รอยผุระยะแรก
จาก ChulaPedia
การปรับปรุง เมื่อ 17:16, 9 ตุลาคม 2557 โดย 54758182 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
รอยผุระยะแรก (early caries lesion)
ฟันผุเป็นผลมาจากกระบวนการที่เชื้อแบคทีเรียบนผิวฟันสร้างกรดจากน้ำตาลในอาหารสร้างกรด เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ (demineralization) บนผิวฟัน แต่น้ำลายจะทำให้กรดเป็นกลาง เกิดการคืนแร่ธาตุ (remineralization) ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องในช่องปาก หากมีการสูญเสียแร่ธาตุมากกว่าการคืนแร่ธาตุ จะมีการสูญเสียแร่ธาตุที่ใต้ผิวเคลือบฟันเป็นรอยผุระยะแรก ซึ่งมีลักษณะทางคลินิกเป็นรอยโรคจุดขาว (white spot lesion) ซึ่งผิวฟันยังไม่เป็นโพรง (cavity)(ภาพที่ 1) และถ้ามีการสูญเสียแร่ธาตุไปมากจะเกิดเป็นโพรง (ภาพที่ 2) [1]
ภาพที่ 1 รอยโรคจุดขาว (รอยผุระยะแรก)
ภาพที่ 2 รอยผุระยะลุกลามเป็นโพรงจากผิวฟัน
วิธีการหนึ่งที่จะหยุดหรือป้องกันการลุกลามของฟันผุที่อาจจะเกิดขึ้นคือ การตรวจวินิจฉัยรอยโรคตั้งแต่ระยะแรก (รอยโรคจุดขาว) และคืนแร่ธาตุให้กับรอยผุระยะแรกก่อนที่จะมีการทำลายเนื้อฟันไปมากจนเกิดเป็นโพรง จำเป็นต้องรักษาด้วยการอุดฟันเท่านั้น ด้านประชิดของฟันเป็นบริเวณที่น้ำลายเข้าถึงได้ยาก มีรูพรุนมากกว่าด้านอื่นๆ [2] และทำความสะอาดได้ยาก จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโพรงได้ง่าย การหยุดยั้งการลุกลามของฟันผุด้านประชิดด้วยวิธีการคืนแร่ธาตุจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง [3] ฟลูออไรด์เป็นสารที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการคืนแร่ธาตุสู่ผิวฟันโดยเร่งให้มีการสร้างผิวผลึกใหม่แทนที่ผิวผลึกเดิมที่มีการสูญเสียแร่ธาตุไปบางส่วน ฟลูออไรด์ชนิดที่ใช้โดยทันตแพทย์มีหลายชนิด เช่น ฟลูออไรด์เจล ฟลูออไรด์วาร์นิช ซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ (silver diamine fluoride) รวมทั้งฟลูออไรด์ที่อยู่ในวัสดุอุดฟันหรือทาบนผิวฟัน ได้แก่ กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ (glass ionomer cement) การศึกษานี้เปรียบเทียบความหนาแน่นแร่ธาตุของรอยผุระยะแรกด้านประชิดจำลองหลังการทาสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์และสารกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ โดยทดลองทางคลินิกร่วมกับห้องปฎิบัติการ (in situ) พบว่าสารทั้งสองชนิดเพิ่มค่าร้อยละความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยของรอยผุไม่แตกต่างกัน และมีผลในการคืนแร่ธาตุดีกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งได้รับเฉพาะยาสีฟันฟลูออไรด์ 2 ครั้ง/วัน แต่สารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์มีข้อเสียคือทำให้รอยโรคฟันผุเป็นสีดำ จึงควรใช้บริเวณด้านประชิดของฟันหลังเท่านั้น [4]
อ้างอิง
- ↑ Featherstone, J. D. 2008. Dental caries: a dynamic disease process. Aust Dent J 53 (3): 286-291.
- ↑ Zero, D. T. 1999. Dental caries process. Dent Clin North Am 43 (4): 635-664.
- ↑ รติชนก นันทนีย์, ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล และบุษยรัตน์ สันติวงศ์. (2557) ความหนาแน่นแร่ธาตุของรอยผุระยะแรกด้านประชิดหลังการทาสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ [1]
- ↑ รติชนก นันทนีย์. (2556) ความหนาแน่นแร่ธาตุของรอยผุระยะแรกด้านประชิดหลังการทาสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์และสารกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์. วิทยานิพนธ์ ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.