ทุนมนุษย์

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 09:28, 22 มีนาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ความสำคัญของ Human Capital

ทุนมนุษย์ (Human Capital) ถือเป็นสินทรัพย์ประการหนึ่งขององค์กร โดยเป็นสินทรัพย์ที่วัดไม่ได้ (Intangible Assets) ซึ่งสินทรัพย์ที่วัดไม่ได้ภายในองค์กรมีอยู่มากมาย แต่สินทรัพย์ที่วัดไม่ได้เหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากน้อยเพียงใดก็ต่อเมื่อสินทรัพย์เหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบกลยุทธ์ขององค์กร หรืออีกนัยหนึ่งคือสนับสนุนและสอดคล้องต่อกลยุทธ์ขององค์กรนั้นเอง ดังนั้นเมื่อจะพิจารณามูลค่าของสินทรัพย์ที่วัดไม่ได้จึงจะต้องเริ่มต้นจากกลยุทธ์ขององค์กรเป็นสำคัญ จากนั้นถึงพิจารณาว่ามีสินทรัพย์ใดบ้างที่สอดคล้องและสนับสนุนต่อกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งสินทรัพย์ที่วัดไม่ได้ที่สอดคล้องและสนับสนุนต่อกลยุทธ์ขององค์กรจะมีคุณค่ามากกว่าสินทรัพย์ที่วัดไม่ได้ธรรมดา


ปัจจัยด้านทุนมนุษย์ที่สำคัญ

1. ความสามารถหรือทักษะที่สำคัญ (Strategic Skills/Competencies) ซึ่งได้แก่ทักษะ ความสามารถ และความรู้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร (กว่าร้อยละ 80 ของ Balanced Scorecard ที่สำรวจที่มีการกำหนดปัจจัยด้านนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักทางด้านการเรียนรู้และการพัฒนา)

2. ภาวะผู้นำ (Leadership) ได้แก่ความพร้อมและความสามารถของผู้นำในระดับต่างๆ ขององค์กร เพื่อทำให้การดำเนินงานขององค์กรมุ่งสู่กลยุทธ์ที่ได้ตั้งไว้ (ร้อยละ 90 ของ Balanced Scorecard ที่สำรวจได้มีการให้ความสำคัญกับปัจจัยในด้านของผู้นำ)

3. วัฒนธรรมองค์กรและการรับรู้ในกลยุทธ์ขององค์กร (Culture & Strategic Awareness) หมายถึงการรับรู้ในวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และการมีวัฒนธรรมที่ร่วมกันในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (ร้อยละ 90 ขององค์กรที่สำรวจให้กับความสำคัญกับปัจจัยประการนี้)

4. ความสอดคล้องร่วมกันภายในองค์กร (Strategic Alignment) ได้แก่ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ เป้าหมายในการดำเนินงาน รวมถึงปัจจัยในการจูงใจ (Incentives) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรในทุกระดับ (ร้อยละ 70 ให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้)

5. การแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้ (Strategic Integration & Learning) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร (ร้อยละ 60 ให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้)


ปัจจัยทางด้านทุนมนุษย์ที่ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญ

1. Strategic Skills/Competencies การทำ Balanced Scorecard จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดทักษะและความสามารถที่สำคัญที่บุคลากรในระดับต่างๆ ขององค์กรจะต้องมีเพื่อทำให้กลยุทธ์ที่วางไว้ได้เกิดขึ้นจริง ดังนั้นช่องว่าง (Gap) ที่เกิดขึ้นระหว่างทักษะที่บุคลากรควรจะมีและทักษะที่บุคลากรมีอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรที่จะหาทางลด

2. Leadership จะคล้ายกับในเรื่องของ Strategic Skills/Competencies ในแง่ที่องค์กรสามารถที่จะกำหนดคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำในแต่ละระดับจาก Balanced Scorecard และสามารถหาช่องว่าง (Gap) ระหว่างคุณลักษณะของภาวะผู้นำที่ควรจะมีและที่มีอยู่ในปัจจุบัน และหาแนวทางในการลดช่องว่างนั้นเช่นเดียวกัน

3. Culture & Strategic Awareness ลักษณะของวัฒนธรรมที่องค์กรต้องการที่จะมีได้ถูกกำหนดขึ้นจากกลยุทธ์ขององค์กร จากนั้นจะมีการสำรวจทั้งลูกค้าและพนักงานเพื่อหาความสอดคล้องและเชื่อมโยงของวัฒนธรรมทั่วทั้งองค์กร

4. Strategic Alignment เนื่องจาก Balanced Scorecard จะทำให้เป้าหมายในการทำงานและผลตอบแทน (Incentives) ของบุคลากรทุกคนสอดคล้องต่อกลยุทธ์ขององค์กร ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักที่องค์กรทุกแห่งควรจะมีก็คือความสอดคล้องทั้งในด้านเป้าหมายและผลตอบแทนของบุคลากรทั้งองค์กรต่อกลยุทธ์ขององค์กร

5. Strategic Integration & Learning การจัดทำ Balanced Scorecard จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถที่จะกำหนดลำดับความสำคัญของสิ่งที่องค์กรจะต้องรีบเร่งดำเนินการไม่ว่าจะเป็นในด้านของการให้บริการลูกค้า การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือในด้านการผลิต ซึ่งองค์กรจะต้องหาทางในการพัฒนาและแบ่งปันความรู้ไปในด้านที่มีความเร่งรีบที่จะพัฒนาเหล่านี้


