เจตคติรังเกียจกลุ่ม

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 06:22, 15 ธันวาคม 2557 โดย Sjireera (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เจตคติรังเกียจกลุ่ม (Prejudice)

สารบัญ

1. ความหมาย

2. องค์ประกอบ

3. ประเภท

4. การวัด

 4.1 การวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัด
  4.2 การวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มแอบแฝง

5. ที่มาของเจตคติรังเกียจกลุ่ม

6. การลดเจตคติรังเกียจกลุ่ม

7. รายการอ้างอิง


1. ความหมาย

เจตคติรังเกียจกลุ่ม หมายถึง ท่าทีในทางชอบหรือไม่ชอบ (ในทางจิตวิทยาสังคมเรียกว่า เจตคติ หรือ attitudes) ที่บุคคลมีต่อสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือต่อกลุ่มนั้นทั้งกลุ่ม

แรกเริ่มนั้น เจตคติรังเกียจกลุ่มถูกมองว่าอาจเป็นได้ทั้งการลำเอียงไปในทางชื่นชอบกลุ่มๆ หนึ่งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวไทยบางคนอาจชื่นชอบชาวต่างชาติที่เป็นชาวตะวันตกมากเป็นพิเศษกว่าชาวต่างชาติผิวสีอื่น เป็นต้น ต่อมาคำว่า prejudice ถูกใช้ในความหมายของการมองสมาชิกหรือกลุ่มอื่นทั้งกลุ่มในทางลบเพียงเพราะผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มอื่นที่ต่างจากกลุ่มของตน ในภาษาไทย นักจิตวิทยาสังคมบางส่วนในประเทศไทยจึงเรียก prejudice ในภาษาไทยว่าเจตคติรังเกียจกลุ่ม ซึ่งบ่งบอกความหมายเชิงการประเมินสมาชิกหรือกลุ่มอื่นในทางลบเพียงทางเดียว (เช่น กฤตินันท์ เตนากุล, 2556) ในขณะที่บางส่วนอาจเรียกว่าอคติก็เป็นได้

เจตคติรังเกียจกลุ่ม ถูกมองว่าเป็นเจตคติอันหมายถึงการประเมินในทางบวกหรือลบของบุคคลต่อกลุ่มคนหรือสมาชิกของกลุ่มคน ในบางกรณีคำว่า prejudice ยังถูกใช้ในความหมายของอารมณ์ทางลบหรือการตอบสนองเชิงอารมณ์ความรู้สึกที่บุคคลมีต่อกลุ่มคนหรือสมาชิกของกลุ่มคนด้วย ในตำราทางจิตวิทยาสังคมบางเล่มระบุคำนิยามของเจตคติรังเกียจกลุ่มว่าเป็นทั้งเจตคติ และเป็นทั้งองค์ประกอบด้านการตอบสนองเชิงอารมณ์ของเจตคติด้วย

หัวข้อเกี่ยวกับเจตคติรังเกียจกลุ่มเป็นที่นิยมศึกษากันในสังคมตะวันตก เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นเวลานานแล้ว โดยอ้างอิงได้จากงานเขียนของนักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้บุกเบิกสาขาจิตวิทยาสังคม และการศึกษาเจตคติรังเกียจกลุ่ม ได้แก่ Gordon Allport (Allport, 1954)ซึ่งได้สร้างความก้าวหน้าให้แก่จิตวิทยาสังคมในโลกตะวันตกในการศึกษาเรื่องเจตคติรังเกียจกลุ่มเป็นอย่างมาก สาเหตุของการที่นักวิชาการชาวอเมริกันให้ความสนใจประเด็นการรังเกียจกลุ่มก็เนื่องจากสภาพสังคมที่ประกอบด้วยคนหลากเชื้อชาติ จากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวผิวสีในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะประวัติอันยาวนานกับชาวแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งมักตกเป็นเป้าของการรังเกียจและการกดขี่ข่มเหงโดยชาวอเมริกันผิวขาว ชาวแอฟริกันอเมริกันในประเทศสหรัฐอเมริกายังถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่อันตราย เชื่อมโยงกับการก่ออาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยต่างๆ ในสังคม รวมทั้งถูกมองอย่างเหมารวมว่ามีลักษณะไม่ฉลาด และยากจน อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยกฏหมายต่อต้านการเหยียดสีผิว ทำให้การกีดกันทางสีผิวเป็นเรื่องผิดกฏหมายในสหรัฐเมริกา การแสดงออกด้วยท่าทีของชาวอเมริกันต่อกลุ่มสีผิวต่างจากตนจึงมีลักษณะเป็นมิตรมากขึ้นในปัจจุบัน ในประเทศไทย การศึกษาเรื่องเจตคติรังเกียจกลุ่มได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งทำให้บุคลากรในสายอาชีพสำคัญจาก 10 ประเทศอาเซียนสามารถเดินทางไปประกอบอาชีพอยู่ในประเทศของกันและกันได้ ทำให้สังคมไทยเกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากการอยู่ร่วมกันของคนต่างกลุ่มมากขึ้น การลดการรังเกียจกลุ่มของคนไทยที่อาจมีต่อสมาชิกของประเทศเพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งหรือมีความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น พม่า กัมพูชา จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ชาวไทยสามารถติดต่อคบหาหรือประกอบกิจกรรม/กิจการค้าขายกับสมาชิกจากประเทศเหล่านี้ได้อย่างราบรื่น การศึกษาเจตคตรังเกียจกลุ่มในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากความก้าวหน้าทางวิชาการในหัวข้อนี้จากสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ทั้งในประเด็นด้านการนิยาม และการวัดเจตคติรังเกียจกลุ่ม ดังจะกล่าวต่อไป

