 คน และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 139 คน ซึ่งได้จากการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบวินิจฉัยการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบจากผู้เชี่ยวชาญแบบยืนยันการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบจากการร่วมสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ แบบสอบถามสำหรับการตรวจสอบความลำเอียงของข้อสอบสำหรับนักเรียน ชุดข้อสอบสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาสำหรับการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบสำหรับผู้เชี่ยวชาญ ข้อสอบที่คัดสรรมาได้นำมาผ่านการวิเคราะห์การทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบโดยวิธีแมนเทล-แฮนส์เซลด้วยโปรแกรม DIFAS 5.0 วิธีการถดถอยโลจิสติกด้วยโปรแกรม SPSS และวิธีตามทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบด้วยโปรแกรม IRTPRO ผลการวิจัยที่สำคัญมีดังนี้ 1) ผลการพัฒนาวิธีการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบ 3 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เนื้อหาข้อสอบอย่างเป็นอิสระ วิธีที่ 2 ผู้เชี่ยวชาญร่วมสนทนากลุ่ม และวิธีที่ 3 การประยุกต์ใช้เทคนิคโปรโตคอลอะลาว์ด ผลการตรวจ DIF พบว่า ทั้ง 3 วิธีมีหลักการตรวจ DIF ขั้นตอนการตรวจ และเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินที่แตกต่างกัน 2) ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราความถูกต้องของวิธีการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันด้านเพศของข้อสอบสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาโดยการตัดสินของผู้เชี่ยวชาญพบว่าวิธีที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เนื้อหาข้อสอบอย่างเป็นอิสระ มีอัตราความถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 52.94 และมีอัตราความคลาดเคลื่อนของการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบคิดเป็นร้อยละ 26.09 วิธีที่ 2 ผู้เชี่ยวชาญร่วมสนทนากลุ่ม มีอัตราความถูกต้องตามเสียงข้างมากจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญคิดเป็นร้อยละ 29.41 และมีอัตราความคลาดเคลื่อนของการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบคิดเป็นร้อยละ 21.74 และวิธีที่ 3 การประยุกต์ใช้เทคนิคโปรโตคอลอะลาว์ดมีอัตราความถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 76.47 และมีอัตราความคลาดเคลื่อนของการตรวจสอบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อสอบคิดเป็นร้อยละ 34.78

เครื่องมือส่วนตัว