โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วน
จาก ChulaPedia
เนื้อหา |
โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วน
นราภรณ์ ขันธบุตร 1 ดร.ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ 2 ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ 3 นิสิตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลการใช้โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชายที่มีภาวะอ้วนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 1 ถึง ปีที่ 3 อายุระหว่าง 13 -15 ปี โดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง และด้วยความสมัครใจ จำนวนทั้งหมด 72 คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 36 คน เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมที่มีความตรงเชิงเนื้อหาโดยมีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.75-1.00 และมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.93 ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริโภคอาหารที่เหมาะสม กิจกรรมเกมสัมพันธ์และโปรแกรมการออกกำลังกายแบบหมุนเวียน ใช้เวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ๆ ละ 3 วันๆ ละ 50 นาที ใช้แบบวัดสุขภาพองค์รวมและทดสอบสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 5 สัปดาห์ที่10 และระยะติดตามผลสัปดาห์ที่ 14 แล้วนำผลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ตามวิธีทางสถิติ โดยหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบผลของการทดลองระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยการทดสอบค่าที และเปรียบเทียบภายในกลุ่มโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวชนิดวัดซ้ำ เมื่อพบความแตกต่างจึงทำการเปรียบเทียบเป็นรายคู่ตามวิธีของบอนเฟอร์โรนี ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการวิจัยพบว่า
ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของสุขภาพองค์รวมทั้ง 4 ด้าน คือ สุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สุขภาพทางสังคมและสุขภาพทางปัญญา ระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองพบว่า หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 5 สุขภาพทางปัญญา และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 10 สุขภาพทางจิต มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพของนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วนระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง พบว่าหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 10 เกือบทุกตัวแปรมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นดัชนีมวลกาย และเปอร์เซ็นต์ไขมัน ระยะติดตามผลสัปดาห์ที่ 14 ของนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วนที่เป็นกลุ่มทดลองมีสมรรถภาพทางกายลดลงมากกว่าสัปดาห์ที่ 10 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ได้แก่ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความอดทนของระบบไหลเวียนเลือด
สรุปได้ว่าโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมสำหรับนักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีภาวะอ้วนมีความตรง ความเที่ยง และมีประสิทธิผลต่อสุขภาพองค์รวมคือสุขภาพกาย ปัญญา และสุขภาพจิต และสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ดังนั้น สามารถนำไปใช้กับเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนได้และไม่ควรหยุดการออกกำลังกายติดต่อกันนานถึง 4 สัปดาห์จะทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดลดลงมาก
คำสำคัญ : รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม, ภาวะอ้วน, นักเรียนชายระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
เอกสารอ้างอิง
1. คณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงาน. 2550. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ 2550-2554). กรุงเทพมหานคร : ยูไนเต็ดโปรดักชั่น.
2. จุมพล พูลภัทรชีวินและคณะ. 2546.โครงการวิจัยและพัฒนานำร่อง: การสร้างเสริมสุขภาพในมิติของจิตวิญญาณ. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
3. ชนิกา ตู้จินดา. 2547. เลี้ยงลูกอย่างไรห่างไกลโรคอ้วน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัทพิมพ์ดี จำกัด.
4. ประเวศ วะสี. 2541.บนเส้นทางใหม่ การส่งเสริมสุขภาพอภิวัฒน์ชีวิตและสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
5. ลัดดา เหมาะสุวรรณ. 2548. สถานการณ์ปัจจุบันแนวโน้มภาวะโภชนาการของเด็กในอนาคตและมาตรการเพื่อป้องกันภาวะโภชนาการเกินของเด็กในโรงเรียน. โรงเรียนกับเด็กอ้วน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา.
6. สาธารณสุข, กระทรวง. กรมอนามัย. 2543. คู่มือแนวทางการใช้เกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูงเพื่อประเมินภาวการณ์เจริญเติบโตของเด็กไทย พ.ศ. 2543. นนทบุรี: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
7. สาธารณสุข, กระทรวง. กรมอนามัย. 2546. คู่มือการควบคุมและป้องกันภาวะโภชนาการเกินในเด็กนักเรียน. นนทบุรี: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
8. สาธารณสุข, กระทรวง. กรมอนามัย. 2550. คู่มือการทดสอบสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพในเด็กอายุ 7-18 ปี. นนทบุรี: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
9. World Health Organization. 2007. Growth reference data for 5-19 years. (0nline). Available:http://www. who.int/childgrowth/en/.(2008, August 29)
10. Cohen, J. 1969.Statistical Power Analysis for the Behavioral Sciences. New York: Academic Press.
11. Rebecca, J.D. and Lorraine, G.D. 1996. Access to Health. 4th ed. A Simon & Schuster Company.
12. Revinelli, R.J. and Hambleton, R.K. 1977.On the use of content specialists in the assessment of criterion referenced test item validity. Dutch Journal of Educational Research.
13. Pender, N.J. Murdaugh, C.L. & Parsons, M.A. 2006. Health Promotion in Nursing Practice. 4th (ed). New Jersey: Pearson Education.
14. AAHPERD. 1985. Norms for College Students : Health – Related Physical Fitness Test. Philadelphia:Lea & Febiger.
15. American College of Sports Medicine. 2006. ACSM’s guidelines for exercise testing and prescription. 7th ed. New York: Lippincott William and Wilkins.