2. องค์ประกอบของเจตคติรังเกียจกลุ่ม

โดยทั่วไปเจตคติถูกมองว่าประกอบด้วยองค์ประกอบทางการรู้คิดทางอารมณ์และทางพฤติกรรมเจตคติรังเกียจกลุ่มก็เช่นกันโดยมีองค์ประกอบดังนี้

1. องค์ประกอบทางการรู้คิด ได้แก่ ความเชื่อเหมารวมหรือstereotype (บางครั้งเรียกภาพในความคิด) หมายถึงความเชื่อว่าสมาชิกทุกคนในกลุ่มหนึ่งๆมีลักษณะบางอย่างเหมือนกันโดยละเลยความแตกต่างที่อาจเป็นไปได้เช่นความเชื่อว่าคนไทยมีลักษณะใจดีมีเมตตาแม้ว่าคนไทยที่ไม่มีลักษณะเหล่านี้จะมีอยู่ความเชื่อเหมารวมมีประโยชน์ในการให้ข้อมูลความคาดหวังเกี่ยวกับสมาชิกของกลุ่มหนึ่งๆความเชื่อเหมารวมอาจเป็นได้ทั้งความเชื่อทางบวกและความเชื่อทางลบซึ่งความเชื่อทางลบมักสัมพันธ์กับเจตคติรังเกียจกลุ่มเช่นเชื่อว่าคนในกลุ่มๆหนึ่งมีลักษณะร่วมในแบบเห็นแก่ตัวขี้โกงย่อมนำสู่ความเกลียดชังคนในกลุ่มนั้นเป็นต้นอย่างไรก็ตามการมีความเชื่อเหมารวมไม่ได้หมายความว่าบุคคลจะมีเจตคติรังเกียจกลุ่มเสมอไปเป็นไปได้ที่บุคคลมีความเชื่อนั้นอันอาจเกิดจากการเรียนรู้จากผู้อื่นรอบข้างแต่ไม่ได้เห็นด้วยกับความเชื่อเหมารวมในทางลบ

2. องค์ประกอบทางอารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึกอันเป็นการตอบสนองต่อกลุ่มคนเป้าหมายของเจตคติรังเกียจกลุ่มมักแสดงออกเป็นการตอบสนองเชิงสรีระเช่นหัวใจเต้นแรงหรือเหงื่อออกที่มือเมื่อพบเจอกับสมาชิกในกลุ่มที่บุคคลรังเกียจความรู้สึกโกรธกลัวอึดอัดล้วนเป็นความรู้สึกทางลบที่บุคคลมีต่อเป้าหมายที่ตนรังเกียจการตอบสนองทางอารมณ์ดังกล่าวนี้เปลี่ยนแปลงได้ยากแม้ว่าบุคคลจะได้รับหลักฐานที่พิสูจน์ว่ากลุ่มคนเป้าหมายไม่ได้เลวร้ายตามความเชื่อเหมารวมที่เคยมีความรู้สึกทางลบที่มีต่อเป้าหมายก็อาจไม่ถูกลบเลือนไปได้โดยง่าย

