ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยาเฟนิทอยน์ในผู้ป่วยชาวไทย

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 13:35, 1 ตุลาคม 2560 โดย 56762013 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ยาเฟนิทอยน์ (phenytoin) เป็นยากันชักที่มีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยทุกระดับสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง และมีความคุ้มค่าด้านราคา แต่ทว่าการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง (severe cutaneous adverse drug reactions; SCARs) เช่น การเกิดสตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson syndrome; SJS), ท็อกซิก อีพิเดอร์มัล เนโครไลซิส (toxic epidermal necrolysis; TEN), drug reaction with eosinophilia and systemic symptoms (DRESS) และ drug hypersensitivity syndrome (DHS) เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดของการใช้ยาดังกล่าว ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษามากขึ้นว่าลักษณะทางพันธุกรรม (genetic factor) หรือยีน (gene) ของแต่ละบุคคลเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยาเฟนิทอยน์ รูปแบบของยีนเอช แอล เอ (HLA) ซึ่งเป็นยีนที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและปฏิกิริยาการแพ้ รวมถึงรูปแบบของยีนไซโตโครม พี 450 (cytochrome P 450; CYP) ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงยาและการขับยาเฟนิทอยน์ออกจากร่างกาย เป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่กำลังมีการศึกษาถึงความเกี่ยวเนื่องกับการแพ้ยาเฟนิทอยน์ในหลายๆ กลุ่มประชากร จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยชาวไทยที่เกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยาเฟนิทอยน์จำนวน 36 คน (เป็นผู้ป่วยที่เกิดผื่นแพ้ยาชนิด SJS จำนวน 15 คน และผู้ป่วยที่เกิดผื่นแพ้ยาชนิด DRESS/DHS จำนวน 21 คน) กับกลุ่มควบคุม คือ ผู้ป่วยที่ไม่แพ้ยาเฟนิทอยน์จำนวน 100 คน พบว่าผู้ป่วยที่มียีนเอช แอล เอ แบบ HLA-B*13:01, HLA-B*56:02/04 หรือมียีนไซโตโครม พี 450 แบบ CYP2C19*3 จะมีความเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงชนิด DRESS/DHS จากยาเฟนิทอยน์มากว่าผู้ป่วยที่ไม่มียีนดังกล่าวประมาณ 13, 56 และ 6 เท่า ตามลำดับ และผู้ป่วยที่มียีนไซโตโครม พี 450 แบบ CYP2C9*3 จะมีความเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงชนิด SJS จากยาเฟนิทอยน์มากว่าผู้ปวยที่ไม่มียีนดังกล่าวประมาณ 10 เท่า นอกจากนั้นพบว่าปัจจัยร่วมบางประการที่ไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม (non-genetic factor) เช่น การใช้ยาโอเมพราโซล (omeprazole) ร่วมด้วยระหว่างที่ใช้ยาเฟนิทอยน์ อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้ยาชนิด DRESS/DHS จากยาเฟนิทอยน์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้กับการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยาเฟนิทอยน์เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ในการทำนายและตรวจคัดกรองผู้ป่วยก่อนให้ยาเฟนิทอยน์ ในการป้องกันการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยาดังกล่าว

เครื่องมือส่วนตัว