ค่านิยมดิจิทัลในบริบทของเด็กและเยาวชนไทยกับการสื่อสารออนไลน์

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 07:28, 25 ธันวาคม 2557 โดย Rpirongr (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

จากงานศึกษาวิจัยเรื่องค่านิยมดิจิทัลกับพฤติกรรมด้านการสื่อสารออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย (ฑิตยา ปิยภัณฑ์ : 2557) พบว่า กิจกรรมยามว่างที่เด็กและเยาวชนไทยเลือกทำเป็นอย่างแรกคือ ใช้อินเทอร์เน็ต มีความถี่ในการใช้สื่อออนไลน์ทุกวัน และระยะเวลาที่ใช้สื่อออนไลน์โดยรวมนั้นมากกว่า 3 ชั่วโมงในแต่ละวัน ข้อค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในระดับที่สูงมาก นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนไทยมีค่านิยมดิจิทัลด้านเสรีภาพ ความซื่อสัตย์โปร่งใส การประสานความร่วมมือ ความบันเทิงและนวัตกรรม ซึ่งปรากฏค่านิยมดิจิทัลดังกล่าวในระดับมากทุกค่านิยม ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงค่านิยมดิจิทัลด้านเสรีภาพและการประสานความร่วมมือเท่านั้น การให้คุณค่ากับค่านิยมดิจิทัลในหลายๆ ด้านอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทางสังคมอันสืบเนื่องจากการใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้มข้น เมื่อพิจารณาถึงสื่อออนไลน์อย่างอินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะเปิดกว้าง เป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็น ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ได้โดยไม่ถูกปิดกั้น ด้วยคุณลักษณะของสื่อข้อนี้จึงทำให้เด็กและเยาวชนไทยที่เกิดและเติบโตมากับการใช้สื่อออนไลน์มีค่านิยมดิจิทัลด้านเสรีภาพ ด้วยความคุ้นชินกับความมีอิสระเสรี อันเป็นสิ่งที่สื่ออินเทอร์เน็ตมีให้ภายใต้บริบทการสื่อสารออนไลน์ และด้วยคุณลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้าง แลกเปลี่ยน และแบ่งปัน ตลอดจนร่วมกันจัดทำเนื้อหาในลักษณะที่เสริมแรงและเกื้อหนุนกันได้แล้วก็มีส่วนเอื้อให้เด็กและเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของการใช้สื่อออนไลน์ อาทิ การช่วยแบ่งปันหรือแชร์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อย่างการ ตามหาเด็กหาย หรือการขอบริจาคเลือดว่าเป็นทางหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ การเชื่อมั่นในพลังของสารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย (wikipedia) ก็นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมดิจิทัลด้านการประสานความร่วมมือของเด็กและเยาวชนไทยได้อย่างชัดเจน

บรรณานุกรม กาญจนา แก้วเทพ, สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2551.

ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา. การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการแสวงหาและการเรียนรู้จริยธรรมของเยาวชน, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

ฑิตยา ปิยภัณฑ์. ค่านิยมดิจิทัลกับพฤติกรรมด้านการสื่อสารออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.

Tapscott, D.,Grown Up Digital:How the Net Generation is Changing Your World New York:McGraw-Hill, 2008.

เครื่องมือส่วนตัว