3. องค์ประกอบทางพฤติกรรม ได้แก่ การกระทำที่บุคคลมีต่อเป้าหมายที่ตนรังเกียจหมายถึงการกีดกันทางกลุ่ม (discrimination) แสดงออกเป็นการปฏิบัติในทางลบต่อกลุ่มคนเป้าหมายเช่นการล้อเลียนการทำร้ายจิตใจหรือร่างกายการพูดจาถากถางดูถูกหรือการเลือกที่จะไม่รับเข้าทำงานเป็นต้นการปฏิบัติเหล่านี้เป็นการแสดงความก้าวร้าวที่เด่นชัดเป็นส่วนใหญ่การกีดกันกลุ่มยังรวมถึงการแสดงความก้าวร้าวที่ไม่ชัดเจนนักเช่นการไม่ให้ความช่วยเหลือการวางตัวห่างเหินการหลีกเลี่ยงหรือถอยห่างเมื่อพบเจอกับเป้าหมายที่ตนรังเกียจการแสดงความหมางเมินเย็นชาพูดจาด้วยแต่เพียงสั้นๆเหมือนเสียมิได้หรือปฏิบัติเสมือนอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีตัวตนด้วยการมองผ่านเป็นต้น

3. ประเภท

งานวิจัยเรื่องเจตคติรังเกียจกลุ่มแบ่งเจตคติดังกล่าวออกเป็น 2 ประเภท

1. แบบเด่นชัดหรือexplicit prejudice หมายถึง ความรังเกียจกลุ่มที่บุคคลตระหนักรู้และสามารถบอกออกมาหรือรายงานแก่ผู้อื่นได้เช่นเมื่อถูกถามว่ารังเกียจกลุ่มคนรักร่วมเพศมากน้อยเพียงใดก็สามารถบ่งบอกออกมาตามที่รู้สึกได้เป็นต้น

2. แบบแอบแฝงหรือimplicit prejudice หมายถึง เจตคติรังเกียจกลุ่มที่ตัวบุคคลไม่ตระหนักรู้ว่าตนมีอยู่กระแสความนิยมในการศึกษาความรังเกียจที่บุคคลมีอยู่โดยอาจไม่รู้ตัวนั้นมาจากแนวโน้มที่คนทั่วไปมักไม่เต็มใจที่จะรายงานเจตคติตามที่ตนรู้สึกจริงเนื่องจากไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นผู้มีอคติหรือไม่อยากยอมรับว่าเกลียดหรือรังเกียจคนต่างกลุ่มนักจิตวิทยาสังคมจึงหันมาให้ความสนใจศึกษาเจตคติที่เชื่อว่าบุคคลมีอยู่โดยไม่รู้ตัวและจึงไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคล

4. การวัด

4.1การวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัด มักวัดด้วยวิธีการรายงานตนเองเช่นการตอบมาตรวัดหรือชุดคำถามที่แสดงความเชื่อทางลบความรู้สึกและ/หรือพฤติกรรมทางลบต่อเป้าหมายของเจตคติเช่นเห็นด้วยหรือไม่เพียงใดกับประโยคที่ว่า “ถ้าฉันรู้ว่าวิชาใดมีนิสิตชาวกัมพูชาลงทะเบียนเรียนเป็นจํานวนมากฉันจะไม่ลงทะเบียนเรียนในวิชานั้น” (จากจริยาดำรงโฆษิต, ชลาลัยนพพรเลิศวงศ์, และทัศนวรรณมานัสวิน, 2555) ซึ่งเนื้อหาของมาตรจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเจตคติเช่นกลุ่มรักร่วมเพศหรือกลุ่มเชื้อชาติในประเทศไทยมีการพัฒนามาตรวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มต่อชาวกัมพูชาและกลุ่มรักร่วมเพศที่คณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่สำคัญของการวัดแบบเด่นชัดคือผู้ตอบอาจไม่เต็มใจที่จะรายงานว่าตนมีความเกลียดชังคนต่างกลุ่มจึงจงใจตอบเพื่อให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดีทำให้คำตอบที่ได้มาขาดความตรงจุดอ่อนดังกล่าวทำให้นักวิจัยทางจิตวิทยาสังคมให้ความสนใจวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝงมากกว่าด้วยความเชื่อว่าอาจสะท้อนระดับความเกลียดชังที่ม่ีต่อผู้อื่นได้อย่างใกล้เคียงความจริงมากกว่า

