Lisandro Alonso

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 02:11, 25 กุมภาพันธ์ 2554 โดย Wchagkar (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

La libertad(ค.ศ.2001) Los muertos(ค.ศ.2004) และ Liverpool(ค.ศ.2008) ผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในงานไตรภาคที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ร่วมสมัย ส่วน Fantasma งานอีกชิ้นของลิซานโดร อลอนโซ(Lisandro Alonso) ถือเป็นเสียงโอดครวญแกมตัดพ้องานสามชิ้นนั่น ไล่มาตั้งแต่ชื่อหนังเลย นอกจากธรรมชาติใจอันเกรี้ยวกราดแล้วหนังของอลอนโซยังถึงพร้อมด้วยคุณลักษณ์โหดหินยิ่ง แค่ในชั้นจะหามาดูมายลก็เลือดตาแทบกระเด็น

มีเพียงนักวิจารณ์กลุ่มเล็ก ๆ คอยถือหาง หนังโฉบเข้าไปฉายที่เทศกาลเมืองคานส์(หรือหากจะจำเพาะเจาะจงลงไปคือ ฉายในวงย่อยที่ชื่อ Quinzaine des Realisateurs(Directors' Fortnight) อันเป็นชุมทางผลงานจากบรรดาผู้กำกับเสือสิงห์กระทิงแรดรุ่นใหม่อย่างอัลแบร์ต แซร์รา(Albert Serra) มิเกล โกเมซ(Miguel Gomes) รวมถึงรายา มาร์แต็ง(Raya Martin)) และเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติอีกแค่ 2 - 3 แห่งเท่านั้น ผลงานของอลอนโซทำเงินในตลาดอาร์เจนตินาบ้านเกิดเมืองนอนผู้กำกับได้ไม่ติดฝุ่นตลาดฝรั่งเศสด้วยซ้ำ

งานไตรภาคมีเอกภาพชัดเจน และก็เช่นเดียวกับยอดผู้กำกับทั้งปวง คำถามต่อโลกกลายเป็นคำถามของหนัง ในชั้นต้นหนังเหล่านี้ถือเป็นลูกติดพันของความหลากหลายจากการศึกษาตัวละครผู้แยกตัวจากสังคมมาอยู่ในวงล้อมของธรรมชาติ

มิซาล ซาอะเวดรา(Misael Saavedra) ตัวเอกของ La libertad เป็นคนงานตัดไม้ผู้รักสันโดษ ง่วนอยู่กับงานในใจกลางผืนป่า เขามีตัวตนอยู่จริง ชั่วแต่เพียงในการฉายภาพความ 24 ชั่วโมงนั้นในชีวิตของเขาผ่านหนังมีการเจือเหตุการณ์จากจินตภาพเข้าไปด้วย ฝีมือตัดไม้อันช่ำชองและความทุ่มเทตัวเองแก่งานของเขาไม่มีหลุดรอดจากคมกล้อง

แม้ว่าจะมีชื่อเดียวกันกับตัวละครที่เขาสวมบทแต่อาร์เจนติโน บาร์กัส(Argentino Vargas)ในชีวิตจริงก็หาได้เป็นนักโทษที่กำลังแล่นเรือล่องไปตามแม่น้ำใน Los muertos ไม่ กล้องตามเก็บภาพทุกอิริยาบถเหมือนตั้งคำถามเงียบ ๆ ว่าเหตุไฉนเขาฆ่าได้ลงคอและเขาจะก่อเหตุอีกหรือไม่

หนังทั้งสองเรื่องหมกมุ่นกับการเ้ฝ้าสังเกตพฤติกรรมมนุษย์โดยมิได้ให้ข้อมูลใด ๆ นอกเหนือไปจากอากัปกิริยาและอิริยาบถ และต่างมุ่งสำรวจขีดจำกัดของอารยธรรมเพื่อสาวไปให้ถึงอนุภาคสุดท้าย(แรกเริ่ม)ของมนุษยชาติ

แต่อลอนโซไม่ได้เป็นนักมานุษยวิทยาบ้ากล้อง งานของเขามาจากการค้าหาแนวทางของนักทำหนังและไม่คิดจะหยุดอยู่เพียงการเก็บภาพพฤติกรรมประหลาด ๆ ท่ามกลางภูมิทัศน์สุดจะพรรณนา หนังของเขาบ่มความใคร่รู้ด้วยปริศนาในตัวผู้ถูกจับจ้อง พิกัดของผู้สังเกตการณ์ และกระบวนการทำงานของกล้องเอง ฉันใดก็ฉันนั้น ใน Fantasma อันเป็นงานสุดพิลึก อลอนโซพรากมิซาลและอาร์เจนติโนสองตัวชูโรงจากหนังสองเรื่องแรกมาไกลจากภูมิลำเนาร่วมสองพันกิโลเมตรสู่โรงละครซานมาร์แตง(San Martin Theatre)ในบูเอโนส ไอเรส ซึ่งถูกเนรมิตให้เป็นโรงภาพยนตร์ Fantasma ขับเคลื่อนตัวเองผ่านบรรยากาศอันเลื่อนลอย ตัวละครเดินขึ้น-ลงบันได โผล่ไปนั่งในโรงหนัง พยักเพยิดกับผู้คนตามเฉลียงและสำนักงาน แต่ไม่ได้เข้าไปดูหนังให้เป็นเรื่องเป็นราว