การเพิ่มความสามารถในการทำงานของสมองด้วย Organizational Intelligence

1. เมื่อคนเราอายุมากขึ้น (โดยเฉพาะระหว่างอายุ 45 และ 55) สมองคนเราจะทำงานช้าลงประมาณร้อยละ 15 ดังนั้นถ้าท่านอยู่ในวัยนี้จงหลีกเลี่ยงจากการตัดสินใจต่างๆ ที่ต้องอาศัยความเร็วแต่ให้อาศัยประสบการณ์เป็นตัวที่ช่วยในการตัดสินใจแทน

2. ในช่วง 3 ชั่วโมงแรกของวันเป็นช่วงที่ความทรงจำระยะสั้นของคนเรา (ความทรงจำระยะสั้นหรือ Short-term memory เป็นความทรงจำที่เราใช้ในการคิด วิเคราะห์ หรือแก้ไขปัญหา) ดีที่สุด ดังนั้นการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาหรือการวิเคราะห์สิ่งใดก็ตามควรจะทำในช่วงเช้าของแต่ละวัน หลังจากนั้นอีก 10 ชั่วโมงต่อมา สมองของคนเราจะเหมาะสมกับการทำงานที่ไม่ต้องอาศัยสมาธิมาก หรือเป็นงานที่มีลักษณะสั้นๆ

3. การรับทานช็อกโกแลตดำจะเป็นการเพิ่มกรดอมิโนในร่างกายและลดโมเลกุลที่ทำให้เกิดความหดหู่ เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่เราเคยได้ยินมาว่าการกินช็อกโกแลตทำให้คนมีความสุขก็คงไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอยหรือเหลวไหล

4. การทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิ ควรจะหลีกเลี่ยงจากเสียงรบกวนที่เป็นเสียงคน ทั้งนี้เนื่องจากเสียงมนุษย์เป็นเสียงที่รบกวนความสามารถในการทำงานเป็นอย่างมาก ความฉลาด/ความสามารถในการทำงานจะลดลง 1/3 ทั้งนี้เนื่องจากเสียงต่างๆ จะถูกรับรู้ ดูดซับ ประมวลผล และเก็บไว้ในสมองคน ทำให้เนื้อที่ของสมองในการทำงานและตัดสินใจลดน้อยลง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าการถูกรบกวนจากการโทรศัพท์หรือแขกจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพลดลง ท่านผู้อ่านอาจจะลองดูตัวท่านเองก็ได้ว่าโดยปกติในการทำงานนั้นจะถูกรบกวนบ่อยมากน้อยเพียงใด จากการสำรวจพบว่าสถานที่ทำงานที่เปิดโล่งไม่มีห้องหรือคอกกั้นผู้ทำงานจะถูกรบกวนทุก 6 นาที ห้องทำงานที่เปิดประตูอยู่ตลอดจะถูกรบกวนทุก 12 นาที และห้องทำงานที่ปิดประตูจะถูกรบกวนทุก 24 นาที

5. นอกจากในเรื่องของการรบกวนแล้วนายแพทย์ท่านนี้ยังพบว่าระดับเสียงรบกวนในการทำงานที่เรารับได้มากที่สุดคือ 50 เดซิเบล ในขณะที่เสียงรบกวนทั่วๆ ไปในที่ทำงานที่มีลักษณะเปิดโล่งจะอยู่ที่ประมาณ 65 เดซิเบล

6. มีการวิจัยและพบว่าหน้าคนและเสียงของคนนั้นทำให้เลือดหมุนเวียนไปที่สมองส่วนหน้าน้อยลงเกือบร้อยละ 50 ดังนั้นในการตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ที่ต้องทำต่อหน้าคนจำนวนมากจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่สูงสุด ดังนั้นท่านผู้อ่านอาจจะเห็นได้ว่าการตัดสินใจหลายๆ อย่างในห้องประชุมนั้นไม่ใช้การตัดสินใจที่ดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากในการประชุมท่านจะต้องเจอหน้าคนและได้ยินเสียงคนตลอดเวลา ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าได้ไม่เต็มที่

7. จะมีช่วงเวลาที่สำคัญสองช่วงในแต่ละวันที่สมองของคนเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด ได้แก่ช่วงก่อนเที่ยงและช่วงหลังเที่ยง ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ว่าจริงเนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่หิวและอิ่มที่สุดในแต่ละวัน แต่จริงๆ แล้วหลักฐานทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าช่วงก่อนเที่ยงน้ำตาลในเลือดจะน้อยทำให้การตัดสินใจของสมองเราไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร และตอนหลังเที่ยงเลือดที่ควรจะไปเลี้ยงสมองเราจะถูกแบ่งเพื่อไปช่วยกระเพาะของเราย่อยอาหาร

8. ปริมาณของแสงสว่างที่เหมาะสมในการทำงานอยู่ที่ประมาณ 500 ลักซ์ (หน่วยวัดความสว่างของแสง) แต่แสงจากเพดานในที่ทำงานส่วนใหญ่จะสว่างไม่ถึง และได้มีการวิจัยที่พบว่าที่แสงสว่าง 400 ลักซ์ ผู้บริหารจะมีอัตราความผิดพลาดในการอ่านตัวเลขและข้อมูลประมาณ 7%


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว