หัวใจห้องบนสั่นพริ้ว

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 04:34, 22 มีนาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

โรคหัวใจห้องบนเต้นแบบสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation : AF)

หัวใจของเราเต้นในอัตราปรกติ 60 ถึง 100 ครั้งต่อนาที ซึ่งประมาณ 80,000 ถึง 150,000 ครั้งในหนึ่งวัน สำหรับผู้มีอายุถึง 80 ปีนั้น หัวใจได้เต้นมาแล้วเฉลี่ยประมาณ 3 พันล้านครั้ง การทำหน้าที่สูบฉีดเลือดแบบไม่หยุดหย่อนนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก (โดยปรกติ หัวใจของเราไม่ได้เต้นคงที่เหมือนนาฬิกาเดิน แต่จะมีความผันแปรเป็นธรรมชาติได้ตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเต้นผิดจังหวะ) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่หัวใจจะเต้นสะดุด หรือเต้นผิดจังหวะบ้างในบางครั้ง


ไฟล์:หัวใจเต้นผิดจังหวะ.jpg


โรคหัวใจห้องบนเต้นแบบสั่นพริ้ว

โรคหัวใจห้องบนเต้นแบบสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation : AF) หรือ การเต้นผิดจังหวะของหัวใจแบบต่อเนื่อง เป็นโรคหัวใจที่แพร่หลายที่สุดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แผนภูมิข้างล่างแสดงในเห็นถึงความชุกของโรค AF ของประชากรในสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลทางสถิติที่ชัดเจน


อาการของโรค

อาการของโรค AF ส่วนใหญ่ที่พบคือ ใจสั่นและเหนื่อยหอบ แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่แสดงอาการใดๆ ระหว่างเกิด AF เลย ถึงแม้โรคหัวใจชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตโดยตรง แต่มีผลแทรกซ้อนที่ทำให้เส้นเลือดในสมองอุดตัน (embolic stroke) เป็นอัมพฤกษ์และทำให้เสียชีวิตได้ สาเหตุเนื่องจากระหว่างเกิด AF หัวใจห้องบนไม่ได้บีบตัวตามปรกติ ทำให้มีเลือดบางส่วนไม่ได้รับการไหลเวียน จึงจับตัวกันเป็นลิ่มเลือดและหลุดไปอุดตันเส้นเลือดในอวัยวะสำคัญได้ โรค AF จึงถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างทันท่วงที


ไฟล์:แผนภูมิข้างล่างแสดงให้เห็นถึงความชุกของโรคAF.jpg

แผนภูมิแสดงถึงความชุกของโรค AF ของประชากรในสหรัฐอเมริกา


การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรค AF ด้วยการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะกับ AF ชนิด paroxysmal ซึ่งมีลักษณะเป็นๆ หายๆ เนื่องจากการตรวจ EKG ทั่วไป จะวัดคลื่นหัวใจเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งในขณะนั้นผู้ป่วย AF อาจมี EKG ที่ปรกติ (sinus rhythm) ทำให้การตรวจพบ AF มักขึ้นกับความบังเอิญ หรือมักตรวจพบภายหลังจากผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว อีกทั้งการได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและความถี่ในการเกิด AF ของผู้ป่วยในแต่ละครั้ง ต้องเริ่มจากการบันทึก EKG อย่างต่อเนื่องด้วยเครื่องตรวจวัด EKG แบบพกพา (Holter monitor) หลังจากนั้นจึงใช้คอมพิวเตอร์อ่านและวิเคราะห์ EKG ที่ถูกบันทึกลงใน memory card กระบวนการดังกล่าวนอกจากจะซับซ้อนและต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว ยังไม่สะดวกในเชิงปฏิบัติและได้ผลล่าช้าอีกด้วย


การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับโรคหัวใจห้องบนเต้นแบบสั่นพริ้ว

จากข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าว จึงได้มีการพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อตรวจจับโรค AF จาก EKG โดยอัตโนมัติที่มีความแม่นยำสูง อีกทั้งเป็นอัลกอริทึมที่สามารถตรวจจับ AF ได้แบบ realtime ซึ่งสามารถแจ้งเตือนผู้ป่วยในขณะเกิด AF ได้ทันทีให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่หัวใจต้องทำงานหนัก และสามารถตรวจวัดระยะเวลาเกิด AF ที่ผ่านมาแล้วได้ทันที ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการบำบัดรักษาโรค AF ได้อย่างถูกต้องตามหลักการ ช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มมากขึ้นตามการแพทย์และสาธารณสุขที่ก้าวหน้า แต่จำนวนแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจยังมีจำนวนจำกัด ดังนั้นการพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วยวิเคราะห์และตรวจจับโรคหัวใจแบบ realtime ประกอบกับการใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต ในการรับส่งข้อมูลระหว่างแพทย์และผู้ป่วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการวินิจฉัยโรค เป็นการช่วยประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและบำบัดรักษา อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายและสะดวกขึ้นอีกด้วย


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ อ. ดร.อภิวัฒน์ เล็กอุทัย อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว