แบบจำลองการวิเคราะห์การค้าโลก (GTAP Model)

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 12:21, 10 กุมภาพันธ์ 2554 โดย Hsoraj (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

แบบจำลอง GTAP Model

แบบจำลอง GTAP (Global Trade Analysis Project) เป็นแบบจำลอง CGE Model (Computable General Equilibrium) ที่ถูกสร้างและได้รับการพัฒนาโดย The Center for Global Trade Analysis แห่งมหาวิทยาลัย Purdue University และจากผู้ใช้งานแบบจำลองทั่วโลกผ่านทาง Website https://www.gtap.agecon.purdue.edu

ในประเทศไทยแบบจำลอง GTAP นิยมใช้เป็นแบบจำลองหลักในการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการค้าระหว่างประเทศ อาทิเช่น การปรับลดอัตราภาษีศุลกากร การรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งเขตการค้าเสรี การเปิดเสรีการค้าทั้งสินค้าและบริการในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งใช้ในการศึกษาผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ ผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศที่มี่ต่อการปล่อยมลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อม

แบบจำลอง GTAP สร้างขึ้นโดยการใช้สมการทางคณิตศาสตร์และเศรษฐมิติ (Econometric) เพื่อแสดงให้เห็นและเชื่อมโยงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของหน่วยทางเศรษฐกิจ 4 หน่วย ได้แก่

1. ผู้ผลิต (Firms or Producers)

2. ภาคครัวเรือนและภาครัฐ (Regional Households)

3. นักลงทุน (Regional Investors

4. ภาคการขนส่ง (Transportation Sectors)

โดยความสัมพันธ์ของผู้เล่นหลักทั้ง 4 หน่วยนี้สามารถแสดงให้เห็นได้ในแผนภาพด้านล่าง ภายใต้เงื่อนไขและข้อสมมติ คือ ประเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามข้อสมมตินี้จะยกเลิกในภายหลัง แต่เพื่อแสดงความสัมพันธ์ในเบื้องต้นจึงยังคงข้อสมมตินี้ไว้เพื่อลดความซับซ้อนในการอธิบายแบบจำลอง) (Hertel and Tsigas, 1997)

ไฟล์:gtap01.jpg


แบบจำลองทางด้านอุปสงค์ (Demand Side)

จากแผนภาพ แบบจำลอง GTAP สมมติให้ภาคครัวเรือนและภาครัฐ (Regional Households) ซึ่งเป็นผู้บริโภครายหลักในแบบจำลองมีจุดมุ่งหมายในการบริโภคเพื่อในตนเองได้รับความพึงพอใจสูงที่สุดจากการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งที่ผลิตได้เองภายในประเทศและที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยกำหนดในมีการใช้จ่ายซึ่งถูกควบคุมโดยสมการอรรถประโยชน์แบบ Cobb-Douglas Utility Function ซึ่งเป็นการกำหนดครัวเรือนและภาครัฐกำหนดพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของตนเพื่อให้ตนเองได้รับความพึงพอใจสูงที่สุด โดยครัวเรือนจะมีรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ ในสัดส่วนที่คงที่ โดยรายจ่ายของภาคครัวเรือนแยกออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายจ่ายของภาคเอกชน (Private Household Expenditure: PRIVEXP) รายจ่ายของภาครัฐ (Government Household Expenditure: GOVEXP) และรายจ่ายเพื่อการออม (Saving Expenditure: SAVE) โดยพฤติกรรมของภาคเอกชนและภาครัฐจะถูกควบคุมโดยค่าความยืดหยุ่นของการทดแทนกัน (Elasticities of Substitution) และยังถูกควบคุมโดยค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ (Consumer Demand Elasticity) และสมการแบบ Constant Difference Elasticity Function (CDE) โดยสมการในช่วงนี้ได้รับการปรับปรุงให้สามารถอธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระดับราคา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการลดมาตรการกีดกันทางการค้าลง โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี หรือเป็นการเพิ่มความสามารถของแบบจำลองให้สามารถอธิบายตัวแปรที่ได้รับการกระทบจากภาคการเงิน เป็นการเชื่อมโยงภาคการเงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง (Hertel and Tsigas, 1997; McDougall, 2002)

ภาคครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศ และ/หรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยกระแสเงินที่ไหลออกนอกประเทศ ได้แก่ VIPA: Value of Import Payment from ROW by Private households at Agents’ Prices, VIGA: Value of Import Payment from ROW by Government households at Agents’ Prices


แบบจำลองทางด้านอุปทาน (Supply Side)

รายได้ของภาคครัวเรือนและรัฐบาลที่จะใช้ในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดเกิดขึ้นจากการขายปัจจัยการผลิตให้กับผู้ผลิต (Firms or Producers) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไรสูงที่สุด (Profit Maximisation) จากแผนภาพ กระแสรายได้แสดงโดย VOA (endw) หรือ Value of Output at Agents’ price of endowment commodities ผู้ผลิตจะนำปัจจัยการผลิตเหล่านี้มาประกอบเข้ากับวัตถุดิบขั้นกลางทั้งที่ผลิตจากต่างประเทศ (VIFA) และที่ผลิตได้ในประเทศ (VDFA) มาผลิตเป็นสินค้าและบริการตอบสนองให้แก่อุปสงค์จากภาคครัวเรือนเอกชน (VDPA) ภาครัฐ (VDGA) และส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ (VXMD) นอกจากนี้ยังผลิตสินค้าทุนเพื่อตอบสนองอุปสงค์ต่อการออมและการลงทุน (REGINV) การตัดสินใจผลิตของผู้ผลิตจะถูกกำหนดโดยค่าความยืดหยุ่น Elasticity of Substitution และ Transformation Elasticities

ภาคสมมติที่เรียกว่า Global Bank ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ลงทุนที่ต้องการเงินทุนกับอุปสงค์ที่มีต่อการออมที่เกิดขึ้นจากภาคครัวเรือน ภาคสมมตินี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างปริมาณการออมและอัตราผลตอบแทนจากการออมที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ และการตัดสินใจลงทุนนี้ก็ถูกกำหนดโดยรูปแบบสมการ Constant Elasticity of Substitution (CES) Function เช่นเดียวกัน ในภาพที่ 10 หน่วยธุรกิจที่ไม่ได้แสดงในแผนภาพนี้คือ ภาคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Transportation Sectors) ซึ่งเป็นหน่วยสมมติเช่นเดียวกับ Global Bank ทำหน้าที่สร้างสมดุลระหว่างปริมาณการส่งออก และนำเข้าจากแต่ละประเทศ โดยภาคสมมตินี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ทำแบบจำลองใช้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วมูลค่าของภาคสมมตินี้สามารถคำนวณได้จากความแตกต่างระหว่างมูลค่าการส่งออกแบบ FOB (Free On Board) กับมูลค่าการนำเข้าของสินค้าเดียวกันในแบบ CIF (Cost, Insurance and Freight)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบจำลอง GTAP สามารถหาได้จาก Hertel and Tsigas (1997), Narayanan and Walmsley (2008) หรือ Website http://www.gtap.agecon.purdue.edu


ฐานข้อมูล GTAP Database

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้แบบจำลอง GTAP เป็นที่นิยมในการใช้งาน ก็เนื่องมาจากแบบจำลองนี้มาพร้อมกับฐานข้อมูลตารางโครงสร้างการผลิต (Input-Output Table)และชุดค่าคงที่ (Parameter) ต่างๆ ที่สำคัญของกระบวนการผลิตและการบริโภคของหน่วยต่างๆ ในแบบจำลอง ซึ่งแตกต่างจากแบบจำลองอื่นๆ ที่มักจะเป็นเพียงแบบจำลองเพียงอย่างเดียว ไม่มีฐานข้อมูลเป็นของตนเอง

นอกจากนั้นแล้ว The Center for Global Trade Analysis แห่งมหาวิทยาลัย Purdue University ยังอนุญาตให้ผู้ใช้งานแบบจำลองทั่วโลกสามารถปรับปรุงฐานข้อมูล GTAP ผ่านทาง Website https://www.gtap.agecon.purdue.edu ได้อีกด้วย ดังนั้นฐานข้อมูล GTAP จึงเป็นฐานข้อมูลที่ทันสมัยและมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา โดยฐานข้อมูลรุ่นล่าสุดเป็นฐานข้อมูล GTAP Version 7.1 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลใหม่ล่าสุดที่รวบรวมตารางโครงสร้างการผลิต (Input-Output Table) ของ 112 ประเทศทั่วโลก 57 ภาคการผลิต และ 5 ประเภทปัจจัยการผลิต โดยเป็นข้อมูลที่นำมาจากแต่ละประเทศทั่วโลกในปี พ.ศ. 2547

ประเทศที่มีข้อมูลในฐานข้อมูล GTAP เป็นดังนี้

ไฟล์:GTAP Country.jpg

ภาคการผลิตของแต่ละประเทศที่มีในฐานข้อมูล GTAP เป็นดังนี้

ไฟล์:GTAP Sector.jpg

และ ปัจจัยการผลิต 5 ประเภทของแต่ละประเทศที่รวมอยู่ในฐานข้อมูล GTAP ได้แก่ ที่ดิน แรงงานฝีมือ แรงงานไร้ฝีมือ สินค้าทุน และทรัพยากรธรรมชาติ

