การประเมินผลแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550 - 2554) ระยะกลางแผน

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

บทคัดย่อ

การประเมินผลแผนพัฒนาการนันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลแผนพัฒนาการนันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะกลางแผนและเพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านนันทนาการกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะครึ่งแผน วิธีดำเนินการประเมินโดยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเอกสารและเก็บข้อมูลภาคสนามจากการนิเทศแผนฯ ทั้ง 4 ภาค และจากการใช้แบบสอบถามกับประชาชน ผู้บริหารและนักเรียนนักศึกษา และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในเขตกรุงเทพมหานคร ผลการประเมินพบว่า จากวัตถุประสงค์ของแผน ฯ มีเป้าหมาย 6 ข้อใหญ่และ 7 ข้อย่อย รวม 13 ข้อ ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย 9 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 69.23 จาก 3 ยุทธศาสตร์ 9 ผลผลิต และมีตัวชี้วัด 16 ข้อ เป็นไปตามตัวชี้วัด 8 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 50 โดยภาพรวมผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะกลางแผนได้ตามเป้าหมายและตัวชี้วัดคิดเป็นร้อยละ 58.62


ความสำคัญของปัญหา

สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการมีภารกิจหลักในการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในชาติให้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการเสริมสร้างให้สังคมแข็งแรง ตั้งแต่ครอบครัวและชุมชน โดยมีแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) เป็นแม่บทในการพัฒนากีฬาของชาติ และมีแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนที่สุดที่ นร 0506/24648 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2550 (สำนักส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ, 2551) เพื่อเป็นแม่บทกำหนดกรอบ การพัฒนาด้านนันทนาการของชาติโดยเฉพาะ รวมทั้งการจัดทำคู่มือการแปลงแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) สู่การปฏิบัติ (สำนักส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ, 2551) ซึ่งแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้ดำเนินการมาระยะครึ่งแผน พ.ศ. 2550-2552


วัตถุประสงค์ของการประเมิน

1. เพื่อติดตามประเมินผลแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะกลางแผน

2. เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านนันทนาการกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน


ประโยชน์ที่ได้รับจากการประเมิน

1. ได้ทราบผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน พ.ศ. 2550-2552

2. ได้ข้อมูลสารสนเทศสำหรับการนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)

3. ผลการประเมินแผนฯ ครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานกาณ์ของประเทศปัจจุบัน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนันทนาการของชาติ


วิธีดำเนินการประเมิน

1. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเอกสารของหน่วยงานหลัก เช่น รายงานประจำปี รายงานผลการวิจัย และเว็บไซด์ของราชการ เป็นต้น

2. เก็บข้อมูลภาคสนามโดยการจัดอบรมนิเทศแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) 4 ภาค ได้แก่

ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

ภาคกลาง จังหวัดชลบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น

ภาคใต้ จังหวัดสงขลา

3. เก็บข้อมูลภาคสนามโดยใช้แบบสอบถาม ส่งไปยังผู้ประสานงานสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดทั้ง 21 จังหวัด เก็บรวบรวมแบบสอบถามจากเด็ก เยาวชน ประชาชน ผู้บริหารสถานศึกษา นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนท้องถิ่น ส่วนกรุงเทพมหานครขอให้ผู้ประสานงานจากกองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งจำนวนข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์ทางสถิติได้จากเด็ก เยาวชน และประชาชน 2,834 คน อบจ. อบต. เทศบาล สำนักงานเขต 821 คน และผู้บริหารสถานศึกษา 814 คน

3.1 การสำรวจการใช้เวลาว่างและการประกอบกิจกรรมนันทนาการของประชาชน

3.2 การศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษา

3.3 การศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในเขตกรุงเทพมหานคร


ขอบเขตของการประเมินผล

การประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน มีขอบเขตดังนี้

1. ประเมินผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน รวม 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ เฉพาะผลผลิตและตัวชี้วัด

2. ศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษา สำนักงานเขตและศูนย์เยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร

4. สำรวจการใช้เวลาว่างและการประกอบกิจกรรมนันทนาการของประชาชน

5. หน่วยงานหลักที่เก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่

- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

- กระทรวงศึกษาธิการ

- กระทรวงมหาดไทย

- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

- กระทรวงวัฒนธรรม

- กระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร

- สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

- สำนักกองทุนสนันสนุนวิจัย

- องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น

- กรุงเทพมหานคร


ขั้นตอนของการประเมิน

1. กำหนดองค์ประกอบและตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)

