พืชสกุลพุด

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 11:19, 6 กันยายน 2560 โดย Zonuma (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

พืชสกุลพุด (Gardenia) มีการใช้แพร่หลายทั้งเป็นไม้ประดับและใช้ในทางการแพทย์ นอกจากนี้มีการนำผลพุดซ้อน (Gardenia jasminoides) มาใช้ในระบบสุขภาพแบบดั้งเดิม โดยโครซินเป็นสารสำคัญหลักที่พบในผลพุดซ้อน เนื่องจากยังไม่มีการรายงานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งทางด้านลักษณะทางจุลทรรศน์ อณูโมเลกุล รวมทั้งการวิเคราะห์ปริมาณสารโครซินในพืชชนิดนี้ ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาเพื่อที่จะประเมินลักษณะทางจุลทรรศน์ อณูโมเลกุล และปริมาณสารโครซินของพืชสกุลพุดบางชนิดในประเทศไทย โดยทำการประเมินภาคตัดขวางเส้นกลางใบและค่าคงที่ของใบ (จำนวนปากใบ ค่าดัชนีปากใบ ค่าอัตราส่วนเซลล์รั้ว ค่าพื้นที่เซลล์ผิว และจำนวนขน) ในพืชสกุลพุดจำนวน 11 ชนิด ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การประเมินลักษณะทางอณูโมเลกุลโดยใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอชนิดอาร์เอพีดีและการประเมินเอกลักษณ์ทางเภสัชเวชและการหาปริมาณสารโครซินด้วยวิธียูวี/วิสิเบิล สเปคโตรโฟโตมิเตอร์ของผลพุดซ้อน ผลการศึกษาพบว่า ค่าคงที่ของใบแสดงเอกลักษณ์ของลักษณะทางจุลทรรศน์ของพืชสกุลพุดแต่ละชนิด ลายพิมพ์ดีเอ็นเอชนิดอาร์เอพีดีที่พัฒนาจากไพรเมอร์ จำนวน 20 ชนิด ให้แถบดีเอ็นเอ จำนวน 573 แถบ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแถบดีเอ็นเอที่มีลักษณะแตกต่างกันถึงร้อยละ 99.5 ค่าสัมประสิทธิ์ความเหมือนทางพันธุกรรม มีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 0.089 ถึง 0.332 และสามารถจัดกลุ่มทางพันธุกรรมได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ด้วยวิธี UPGMA นอกจากนี้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอชนิดอาร์เอพีดีนี้สามารถใช้ในการประเมินเอกลักษณ์ของพืชสกุลพุดทั้ง 11 ชนิดได้ ผลการศึกษาเอกลักษณ์ทางเภสัชเวชของผลพุดซ้อน พบว่า มีปริมาณเถ้ารวม ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด น้ำหนักที่หายไปเมื่อทำให้แห้ง และปริมาณน้ำ ไม่ควรเกินร้อยละ 4.9, 0.7, 8.8 และ 10.0 ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำและเอทานอล ไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 26.9 และ 22.5 ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ในการวิเคราะห์หาปริมาณสารโครซินด้วยวิธียูวี/วิสิเบิล สเปคโตรโฟโตมิเตอร์ ได้มีการทดสอบความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ตามข้อกำหนดแนวทาง ICH ผลการทดสอบค่าความเป็นเส้นตรง ความถูกต้อง ความเที่ยงตรง และความคงทนของวิธีวิเคราะห์ ได้กราฟมาตรฐานในช่วงความเป็นเส้นตรงของความเข้มข้นระหว่าง 5-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และปริมาณสารโครซินที่พบในผลพุดซ้อนมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 7.55 มิลลิกรัมต่อกรัมของน้ำหนักแห้ง โดยสรุปผลที่ได้จากการศึกษาลักษณะทางจุลทรรศน์ อณูโมเลกุล และปริมาณสารโครซินของพืชสกุลพุด สามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการพิสูจน์เอกลักษณ์และการกำหนดมาตรฐานของพืชสกุลพุดและผลพุดซ้อนได้

เครื่องมือส่วนตัว