ข้อจำกัดของการใช้แบบจำลอง GTAP เพื่อการศึกษาผลกระทบเชิงปริมาณ

1. ข้อสมมติของแบบจำลอง GTAP คือ ข้อสมมติตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบ Neoclassical Economics โดยมีข้อสมมติที่สำคัญคือ มีการจ้างงานเต็มที่ ไม่มีการว่างงานในระบบเศรษฐกิจ การปรับตัวในระบบเศรษฐกิจเป็นการปรับตัวในระยะยาว (Long-run) โดยศึกษาผลจากการกระตุ้น (Shock) ดุลยภาพเดิมและผลที่จะเกิดเมื่อระบบเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ (New Steady State) แบบจำลอง GTAP ที่ใช้เป็นแบบจำลอง CGE (Computable Generation Equilibrium) model ใน Generation ที่ 1 ดังนั้นจึงมีข้อสมมติในเรื่องตลาดแข่งขันสมบูรณ์ และเป็นแบบจำลองในภาวะสถิต (Static) รวมทั้งรูปแบบสมการที่ใช้กำหนดพฤติกรรมของหน่วยต่างๆ ในแบบจำลองเป็นสมการรูปแบบ Constant Elasticity of Substitution (CES) Function

2. เนื่องจากเป็นแบบจำลองที่แสดงผลในเชิงปริมาณ (Quantitative) ดังนั้นตัวแปรทางด้านคุณภาพ (Qualitative) จึงถูกตั้งข้อสมมติ โดยข้อสมมติที่สำคัญในการศึกษาครั้งนี้คือ คุณภาพของปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน สินค้าทุนในทุกๆ ประเทศ และในทุกๆ ภาคการผลิตมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ (Homogeneous) นั่นคือ สมมติให้ ฝีมือ ลักษณะการทำงาน วิธีการทำงาน และคุณภาพงานมีลักษณะที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าจากประเทศใด

3. แบบจำลองจะประมวลผลอยู่บนตัวแปรทางเศรษฐกิจ ภายใต้มิติความสัมพันธ์ทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ปัจจัยอื่นๆ เช่น การเมือง การปกครอง ความมั่นคงของชาติ ความขัดแย้งทางความคิด ความรู้สึกของประชาชนจะไม่ถูกนำเข้ามาร่วมในการคิดคำนวณด้วยแต่อย่างใด ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงไว้เสมอคือ ผลการประมวลผลแบบจำลอง GTAP ควรถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงเท่านั้น ในการกำหนดนโยบาย ผลการประมวลผลแบบจำลองนี้ต้องนำไปเทียบเคียง และปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละภาคการผลิตนั้นๆ ก่อนเสมอ ดังนั้นในงานวิจัยฉบับนี้ การนำผลการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าบริการเชิงปริมาณไปใช้จะต้องถูกนำไปใช้ควบคู่กับการศึกษาผลกระทบเชิงคุณภาพด้วยเสมอ

4. เนื่องจากฐานข้อมูลของแบบจำลอง GTAP เป็นการรวบรวมข้อมูลตารางโครงสร้างการผลิต (Input-Output Table) จาก 112 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นความทันสมัยของฐานข้อมูลจึงเป็นข้อจำกัด

--Spiti 04:15, 13 สิงหาคม 2553 (BST)

เอกสารอ้างอิง

Hertel, T. W. & Tsigas, M. E. (1997) Structure of GTAP. IN HERTEL, T. W. (Ed.) Global Trade Analysis: Modeling and Applications. Cambridge, Cambridge University Press.

McDougall, R. (2002) A New Regional Household Demand System for GTAP. GTAP Technical Paper, Vol. 20 (Revision 1).

McDougall, R. & Hagemejer J (2006) Services Trade Data [online] Available at http://www.gtap.agecon.purdue.edu/resources/download/2865.pdf. [February 25, 2009].

Narayanan G. B. Walmsley T. L. (2008) Global Trade, Assistance, and Production: the GTAP 7 Data Base, Center for Global Trade Analysis, Department of Agricultural Economics, Purdue University.

Srisangnam, P. (2007) The Effect of ASEAN Economic Integration with the Special Reference to the Thai Economy. PhD Dissertation. University of Melbourne.

Walmsley, T., Ahmed S.A. and Parsons C. (2007) A Global Bilateral Migration Data Base: Skilled Labor, Wages and Remittances. GTAP Resource #1880 [online] Available at https://www.gtap.agecon.purdue.edu/resources/res_display.asp?RecordID=1880 [August 5, 2010]

Walmsley, T., Winters, A. and Ahmed S.A. (2007) Measuring the Impact of the Movement of Labor Using a Model of Bilateral Migration Flows. GTAP Technical Paper, Vol. 28. [online] Available at https://www.gtap.agecon.purdue.edu/resources/res_display.asp?RecordID=2529 [August 5, 2010]

ไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) (2009 [B.E.2552]) โครงการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อประเทศไทยจากความตกลงการค้าบริการและการลงทุนในกรอบความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-อินเดีย, เสนอต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.

ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา, คณะนิติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2009 [B.E.2552]) โครงการศึกษาผลกระทบจากการเปิดตลาดการค้าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม, เสนอต่อ สภาสถาปนิก.

เครื่องมือส่วนตัว