2. จัดทำรูปแบบการประเมินและแบบสอบถาม โดยผ่านผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบคุณภาพแล้ว

3. ดำเนินการเก็บข้อมูลทั้งข้อมูลเชิงเอกสารและข้อมูลภาคสนาม

4. ประมวลผลข้อมูล

5. จัดทำรายงานผลการประเมินแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)


สรุปผลการประเมิน

ผลการประเมินแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน

1. สรุปผลการประเมินตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผน ฯ

1.1 วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์และนันทนาการสู่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยขอความร่วมมือจากสื่อทุกแขนง ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ เป้าหมาย

ประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งกลุ่มบุคคลพิเศษและผู้ด้อยโอกาส มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของการใช้เวลาว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำจนเป็นวิถีชีวิต โดยมีเป้าหมายร้อยละ 60 ในปี พ.ศ. 2554

ผลการดำเนินงาน

1. ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของการใช้เวลาว่าง (ร้อยละ 42.8) เป็นภาคกลาง(ร้อยละ 45.4) และกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 44.6)

2. ประชาชนทุกเพศทุกวัยใช้เวลาว่าง ดูละครในโทรทัศน์ ร้อยละ 68.8 ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (ร้อยละ 62.4) และพักผ่อน(ร้อยละ 50.9)

3. ประชาชนประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ ได้แก่ ดูละครในโทรทัศน์ (ร้อยละ 40.2) เล่นเกมและกีฬา (ร้อยละ 25.2) และงานอดิเรก (ร้อยละ 22.3)

    สรุปผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย

1.2 วัตถุประสงค์ข้อทิ่ 2 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมทั้งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมาย

- เด็ก และเยาวชน ร้อยละ 80 มีความรู้ ความเข้าใจ และมีเจตคติที่ดีต่อนันทนาการรวมทั้งการศึกษาการใช้เวลาว่างและการประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

- สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 60 จัดให้มีการศึกษาการใช้เวลาว่างและนันทนาการ รวมทั้งจัดให้มีกิจกรรมนันทนาการในชีวิตประจำวันแก่นักเรียน เยาวชน และประชาชนในชุมชน

- ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงาน

1. เด็ก มีความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าการใช้เวลาว่าง (ร้อยละ 46.4)

2. เยาวชน มีความรู้ ความเข้าใจและเห็นคุณค่าการใช้เวลาว่าง (ร้อยละ 45.4)

3. เด็กใช้เวลาว่างดูละครทีวี (ร้อยละ 75.5) ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (ร้อยละ 65.0)และการประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ ได้แก่ ดูละครในโทรทัศน์ (ร้อยละ 44.1) และเล่นเกมและกีฬา (ร้อยละ 31.0)

4. เยาวชนใช้เวลาว่างดูละครในโทรทัศน์(ร้อยละ 65.7) และออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (ร้อยละ 64.3) และประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ ได้แก่ ดูละครในโทรทัศน์ (ร้อยละ 42.7) และดนตรี/ร้องเพลง (ร้อยละ 29.5)

5. สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนนันทนาการ (ร้อยละ 99.4) และมีชมรมกีฬา/การออกกำลังกายชนิดต่างๆ (ร้อยละ 98.3) ชมรมดนตรีและชมรมทางศาสนา (ร้อยละ 96.4) เท่ากัน

6. สถานศึกษามีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ (ร้อยละ 72.1)

7. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเผยแพร่ความรู้กิจกรรมนันทนาการทางหอกระจายเสียง (ร้อยละ 97.7) และมีการจัดกิจกรรมนันทนาการสำหรับเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ (ร้อยละ 98.5, 99.5, 99.3 และ 99.0) ตามลำดับ

8. กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดนันทนาการกลุ่มศิลปะพื้นเมือง/วัฒนธรรมท้องถิ่นมาก (ร้อยละ 87.5 และร้อยละ 98.3) และกลุ่มกิจกรรมพิเศษตามเทศกาล (ร้อยละ 100 และร้อยละ 99.7)กลุ่มกิจกรรมทางศาสนา (ร้อยละ 98.5 และ ร้อยละ 100)

เครื่องมือส่วนตัว