การจัดกิจกรรมจิตตศิลป์เพื่อสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะของผู้เรียนอายุ 16-18 ปี
จาก ChulaPedia
กิจกรรมจิตตศิลป์ มีส่วนช่วยให้ผู้ฝึกปฏิบัติเข้าใจความหมายและคุณค่าของผลงานศิลปะ เปิดมุมมอง โลกทัศน์ เรื่อง มิติการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและผู้อื่น สำหรับเด็กอายุ 16-18 ปี การสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะ จะเป็นพื้นฐานของการมองโลกในแง่บวก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาต่อและเป็นพลเมืองของสังคมโลก บทความนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมจิตตศิลป์ 6 ด้าน คือ 1) จุดประสงค์ของกิจกรรม จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอก สะท้อนความคิดเกี่ยวกับตนในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประเภทต่างๆ 2) การสร้างกรอบเนื้อหาของกิจกรรม ออกแบบเนื้อหาตามหลักภาวนา 4 ผู้เรียนสามารถรับรู้ความงามทางศิลปะในรูปแบบต่างๆ 3) รายละเอียดของกิจกรรม จะมีความเกี่ยวข้องกับแนวทางการฝึกกิจกรรม เช่น ระยะเวลา วัสดุ อุปกรณ์ 4) ลักษณะของกระบวนกรและตัวอย่างของการใช้คำพูดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ 5) การประเมินผลโดยใช้สมุดบันทึกภาพสะท้อนความคิด 6) แหล่งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เมื่อวัดประสบการณ์ทางสุนทรียะหลังจากการใช้กิจกรรม พบว่า ผู้เรียนทุกคนมีระดับประสบการณ์ทางสุนทรียะสูงขึ้น ผู้เรียนจำนวน 9 คน มีระดับประสบการณ์ทางสุนทรียะ อยู่ในขั้นความเป็นตัวของตนเอง ซึ่งเป็นระดับความสามารถสูงสุด และผู้เรียนจำนวน 5 คน มีระดับในขั้นรองลงมา