แมวหลอดแก้ว

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 07:00, 21 มีนาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

แมวหลอดแก้ว


ปัจจุบันสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าตระกูลแมวมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วโลกมีสัตว์ตระกูลแมวป่าทั้งสิ้น 38 สายพันธุ์ (มีในประเทศไทย 9 สายพันธุ์) แมวป่าทั้งหมดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ป่าหายาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ ทั้งนี้เนื่องจากถูกไล่ล่าอย่างผิดกฎหมายและพื้นที่ป่าที่ลดลง

จากวิกฤติดังกล่าว คณาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บรักษาพันธุกรรมสัตว์ป่าหายากในรูปแบบต่างๆ เช่น การแช่แข็งน้ำเชื้อ ตัวอ่อน และเนื้อเยื่อระบบสืบพันธุ์ โดยทำการศึกษาในสัตว์ต้นแบบหรือสัตว์ที่มีสรีรวิทยาใกล้เคียงกับสัตว์ป่า เพื่อให้ทราบประสิทธิภาพของเทคโนโลยีก่อนที่จะนำไปใช้จริงกับสัตว์ป่า

กระทั่งปี 2551-2553 ทางคณะผู้วิจัยนำทีมโดย ศ.นสพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ ได้กำหนดทิศทางงานวิจัยและริเริ่มโครงการการแช่แข็งเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) เพศเมีย (ไข่ หรือ โอโอไซต์) และการแช่แข็งตัวอ่อน โดยได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากทางองค์การสวนสัตว์ฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านทางโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกอ.-สกว. ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรักษาพันธุกรรมสัตว์ในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการแช่แข็งอสุจิ และสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อปรับหรือนำไปใช้ในการเก็บพันธุกรรมสัตว์ป่าตระกูลแมว

แผนงานวิจัยดังกล่าว ผศ.นสพ.ดร.ธีรวัฒน์ ธาราศานิต และคณะได้ศึกษาประสิทธิภาพการแช่แข็งตัวอ่อนแมวบ้านที่ผลิตจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (ไอวีเอฟ ตัวอ่อนหลอดแก้ว) และพบว่าเมื่อทำการสลายไขมันในตัวอ่อนบางส่วนด้วยสารเคมีบางชนิดสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแช่แข็งตัวอ่อนแมวบ้านได้ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อย้ายฝากตัวอ่อนแช่แข็งไปยังตัวรับพบว่าอัตราการตั้งท้องของตัวอ่อนที่ผ่านการแช่แข็งไม่แตกต่างกับตัวอ่อนสดหรือตัวอ่อนที่ไม่ได้ผ่านการแช่แข็ง

ความสำเร็จการแช่แข็งตัวอ่อนด้วยวิธีดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลก ลูกแมวที่เกิดจากเทคนิคการแช่แข็งดังกล่าวจำนวน 2 ตัว (เป็นตัวผู้ทั้งสองตัว) คลอดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ปัจจุบันมีสุขภาพปกติแข็งแรงดี ความสำเร็จจากการแช่แข็งตัวอ่อนแมวบ้านแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและทางทีมงานวิจัยมั่นใจว่าหากมีการพัฒนาศักยภาพและเทคนิคการแช่แข็งเซลล์สืบพันธุ์และตัวอ่อนอย่างต่อเนื่องจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการเก็บรักษาพันธุกรรมสัตว์พันธุ์ดี โดยเฉพาะสัตว์ป่าตระกูลแมวในประเทศไทย


ที่มาข้อมูล

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มติชน ฉบับวันที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข่าวสด ฉบับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

เครื่องมือส่วนตัว