มีการรับรู้และโลกอยู่อีกฟากของแก้วเสมอ หนังฉายภาพอาการลงแดงของคนทำหนังผู้พบว่าหาใช่ดินแดนพื้น ๆ ที่มีอยู่ดาษดื่นในเอกภพภาพยนตร์ วิชาชีพได้นำเขาไปยังห้วงขุมอันบรรจุด้วยประสบการณ์ดุจเดียวกับตัวละครของเขาเคยไปสัมผัสมาแล้ว อลอนโซสร้าง Fantasma เป็นการแก้ขัดในคราวขัดสนทุนดำเนินการผลิต Liverpool อัน Liverpool นี้ อลอนโซวาดหวังจะให้เป็นภาคต่อของหนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ของเขา

ดูเผิน ๆ Liverpool แตกต่างจาก La libertad และ Los muertos อยู่บ้าง จัดเป็นงาน 35 มม.เตมีย์ใบ้สุดทรงพลัง เพื่อสืบทอดเจตนาในการถ่ายทอดความงามและคุณภาพของภาพซึ่งจะหาได้จากการถ่ายทำและบันทึกด้วยฟิล์มเท่านั้น อลอนโซปฏิเสธดิจิทัล

ตัวเอกฟาร์เรล(Farrel)เป็นกลาสีผู้แปลกแยกและลึกลับ เขามากับเรือสินค้าที่มีปลายทางอยู่ที่ยูเชอเีอีย(Ushuaia) เมืองใต้สุดของโลก พอถึงที่หมายเสร็จสรรพเขาก็ขออนุญาตกัปตันเรือไปเยี่ยมแม่โดยที่ก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นตายร้ายดีประการใด ดวงวิญญาณเขาชอกช้ำ ติดเหล้าและเข้าสังคมไม่ได้ เช่นเดียวกับชาวอาร์เจนไตน์มักเป็น เขาแบกอดีตอันคลุมเครือคืนสู่เหย้า เขาเดินทางลึกเข้าไปใน Tierra del Fuego ดินแดนสุดทุรกันดาร มุ่งไปยังโรงเลื่อยที่ซึ่งมีภูมิอากาศหฤโหดบ้าคลั่ง ไม่ปราณีแก่ทุกชีวิตที่ล่วงล้ำ ณ ที่นั่นเขาได้พบกับ 3 ชีวิต แม่ที่กำลังจะสิ้นลม เธอจำเขาไม่ได้ อีกคนเหมือนจะเป็นน้องสาวของเขา เธอพิการ และอีกคนเป็นชายแก่ที่คอยดูแลผู้หญิงสอนคนนั่น ฟาร์เรลขลุกอยู่ที่นั่น 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็ตกลงใจบ่ายหน้ากลับสู่การเดินทางของตน จรดเท้าจากไป ปล่อยให้เรื่องราวขับเคลื่อนไปโดยปราศจากตัวเขา

การตัดหางปล่อยวัดตัวละครเอกโดยกล้องถือเป็นข้อแตกต่างสำคัญระหว่างงานชิ้นนี้กับหนังสองเรื่องก่อนหน้า หลังจากฟาร์เรลจากไป กล้องก็หันมาจับความเป็นไปในโรงเลื่อยว่าไปตามกิจวัตรในแต่ละวันของคนที่อยู่ร่วมชายคา

ฟาร์เรลไม่ใยดีครอบครัวได้ หนังก็ทิ้งขว้างเขาเป็นการตอบแทนได้เช่นกัน ฝีภาพก่อน ๆ จะเห็นภาพสถานที่ที่ครั้งหนึ่งฟาร์เรลเคยทิ้งไว้เบื้องหลังซึ่งกล้องผูกเป็นปมทิ้งไว้ตามรายทาง เหมือนเป็นการคาดเดาการตัดสินใจของเขาในกาลต่อมา การเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวถือว่ามีนัยยะเข้มข้นสำหรับผู้กำกับสมถะนิยม(a minimalist film-maker)อย่างอลอนโซผู้พิสมัยการย่ำรอยเดิม ทั้งยังนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของขนบการผลิตงานของเขาด้วย

หลังจากก้มหน้าก้มตาติดสอยห้อยตามตัวละครในงานสองชิ้นก่อนหน้าและไม่อาจหาข้อยุติได้ว่าบทบาทของคนทำหนังคือการรักษาช่องว่างกับพฤติกรรมของตัวละคร หรือเปิดโปงความลับของตัวละครกันแน่ ดูราวกับว่าอลอนโซปลงตกเสียทีว่าปัญหาที่แท้จริงคือบทบาทของเขาในฐานะคนทำหนัง ความพยามยามของอลอนโซที่จะฝ่าแนวต้านของโลกอารยะนำเขาและฟาร์เรลไปตื่นตากับความดิบเถื่อน แต่ฟาร์เรลก็ทนไม่ได้และหลบลี้ไปเป็นครั้งที่สอง

ใน La libertad และ Los muertos กล้องคอยตามตัวละครเอกแจเป็นเงาตามตัว มาบัดนี้ตัวละครกับกล้องถึงคราวแตกคอ ในเชิงทวิภาพ(duality) ฟาร์เรลสวมรอยสถานะของคนทำหนัง เหมือนกับเขารู้แล้วว่ากล้องไม่มีความหมายกับชีวิต รังแต่คอยผสมโรงเข้าทำนองนายว่าขี้ข้าพลอยและแทรกซึมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเช่นเดียวกับตัวเขา คนแก่สองชีวิตและหญิงสาวดำรงชีพอยู่ในโลกของพวกเขาอันเป็นโลกแห่งความจริงถ่องแท้ เมื่อกล้องตกลงใจจะยืนหยัดเคียงข้างคนเหล่านั้นก็คล้ายจะการสถาปนาพันธะสัญญาแห่งยูโทเปียว่าด้วยภาพยนตร์ทองเนื้อเก้า ภาพยนตร์ที่ไม่หวั่นกับทุกปลายทางของการแสวงหา

http://www.bfi.org.uk/sightandsound/feature/49486

เครื่องมือส่วนตัว