4.2การวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง ปัจจุบันการวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มแอบแฝงมีหลายลักษณะในช่วงปีค.ศ. 1998เป็นต้นมาถือว่าเป็นยุคแห่งการวัดเจตคติแอบแฝงในการศึกษาเจตคติของสาขาจิตวิทยาสังคมโดยการเกิดขึ้นของการวัดการเชื่อมโยงแอบแฝงหรือimplicit association test (IAT; Greenwald, McGhee, & Schwartz, 1998) ซึ่งเป็นการวัดด้วยคอมพิวเตอร์โดยผู้ถูกวัดจะได้รับคำสั่งให้ระบุว่าคำหรือภาพที่ปรากฏบนจอภาพเป็นสิ่งเร้าในกลุ่มใดโดยสิ่งเร้าประกอบด้วย4กลุ่มได้แก่เป้าหมายของเจตคติรังเกียจกลุ่ม (เช่นชาวกัมพูชา) และเป้าหมายที่นำมาเปรียบเทียบ (เช่นชาวไทย) และลักษณะทางบวก (เช่นใจดี) และลักษณะทางลบ (เช่นเย็นชา) ที่ผู้ตอบจะต้องระบุว่าคำต่างๆจัดอยู่ในหมวดใดลักษณะของงานที่ผู้ตอบจะต้องทำจึงเป็นการจัดหมวดหมู่โดยการวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มต่อชาวกัมพูชาจึงเป็นการเปรียบเทียบความเร็วในการตอบสนอง (ได้แก่การกดแป้นพิมพ์ระบุหมวดหมู่เช่นกดแป้นอักษรตัวZ) เมื่อคำที่แสดงเป้าหมายถูกระบุให้ตอบด้วยแป้นการตอบสนองเดียวกันกับลักษณะทางบวกหรือลบหากบุคคลตอบสนองได้เร็วกว่าเมื่อชื่อของชาวกัมพูชาใช้แป้นการตอบสนองเดียวกันกับคำแสดงลักษณะทางบวกต่างๆเมื่อเทียบกับเมื่อชื่อชาวกัมพูชาใช้แป็นการตอบสนองเดียวกันกับลักษณะทางลบจะแสดงใหเห็นว่าบุคคลมีเจตคตรังเกียจชาวกัมพูชาการวัดดังกล่าวถึงถูกเสนอว่าเป็นการวัดการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายของเจตคติว่าเชื่อมโยงกับลักษณะทางบวกหรือลบเพียงใดโดยการใช้เวลาที่รวดเร็วกว่าในการตอบสนองเป็นตัวบ่งชี้การเชื่อมโยงที่มากกว่าเครื่องมือIAT นี้เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในหมู่นักวิจัยทางจิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาการรู้คิดทางสังคม (social cognition) อย่างไรก็ตามเครื่องมือดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความตรงเชิงการวัดทางจิตวิทยาโดยเป็นไปได้ที่เครื่องมือดังกล่าววัดการเชื่อมโยงในบุคคลที่เกิดจากข้อมูลที่ได้รับในบริบทวัฒนธรรมหนึ่งๆแต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจตคติส่วนบุคคลเสมอไป(Karpinski & Hilton, 2001)สำหรับประเทศไทย ได้มีการพัฒนามาตรวัดแบบแอบแฝงต่อชาวกัมพูชาชาวลาวบุคคลนอกกลุ่ม และกลุ่มผู้รักร่วมเพศที่คณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5.ที่มาของเจตคติรังเกียจกลุ่ม

โดยทั่วไปการวิจัยทางจิตวิทยาสังคมสรุปว่าเจตคติรังเกียจกลุ่มมีสาเหตุมาจากหลายแหล่งอันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การลดเจตคติดังกล่าวเป็นเรื่องยาก

1. ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความเชื่อเหมารวม มนุษย์เรามีธรรมชาติของการจัดหมวดหมู่ในการรับรู้สิ่งต่างๆอันเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้คนเราประหยัดการใช้ความคิดเช่นการรับรู้เพื่อนใหม่ชาวจีนโดยใช้ความเชื่อเหมารวมจะทำให้เรามีภาพในความคิดคร่าวๆเกี่ยวกับบุคคลนั้นว่าน่าจะเป็นคนที่มีความมานะพยายามและขยันทำงาน ทำให้ผู้รับรู้ใช้เวลาน้อยลงในการสร้างการรับรู้เพื่อนใหม่คนนี้อย่างไรก็ตามการมีความเชื่อเหมารวมเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมในการรับรู้สมาชิกของกลุ่มเป้าหมายเพราะเป็นการละเลยข้อมูลความแตกต่างระดับบุคคลนอกจากนี้การมีความเชื่อเหมารวมในทางลบก็อาจทำให้เกิดเจตคติรังเกียจกลุ่มได้เช่นกรณีที่บุคคลเชื่อว่าชาวไทยรักสบายและไม่ขยันในการทำงานก็อาจทำให้ไม่ชอบชาวไทยทั้งกลุ่มได้

2.ความเชื่อว่าคนต่างกลุ่มอาจแก่งแย่งทรัพยากรที่มีจำกัด ตามทฤษฎีความขัดแย้งแท้จริงระหว่างกลุ่ม (realistic group conflict theory) (LeVine & Campbell, 1972; Sherif, 1966)เจตคติรังเกียจกลุ่มเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเมื่อกลุ่มตั้งแต่2กลุ่มขึั้นไปต้องแก่งแย่งทรัพยากรที่มีจำกัดที่ต่างต้องการเหมือนๆกันความขัดแย้งดังกล่าวนำสู่ความเกลียดชังคนต่างกลุ่มตัวอย่างเช่นชาวไทยอาจไม่ชอบสมาชิกจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากเชื่อว่าคนเหล่านี้เข้ามาแย่งตำแหน่งงานไปจากชาวไทย

3.ความต้องการเห็นคุณค่าของตนเอง ตามทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม(Tajfel & Turner, 1986)บุคคลแต่ละคนมีความต้องการตามธรรมชาติที่อยากมองตนเองในทางบวกหรือเห็นคุณค่าแห่งตนสูงหนทางที่จะทำให้บุคคลมองตนในทางบวกมี2หนทางหลักคือการประสบความสำเร็จจากความสามารถหรือความโดดเด่นส่วนบุคคลและการเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ประสบความสำเร็จดังนั้นการยกย่องกลุ่มตนให้เหนือกลุ่มอื่นและการกดขี่กลุ่มอื่นให้ต่ำลงหรือด้อยค่าลงก็ย่อมทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในการเป็นสมาชิกและนำสู่การมองตนเองในทางบวกได้ตามมุมมองนี้การรังเกียจคนต่างกลุ่มจึงเกิดจากความต้องการมองตนเองว่ามีคุณค่า

6. การลดเจตคติรังเกียจกลุ่ม

งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมจำนวนมากพยายามหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดการรังเกียจกลุ่มเทคนิคที่เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายมีดังนี้

1.เทคนิคทางการรู้คิด ได้แก่ การแก้ไขการเกิดเจตคติรังเกียจกลุ่มจากการคิดในลักษณะแบ่งคนเป็นกลุ่มต่างๆโดยวิธีการเช่นการจัดกลุ่มใหม่ได้แก่การจัดกลุ่มคนจากต่างกลุ่มจากเกณฑ์หนึ่งว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันในอีกเกณฑ์หนึ่งเช่นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ต่างเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้นเป็นต้นหรือวิธีการสลายความเป็นกลุ่มโดยการเน้นให้รับรู้บุคคลเป้าหมายในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีลักษณะส่วนบุคคลที่โดดเด่นแทนที่จะมองบุคคลในฐานะสมาชิกของกลุ่มๆ หนึ่ง เป็นต้น

2.การเพิ่มการติดต่อกับสมาชิกต่างกลุ่ม ตามทฤษฎีที่เรียกว่าcontact hypothesis (Allport, 1959) เสนอว่าความเกลียดชังเกิดจากการทีีคนต่างกลุ่มขาดความรู้จักและเข้าใจกันและกันดังนั้นการนำพาคนต่างกลุ่มที่ไม่ถูกกันให้มาพบเจอกันและมีปฏิสัมพันธ์สร้างความรู้จักภายใต้เงื่อนไขว่าสถานภาพของกลุ่มทั้งสองในการปฏิสัมพันธ์กันนั้นจะต้องเท่าเทียมกันจะต้องมีการติดต่อกับสมาชิกต่างกลุ่มจำนวนหลายๆคนมิใช่เพียงคนเดียวสถานการณ์การปฏิสัมพันธ์กันจะต้องมีลักษณะของการทำงานแบบร่วมมือช่วยเหลือกันและจะต้องมีผู้มีอำนาจหรือผู้ดูแลที่ให้ความสนับสนุนความปรองดองสามัคคีระหว่างกลุ่มปัจจุบันมีการเสนอเทคนิคที่ช่วยให้การเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งทำได้ง่ายขึ้นเรียกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนต่างกลุ่มผ่านทางจินตนาการ (imagined intergroup contact) (Crisp & Turner, 2009)ทำได้โดยให้บุคคลจินตนาการถึงสถานการณ์ว่าตนได้พูดคุยกับสมาชิกของคนต่างกลุ่มที่บุคคลรังเกียจงานวิจัยพบว่าเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่ม(Miles & Crisp, 2014)ในประเทศไทยมีงานวิจัยที่พบว่าเทคนิคการจินตนาการนี้สามารถลดเจตคติรังเกียจชาวกัมพูชาของชาวไทยได้ทั้งแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝง(สุภาพร สารเรือน, 2557)

3.การใช้เทคนิคต่อภาพจิกซอว์ เสนอโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันนำโดยElliot Aronson (Aronson, Blaney, Stephin, Sikes, & Snapp, 1978)โดยมีลักษณะของการเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียนโดยจัดกลุ่มผู้เรียนรู้เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางภูมิหลังหรือวัฒนธรรมและจัดแบ่งหัวข้อการเรียนรู้ย่อยๆให้สมาชิกแต่ละคนรับผิดชอบในการศึกษาข้อมูลในหัวข้อที่ตนได้รับมอบหมายมานำเสนอแก่สมาชิกอื่นในกลุ่มทำให้สมาชิกต้องทำงานร่วมกันพึ่งพากันในการบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ในหัวข้อใหญ่นั้นและได้เรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างในการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมกลุ่มที่มาจากต่างกลุ่มกับตน

อย่างไรก็ตาม เทคนิคในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มยังมีนอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น โดยงานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมในปัจจุบันยังมีการเสนอเทคนิคอื่นๆที่มีประสิทธิภาพในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มออกมาอย่างต่อเนื่อง

7. รายการอ้างอิง

กฤตินันทน์เตนากุล. (2556). ผลของความเห็นของผู้อื่น การกำกับการแสดงออกของตน และความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งข้อมูล ต่อเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาประยุกต์. คณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จริยาดำรงโฆษิต, ชลาลัยนพพรเลิศวงศ์, และ ทัศนวรรณมานัสวิน. (2555). การทำนายความเชื่อเหมารวมทางเชื้อชาติเจตคติรังเกียจกลุ่มและแนวโน้มการกีดกันทางสังคมโดยใช้การเห็นคุณค่าในตนเองแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝง. โครงงานทางจิตวิทยา ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา. คณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุภาพร สารเรือน. (2557). ผลของการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มต่อเจตคติรังเกียจกลุ่ม: การศึกษาตัวแปรส่งผ่านหลายตัว. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Allport, G. W. (1954). The nature of prejudice. Reading, MA: Addison-Wesley.

Aronson, E., Blaney, N., Stephin, C., Sikes, J., & Snapp, M. (1978). The jigsaw classroom. Beverly Hills, CA: Sage Publishing Company.

Crisp, R. J., & Turner, R. N. (2009). Can imagined interactions produce positive perceptions?: Reducing prejudice through simulated social contact. American Psychologist, 64(4), 231-240. doi: 10.1037/a0014718

Greenwald, A. G., McGhee, D. E., & Schwartz, J. L. K. (1998). Measuring individual differences in implicit cognition: The Implicit Association Test. Journal of Personality and Social Psychology, 74, 1464-1480.

Karpinski, A., & Hilton, J., L. . (2001). Attitudes and the implicit association test. Journal of Personality and Social Psychology, 81(5), 774-788.

LeVine, R. A., & Campbell, D. T. (1972). Ethnocentrism. . New York: Wiley.

Miles, E., & Crisp, R. J. (2014). A meta-analytic test of the imagined contact hypothesis. Group Processes & Intergroup Relations, 17(1), 3-26. doi: 10.1177/1368430213510573

Sherif, M. (1966). Group conflict and cooperation. London: Routledge and Kegan Paul.

Tajfel, H., & Turner, J. C. (1986). The social identity theory of intergroup behaviour (2nd ed.). Chicago, IL: Nelson-Hall.


Author Note: Watcharaporn Boonyasiriwat, Ph.D., Faculty of Psychology Chulalongkorn University This article is for publishing on Chulapedia website.

Correspondence concerning this article should be addressed to Watcharaporn Boonyasiriwat Faculty of Psychology 7th BoromratchonnaniSrisattapat Bldg. Rama 1 Rd. Patumwan Bangkok Thailand 10330 Email:watcharaporn.p@chula.ac.th

เครื่องมือส่วนตัว